วันนี้ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีกระทรวงไอซีที จัดงานสัมมนา และแสดงนิทรรศการนานาชาติ “ดิจิทัลไทยแลนด์ 2016” ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อ แนวคิดเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และสาระสำคัญของ แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จนถึงวันที่ 28 พฤษภาคม
เนื้อหาส่วนใหญ่จึงหนักไปในทางสัมมนา ใครสนใจหัวข้อไหนก็ไปฟังกันได้
หัวข้อหนึ่งที่เห็นแล้วสะดุดตาก็คือเรื่อง Digital Innovation Park for SMEs มี ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เป็นวิทยากรผมขอแปลง่ายๆว่า “สวนนวัตกรรมดิจิทัลสำหรับเอสเอ็มอี” แปลเสร็จผมก็นึกถึง Science Park หรือ สวนวิทยาศาสตร์ ของ ไต้หวัน ในอดีตขึ้นมาทันที ยุคที่ไต้หวันเพิ่งสร้างชาติ ก็ได้นโยบายสวนวิทยาศาสตร์นี้แหละ ช่วยฟื้นเศรษฐกิจไต้หวันจนติดอันดับโลก ส่งผลให้เกิดแบรนด์สินค้าไฮเทคจากไต้หวันมากมาย รวมทั้งยี่ห้อ เอเซอร์ ที่คนไทยรู้จักดีด้วย
การลงทุนใน Science Park ของ รัฐบาลไต้หวัน สมัยนั้น ต้องถือว่า ใจถึงมาก เพราะเปิดกว้างให้ชาวไต้หวันทั่วโลก ถ้าคุณมีความสามารถและมีโครงการอยู่ในมือ และผ่านการพิจารณา รัฐบาลจะลงทุนให้เกือบหมด เหมือนรัฐบาลเป็นเวนเจอร์แคปเสียเอง แต่ที่สำคัญที่สุด ผู้รับผิดชอบโครงการ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต เพราะ ทุจริตได้ง่ายมาก ถ้านำรูปแบบนี้มาใช้ในเมืองไทยคงไปไม่รอดแน่นอน
แต่แนวคิดเรื่อง Digital Innovation Park for SMEs ผมเห็นด้วยกับ ดร.ทวีศักดิ์ โอกาสเกิดเป็นไปได้สูง สมัยนี้ไปคิดเรื่องใหญ่แข่งกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่โลก มีหวังแท้งตั้งแต่ยังไม่เกิด เรื่องที่สตาร์ตอัพจะไปฆ่ายักษ์อย่างเฟซบุ๊ก ไม่รู้จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่
...
เขียนถึงเรื่อง ดิจิทัลไทยแลนด์ แล้ว ผมก็นึกถึงคำกล่าวของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ใน งานมหกรรมการเงิน Money Expo ครั้งที่ 16 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับเสียงชมจากนายธนาคารและนักธุรกิจมากมายว่า เป็นปาฐกถาที่ดีมาก คำกล่าวที่ผมนึกถึงก็คือเรื่อง “กฎหมาย” ทั้ง กฎหมายเก่า และ กฎหมายใหม่ ที่เกี่ยวโยงกับ เศรษฐกิจดิจิทัล ถ้าไม่มี การแก้ไขกฎหมายเก่า หรือออกกฎหมายใหม่มารองรับ ดิจิทัลประเทศไทย ก็จะกลายเป็นแค่ “ความฝัน” ไปทันที
ดร.สมคิด เล่าว่า เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำนครเซี่ยงไฮ้ ได้เล่าให้ฟังว่า ไม่ว่าคุณจะทำเรื่องอะไร ทำเรื่องดิจิทัล ทำสเปเชียลอีโคโนมิกโซน จะก้าวกระโดดไปในโลกอินโนเวชั่นทั้งหลาย สิ่งหนึ่งที่คุณต้องไม่ลืมก็คือ “กฎหมาย” กฎหมายที่เกิดขึ้นก่อนสิ่งเหล่านี้จะเกิด ระเบียบ ข้อบังคับ วิธีปฏิบัติ โครงสร้างอำนาจทั้งหลาย ในระบบมันมีอยู่แล้ว
ฉะนั้น ถ้าคุณจะคิดสิ่งใหม่ๆขึ้นมา ตรงนี้ต้องไปแก้ ต้องไปปรับปรุง ต้องไปเปลี่ยนแปลง ถ้าคุณจะทำอีเพย์เมนต์ จะทำอีคอมเมิร์ซ จะทำสเปเชียลอีโคโนมิกโซน เขตเศรษฐกิจพิเศษ คุณก็ต้องไปปรับแก้เปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ อย่าง เขตเศรษฐกิจพิเศษ สำหรับ ธุรกิจไฮเทค และ นวัตกรรมแห่งอนาคต ของ เซี่ยงไฮ้ เขาทดลองทำในพื้นที่จำกัด เพื่อให้รู้ว่าต้องแก้ไขกฎหมายอะไร ต้องแก้นโยบายอะไร เขาใช้เวลาถึง 3 ปี แก้นโยบายกว่า 40 เรื่อง ก่อนจะประกาศใช้เป็นกฎหมายทั่วไป
ไม่ใช่พูดวันนี้ปุ๊บ ก็ประกาศจะเป็นฮับของภูมิภาคทันที
ช่วงที่ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกฯ และคิด นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ขึ้นมาฟื้นฟูประเทศ ได้มีการเสนอให้ แก้ไขกฎหมายเก่าและออกกฎหมายใหม่ถึง 13 ฉบับ (ถ้าผมจำไม่ผิด) เพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลสามารถขับเคลื่อนไปได้จริง วันนี้ผมไม่แน่ใจว่ากฎหมายเหล่านี้ไปถึงไหนแล้ว ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับ ก็คงขับเคลื่อนไปได้ยาก ผมก็ขอฝากไว้ตรงนี้ก็แล้วกันครับ จะทำประเทศไทยให้เป็นดิจิทัล ต้องเร่งออกกฎหมายมารองรับให้เร็วที่สุดครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”