อาชีพวิศวกรถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับความนิยมมากในบ้านเรา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเนื้องานของวิศวกรนั้นเป็นงานที่ท้าทาย นอกจากจะต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแล้ว ยังจะต้องรู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี เพราะเป็นงานที่ต้องจัดการทั้งกับเครื่องมือต่างๆ และบริหารจัดการคนให้เป็นด้วย ไม่เพียงเท่านั้น หลายคนยังใฝ่ฝันที่จะเป็นวิศวกรด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติและมีรายได้ดีอีกด้วย เรามาดูอีกหลากหลายเหตุผลที่ว่า ทำไมวิศวะจึงเป็นสาขาที่ได้รับความนิยมในอันดับต้นๆ ของบ้านเรากัน

ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คณะสุดยอดของสายวิทย์มีอยู่ 2 สาย คือ สายแพทย์และสายวิศวะ ใครจะเลือกเรียนอะไรก็ขึ้นอยู่กับความชอบและความถนัดของแต่ละคน เพราะลักษณะงานในสองวิชาชีพนี้ มีความแตกต่างกันมากพอสมควร


 
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าอาชีพวิศวกรถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าไปอย่างมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นภาคพลังงาน สาธารณูปโภคพื้นฐาน คมนาคม ธนาคารพาณิชย์ ตลาดทุน อสังหาริมทรัพย์ โทรคมนาคม ฯลฯ ซึ่งองค์กรต่างๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การบริหารของผู้ที่จบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์แทบทั้งสิ้น

ข้อมูลจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ระบุว่า 80% ของเงินทุนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารโดยศิษย์เก่าวิศวะแทบทั้งสิ้น และบริษัทมากกว่า 50% ในตลาดหลักทรัพย์มีซีอีโอหรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่เรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์มา ขณะที่รัฐวิสาหกิจเกือบทั้งหมด เช่น การบินไทย การท่าอากาศยาน ปตท. กฟผ. ทีโอที ปูนซิเมนต์ไทย ฯลฯ บรรดาผู้บริหารล้วนจบวิศวกรรมศาสตร์มาทั้งนั้น


            
ยิ่งไปกว่านั้น รายได้ต่อเดือนของวิศวกรมีช่วงค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักล้านบาทกันเลยทีเดียว ขณะที่งานของวิศวกรส่วนใหญ่จะเป็นงานบริษัท ซึ่งเลิกงานช่วงเย็น ส่วนเสาร์-อาทิตย์ วันนักขัตฤกษ์ หยุด มีโบนัสตอนสิ้นปี เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ซึ่งต่างจากแพทย์ที่ต้องทำงานเช้าจรดค่ำ ไม่มีวันหยุด และยังมีกรณีฉุกเฉินกลางดึกอยู่บ่อยๆ
           
นอกจากนี้ คณะวิศวะยังมีการแบ่งออกเป็นหลายสาขา เช่น วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมโลหการ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมโลจิสติกส์ วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ทำให้นักศึกษาสามารถเรียนในสิ่งที่ตนเองถนัดได้ใน 4 ปี โดยไม่ต้องรอให้จบ 6 ปี แล้วค่อยไปต่อเฉพาะทางแบบแพทย์ ดังนั้นเทียบกันแล้ว การเรียนวิศวะ สามารถจบออกมาทำงานได้ไวกว่าแพทย์มาก

          
แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคณะวิศวะมีอยู่ในเกือบทุกมหาวิทยาลัย รวมทั้งมหาวิทยาลัยเอกชน ทำให้ในแต่ละปีมีวิศวกรจบออกมาจำนวนมากกว่าแพทย์ การแข่งขันสูงกว่าแพทย์ ดังนั้น ถ้าน้องๆ ต้องการจะเรียนวิศวะ ควรเลือกมหาวิทยาลัยด้วย เนื่องจากชื่อมหาวิทยาลัยจะติดตัวน้องไปตลอดชีวิต ยังไม่นับรุ่นพี่ที่จบออกไปเป็นผู้บริหารตามบริษัทต่างๆ แน่นอนว่าเมื่อจะรับน้องใหม่เข้าทำงาน ย่อมต้องให้โอกาสน้องที่จบจากสถาบันเดียวกันก่อน ดังนั้นการเรียนจบจากสถาบันที่ก่อตั้งมายาวนานจึงได้เปรียบกว่า
             
ทั้งหมดทั้งปวงก็ขึ้นอยู่กับน้องๆ ที่จะให้ความสำคัญกับการตั้งใจเรียนหนังสือมากน้อยแค่ไหน มีการวางแผนอนาคตไว้อย่างไร เพราะการตั้งใจเรียนหนังสือจะให้อนาคตที่ดีกับน้องๆ อย่างแน่นอน ซึ่งจุดเปลี่ยนอยู่ที่ช่วง ม.6 นี่เอง ดังนั้น ช่วงนี้น้องๆ ต้องตั้งใจเรียนให้มากที่สุด เพราะ 6 เดือนต่อจากนี้ไปถ้าน้องขยันจะทำให้อนาคตเปลี่ยนไปทั้งชีวิต อดทน มุ่งมั่น แล้วฝันจะเป็นจริง

ปัจจุบัน ทุกหลักสูตรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผ่านการรับรองมาตรฐานการศึกษา จากทบวงมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) ซึ่งได้ให้การรับรองปริญญา ทำให้บัณฑิตสามารถสอบบรรจุเข้ารับราชการได้

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นหนึ่งในคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกของประเทศ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ระดับแนวหน้าของประเทศ ปัจจุบันนับเป็นปีที่ 46 ของการสถาปนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีอาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษที่ทรงคุณวุฒิ และเป็นวิศวกรมืออาชีพที่มีประสบการณ์จำนวนมาก ในปีหนึ่งๆ คณะวิศวกรรมศาสตร์สามารถผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาต่างๆ ที่มีคุณภาพและเป็นวิศวกรที่มีบทบาทสำคัญในหน่วยงานราชการและเอกชนจำนวนมาก