"ชาญชัย" เผยปมส่อฮั้ว - ผิด พ.ร.บ.ร่วมทุน ไม่คืนทรัพย์สินรัฐ อสส.เตือน "ทีโอที" 4 ข้อ ปูดเอ็มโอยู บ.เอกชนจ่าย 3.9 พันล้านต่อปี อสส. ชี้ส่อผิด ม.46 พ.ร.บ.คลื่นความถี่ ส่อผิดอีกฐาน เลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุน

เมื่อวันที่ 13 พ.ค.59 นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษากลไกปราบปรามทุจริต ในสังกัดคณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงความไม่ชอบมาพากลและส่อว่าจะฮั้วในการทำสัญญาว่า จากการตรวจสอบเอกสาร สัญญาและหลักฐานระหว่าง บมจ.เอไอเอส และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.ทีโอที ที่ บมจ.เอไอเอส ไม่ยอมส่งมอบสถานีฐาน เสา เครื่องมือ อุปกรณ์พ่วงทั้งระบบทั่วประเทศ รวม 1.6 หมื่นเสาคืนให้แก่ บมจ.ทีโอที เป็นเหตุให้รัฐเสียหายหรือสูญเสียรายได้ที่ควรได้รับ 1.2 แสนล้านบาท และยังใช้หาเงินเข้าบริษัทตัวเองจนถึงทุกวันนี้ เป็นเหตุให้ อุปกรณ์ทั้งหมดยังไม่สามารถคืนให้ บมจ.ทีโอที นำมาใช้ทำประโยชน์โดยให้บริษัทใดที่ได้รับอนุญาตให้มีใบอนุญาตดำเนินการส่งคลื่นสัญญาณโทรศัพท์แก่ประชาชนตามกฎหมายยกเอกสาร

นายชาญชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบว่า บมจ.เอไอเอส กลับไปทำสัญญากับ บมจ.ทีโอที โดยระบุเหตุผลอ้างร่วมเป็นพันธมิตรด้านธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2100 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยยังไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่กลับอ้างว่า อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ตรวจสอบสัญญาการร่วมทุนเป็นพันธมิตรแล้ว ได้เห็นชอบในร่างสัญญาดังกล่าว ซึ่งขัดต่อข้อเท็จจริง เพราะ อสส. ได้มีเอกสารทักท้วงในการทำสัญญากรณีนี้ ลงเลขที่ อส.0005/2541 ลงวันที่ 9 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา ลงนามโดย นายเข็มชัย ชุติวงศ์ รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ได้ชี้แจงต่ออนุกมธ.ฯ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามคำชี้แจงของ รมว.เทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) ที่ระบุว่า อสส. ได้ตรวจสอบสัญญาแล้วว่า ให้ บ.เอไอเอส และ บมจ.ทีโอที ทำธุรกิจร่วมกันตามสัญญาเอ็มโอยูได้ ทั้งที่ อสส. ไม่เห็นด้วยพร้อมตั้งข้อสังเกตซึ่งสรุปสาระสำคัญ คือ 1.อุปกรณ์โทรคมนาคมรวมทั้งเสาสถานี ฐานขยายสัญญาณรวมถึงอุปกรณ์พ่วงทั้ง 1.6 หมื่นแห่ง ล้วนเป็นของสมบัติรัฐที่หน่วยงานรัฐ คือ บมจ.ทีโอทีเอง ไม่ใช่เป็นของ บ.เอไอเอส ตามที่ได้กล่าวอ้าง การเพิกเฉยของ บมจ.ทีโอที เท่ากับว่า บมจ.ทีโอที จะยอมรับว่า สถานีเสาฐานและอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นของบริษัทเอกชน 2. ในร่างบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) บ.เอไอเอส ที่กำหนดข้อตกลงว่า จะจ่ายค่าร่วมทุนพันธมิตรให้แก่ บมจ.ทีโอที ปีละ 3.9 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการกำหนดอัตราตายตัวล่วงหน้าเป็นการผูกมัด บมจ.ทีโอที มากเกินไป เพราะยังไม่มีการเจรจารายละเอียดของสัญญาในการทำธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2100 เมกะเฮิร์ตซ์ บมจ.ทีโอที ควรทบทวนฐานค่าตอบแทนรายปีใหม่

...

นายชาญชัย กล่าวต่อว่า 3.การจะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจฯ ในการใช้คลื่นความถี่ 2100 ที่ บมจ.ทีโอที มีใบอนุญาตใช้งาน รวมถึงคลื่นความถี่ต่างๆ ที่ บมจ.เอไอเอส หรือบริษัทในเครือมีใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 46 ระบุว่า ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้รับใบอนุญาตจะโอนแก่กันไม่ได้และวรรคสอง บัญญัติว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมต้องประกอบกิจการด้วยตัวเอง จะมอบการบริหารจัดการทั้งหมด หรือบางส่วน หรือยินยอมให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีอำนาจประกอบกิจการแทนไม่ได้ กรณีนี้ บมจ.ทีโอที ต้องระวังการฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าว 4.ที่สำคัญการดำเนินการทั้งในระยะที่ 1 และ 2 บมจ.ทีโอที ที่จะนำคลื่นความถี่ เครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมที่เป็นทรัพย์สินของ บมจ.ทีโอที ไปใช้ร่วมกับ บมจ.เอไอเอส และ/หรือบริษัทในเครือครั้งนี้ ถือเป็นการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556

"เพราะถ้าเป็นการลงทุนเกินวงเงิน 1 พันล้านบาท จะต้องมีการประกาศให้มีคณะกรรมการ พ.ร.บ.ร่วมทุนเป็นคนเชิญชวนภาคเอกชนอื่นเข้าร่วมด้วย ไม่ใช่ให้ บมจ.ทีโอที ดำเนินการเองหรือใช้อำนาจอนุมัติให้เองซึ่งส่อว่า จะขัดต่อ พ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อล็อกสเปกให้กับ บมจ.เอไอเอส โดยการทำสัญญาฮั้วกันภายในก่อนที่จะเปิดการประมูลคลื่นครั้งใหม่ นอกจากนี้ การไม่คืนสถานี เสา ฐาน อุปกรณ์พ่วงทั้งหมดให้หน่วยงานของรัฐ โดย บมจ.เอไอเอส อ้างว่า เป็นของตนนั้น เป็นการอ้างสิทธิเพื่อที่จะบริหารหรือนำไปหาประโยชน์ได้แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะเป็นทรัพย์สินของรัฐที่จะใช้ประโยชน์เพื่อหารายได้เข้ารัฐ ไม่ใช่บริษัทเอกชนยึดครอง" นายชาญชัย กล่าว.