เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 10 พ.ค. นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ เผยว่า น้ำดิบสำรองที่ใช้บริหารจัดการช่วงหน้าแล้งในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำดิบคงเหลือทั้งสิ้น 23.71 ล้านลูกบาศก์เมตร และปริมาณน้ำที่ใช้การได้เพียง 17.44 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถใช้ได้ถึงวันที่ 1 มิ.ย.2559 หรือเหลืออีกเพียง 21 วันเท่านั้น น้ำต้นทุนก็จะหมดเหลือเพียงก้นเขื่อน 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เอาไว้ใช้สำรอง ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด เหลือน้ำในเขื่อน 23.71 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำที่ใช้การได้เพียง 9.71 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น จึงขอให้ประชาชนชาว จ.เชียงใหม่ ช่วยกันประหยัดน้ำให้มากที่สุด ส่วนการช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยแล้งใน อ.จอมทอง ทางชลประทานเชียงใหม่ได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่งัดไปถึง อ.จอมทองแล้ว โดยประชุมร่วมกับฝ่ายปกครอง ใน อ.ดอยหล่อ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และ อ.ป่าซาง อ.เวียงหนองหล่อง จ.ลำพูน ร่วมกันบริหารจัดการแบ่งปันน้ำซึ่งกันและกันและไม่ต้องมาทะเลาะแย่งน้ำกันอีก ขณะเดียวกันทางศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ได้สั่งเครื่องสูบน้ำระยะไกลมาสูบน้ำจากลำน้ำปิงในเขต อ.จอมทอง ไปช่วยเหลือชาวสวนลำไยที่กำลังประสบภัยแล้งยืนต้นตายได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
ด้านนายมงคล สุกใส รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ทางจังหวัดได้วางแผนในการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา คาดว่าอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ น่าจะมีฝนตกลงมาช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งของจังหวัดเชียงใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเริ่มรุนแรงขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทานได้รับผลกระทบอย่างหนักกว่าในเขตที่ชลประทานไปถึง โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนลำไย ที่เคยมีรายได้จากการขายลำไยต้องหมดเนื้อหมดตัวเนื่องจากลำไยไม่มีน้ำทยอยยืนต้นตายไปเป็นจำนวนมาก
...
นางบุญมี ชนะแสน อายุ 71 ปี เจ้าของสวนลำไย บ้านห้วยบง ต.สันติสุข อ.ดอยหล่อ เล่าว่า ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเจอภัยแล้งหนักหนาสาหัสแบบนี้ บ่อบาดาลในสวนลำไยแห้งไม่สามารถสูบน้ำมาใส่สวนลำไยได้ ต้องปล่อยให้ต้นลำไยยืนต้นตายไปทั้งสวน รวมทั้งสวนของชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆเดียวกันลำไยก็ทยอยยืนต้นตายเช่นกัน ส่วนน้ำในการอุปโภคบริโภคต้องรอรถน้ำจาก อบต.มาแจกให้ ตอนนี้ชาวสวนลำไยรอเพียงฝนที่จะตกลงมาช่วยเท่านั้น และยังไม่ทราบชะตากรรมในวันข้างหน้าว่าต้นลำไยที่ใบแห้งตายจะพลิกฟื้นคืนชีพกลับมาได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ได้เร่งสำรวจต้นลำไยของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยเฉพาะชาวสวนที่อยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทานพบว่ามีชาวสวนลำไยที่ได้รับผลกระทบหนักคือ อ.ดอยหล่อ อ.จอมทอง และ อ.ดอยเต่า อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย
ที่ จ.แพร่ นายบุญยภาช สิทธิ์วงค์ อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 287 หมู่ที่ 4 บ้านวังลึก ต.นาพูน อ.วังชิ้น เจ้าของสวนส้มเขียวหวาน กว่า 20 ไร่ ระบุว่า ปีนี้เจอภัยธรรมชาติอย่างที่ไม่คาดคิด สวนส้มใน อ.วังชิ้น และ อ.ลอง ต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำยม เป็นหลัก แต่สองเดือนมานี้แม่น้ำยมแห้งขอดไม่มีน้ำไหล ชาวสวนส้มเขียวหวานได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักยืนต้นแห้งตาย ส่วนที่เหลือก็หล่นใช้การไม่ได้ ไม่คุ้มกับการลงทุน.