หนึ่งในหกเกาะที่พบว่าถูกน้ำทะเลกัดเซาะ ของหมู่เกาะโซโลมอน (ภาพ: REUTERS)
ทีมวิจัยออสเตรเลียออกมายืนยัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ต่อชายทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นครั้งแรก โดยระบุว่า ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นได้ท่วมเกาะเล็กๆ 5 แห่ง จนหายไปแล้ว...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทีมนักวิจัยชาวออสเตรเลียเปิดเผยในวันอังคารว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกาะเล็กๆ 5 แห่งของหมู่เกาะโซโลมอน ในมหาสมุทรแปซิฟิก หายไปจากแผนที่โลกแล้ว ขณะที่มีอีก 6 เกาะถูกน้ำทะเลกัดเซาะพื้นที่ ทำให้หมู่บ้านหลายแห่งถูกทำลาย
ทีมนักวิจัยชาวออสเตรเลียเปิดเผยผลการศึกษาของพวกเขาลงในวารสารวิทยาศาสตร์ 'Environmental Research Letters' โดยเป็นการตรวจสอบเกาะ 33 แห่งโดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายจากดาวเทียม ตั้งแต่ ค.ศ. 1947-2014 รวมกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์และความรู้ท้องถิ่น โดยพวกเขาพบว่า หมู่เกาะโซโลมอนมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นราว 10 ซม.ทุกปี ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
เกาะที่หายไปทั้ง 5 เกาะเป็นเกาะปะการังที่ไม่มีคนอยู่ ขนาดพื้นที่ไม่เกิน 12 เอเคอร์ (ราว 30 ไร่) ถูกใช้โดยชาวประมงท้องถิ่นเป็นครั้งคราว ขณะที่ เกาะที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะมากที่สุดจาก 6 เกาะที่พวกเขาพบคือ เกาะนูอาตัมบู ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวเกาะ 25 ครอบครัว แต่เกาะสูญเสียพื้นที่ในส่วนที่ไม่มีคนอยู่ไปแล้วครึ่งหนึ่ง และบ้านเรือนถูกทำลายไปแล้ว 11 หลังตั้งแต่ปี 2011
...
ทีมนักวิจัยระบุว่า นี่เป็นการยืนยันทางวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรก ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงต่อชายทะเลและผู้คนในมหาสมุทรแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม รายงานวิจัยเน้นย้ำว่า การที่น้ำทะเลเอ่อล้นเข้าท่วมเกาะไม่ได้เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเป็นอย่างเดียว พวกเขาพบว่าการถดถอยขอบชายฝั่งเกิดขึ้นมากเป็นพิเศษในพื้นที่ที่เผชิญกับคลื่นแรง ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมในการกัดเซาะชายฝั่ง
ทั้งนี้ ผลการวิจัยเผยด้วยว่า ผู้คนที่ได้รับผลกระทบบางส่วนได้ปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงแล้ว โดยชาวบ้านหลายครอบครัวบนเกาะนูอาตัมบู ได้ย้ายไปอาศัยอยู่บนเกาะภูเขาไฟข้างเคียงที่มีความสูงมากกว่าแล้ว ส่วนคนอื่นๆ ถูกบีบให้ต้องย้ายไปอยู่ที่เกาะนาราโร