เคยสงสัยหรือไม่ว่า ‘ไบค์เลน’ หรือ ช่องทางจักรยาน พื้นสีเขียวที่ผุดขึ้นมาทั่วกรุง ซึ่ง กทม. อ้างว่าสร้างขึ้นเพื่อต้องการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มนักปั่นจักรยานทั้งหลาย... แต่ทำไมเราถึงแทบไม่ค่อยเห็นกลุ่มนักปั่นออกมาใช้พื้นที่ไบค์เลนกันเลย...?
เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสกลุ่มนักปั่นจักรยานออกมาโพสต์ภาพโวยว่า ไบค์เลน ที่ กทม. อุตสาห์กั้นอย่างดี แต่สุดท้ายถูกแผงลอยมายึดไปหมด ซ้ำยังมีรถมาจอดทับทางสีเขียวยาวเหยียดเป็นกิโลฯ แถมมีกรวยจราจรวางกั้นปิดช่องทางจักรยาน จนบรรดาสิงห์นักปั่นต้องจี้ถาม นี่หรือคือเมืองจักรยาน? ...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ไม่รอช้า ลงพื้นที่สำรวจ และตรวจสอบเส้นทางไบค์เลนรอบมหานคร โดยเฉพาะทำเลยอดฮิต ตลาดนัดจตุจักร และบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ พบว่า เกิดขึ้นจริง!!!! คำถามคือ เหตุใดถึงปล่อยให้เกิดปัญหายึดครองพื้นที่มานาน โดยที่ยังไม่มีการแก้ปัญหาเสียที...?
...
พ่อค้าแม่ขายวอนเห็นใจ ยอมโดนจับปรับไร้ใบเสร็จ ขอเพียงมีพื้นที่ทำมาหากิน
บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์โดยรอบ มีเส้นทางไบค์เลน พร้อมไม้กั้นเรียงรายตามแนวช่องทางซ้ายสุดของพื้นผิวจราจร ภายในช่องทางโดยส่วนใหญ่ถูกยึดพื้นที่โดยรถเข็น และสามล้อพ่วงขายของกิน ที่พ่อค้าแม่ค้าเข้ามาอาศัยเป็นช่องทางทำมาหากินชั่วคราว มิหนำซ้ำยังกลายเป็นจุดพักรถของบรรดารถตุ๊กตุ๊ก รถแท็กซี่ หรือแม้แต่รถส่วนบุคคลทั่วไป... คำถามคือ จะให้กลุ่มนักปั่นขี่ตรงไหน? หากต้องหลบออกนอกไบค์เลนก็ดูจะเสี่ยงอันตรายเกินไป หรือนี่จะเป็นคำตอบว่า ทำไมกลุ่มนักปั่นถึงไม่ใช้ไบค์เลน จนต้องยอมไปปั่นในพื้นที่อื่นๆ หรือเปล่า...?
ผู้สื่อข่าวเริ่มต้นพูดคุยกับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ที่เข้ามาจับจองพื้นที่เป็นแหล่งทำมาหากินเป็นประจำทุกวันว่า พวกเขารู้หรือไม่ว่า กำลังทำมาหากินบนช่องทางจักรยาน? โดยส่วนใหญ่ก็ตอบในลักษณะเดียวกันว่า “ทราบดีว่าเป็นพื้นที่ไม่ให้ขาย แต่เหตุผลที่เข้ามาอาศัยช่องทางไบค์เลน ก็เนื่องจากเห็นว่าในแต่ละวันแทบไม่มีจักรยานสัญจรผ่าน หรืออาจจะมีในช่วงเย็นไปแล้ว ซึ่งช่วงนั้นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าก็ตระเวนออกจากพื้นที่กันหมดแล้ว แต่หากมีกลุ่มจักรยานผ่านมาในระหว่างที่ขายอยู่ ส่วนใหญ่ก็จะหลบให้อยู่แล้ว ที่ผ่านมาหากหนีไม่ทัน ก็โดนเทศกิจจับปรับ 300-400 บาท หรือถึงขั้น 3000 บาทก็มีมาแล้ว แม้จะรู้ว่าเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเองโดยไม่มีใบเสร็จให้ แต่พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ก็ยอม เพื่อให้มีพื้นที่ทำกินต่อ” กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าย่านบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟัง
แผงลอยอยู่ได้ เพราะเทศกิจรู้เห็นเป็นใจ จริงหรือ?
หรือว่าเป็นเพราะที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เทศกิจ รู้เห็นเป็นใจกับบรรดาพ่อค้าแม่ขายเหล่านี้ จึงทำให้พวกเขายังคงทำมาหากินอยู่ได้ และไม่มีการเข้มงวดกับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ จริงจังเสียที...?
ผอ.เทศกิจ ขู่ฟันวินัยลูกน้องนอกแถว ปล่อยขายของช่องไบค์เลน
ในประเด็นนี้ ทีมข่าวฯ ติดต่อไปยัง พ.ต.อ.พิชัย เกรียงวัฒนศิริ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาพบปัญหาพ่อค้าแม่ค้าลุกล้ำเข้าไปยึดพื้นที่ขายของในช่องทางรถจักรยานมากขึ้น ซึ่งพัฒนาจากที่เคยขายแผงลอยมาเป็นรถเข็นเนื่องจากหนีง่าย ซึ่งในส่วนนี้ทาง สำนักงานเทศกิจ ได้มีการสั่งการไปยังฝ่ายเทศกิจของทุกสำนักงานเขตพื้นที่แล้ว ให้เข้มงวดกวดขัน และตรวจสอบดำเนินการจับปรับสำหรับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ฝ่าฝืนเข้ามาขายในพื้นที่ห้ามขาย โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 400-2000 บาท
ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า เจ้าหน้าที่เทศกิจบางคนอาจรู้เห็นเป็นใจกับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า? ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ เผยว่าตนไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่ถ้าหากมีเจ้าหน้าที่ทำเช่นนั้นจริง สามารถแจ้งเข้ามาได้ทันที ตนจะเรียกตัวมาตรวจสอบ และดำเนินการทางวินัยทันที อย่างไรก็ตาม ตนยืนยันว่าได้มีการกำชับเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่เทศกิจทุกคนแล้ว
ยอมรับ เพิ่งล้อมคอก เหตุเทศกิจหย่อนยาน
ที่ผ่านมา ทำไมถึงปล่อยให้ ไบค์เลน ถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์มานานจนเพิ่งมาแก้ไข? ในส่วนนี้ นายสุธน อาณากุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ยอมรับว่า ด้วยที่ผ่านๆ มา ยุคสมัยและบทบาทอำนาจไม่มีการกวดขันจริงจังเท่าที่ควร ประกอบกับการได้ยินมาบ้างว่า ที่พ่อค้าแม่ค้าอยู่ได้เพราะเจ้าหน้าที่เทศกิจไม่เข้มงวด กระทั่งมาถึงรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เห็นถึงปัญหา และลุกขึ้นมาจัดระเบียบสังคมอย่างจริงจัง
...
นักปั่น แจง ช่องไบค์เลน สิ่งกีดขวางเพียบ จะให้ไปใช้ได้ไง?
นายมงคล วิจะระณะ นายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพ กล่าวถึงเหตุผลที่กลุ่มนักปั่นส่วนใหญ่ไม่ออกมาปั่นในพื้นที่ไบค์เลนที่ กทม. จัดสรรขึ้น ว่า ส่วนตัวขอไม่ออกความเห็นเรื่องการยึดเป็นพื้นที่ขายของ หรือว่าจอดรถ เพราะขอให้เป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามกฎหมาย แต่ถามว่าทำไมกลุ่มนักปั่นถึงไม่ปั่นในพื้นที่ไบค์เลนนั้น? ก็เพราะด้วยลักษณะของพื้นทางไบค์เลนที่ไม่น่าปั่น เช่น พื้นผิวไม่เรียบ มีฝาท่อ มีลูกแก้วบนขอบทาง และไม้กั้นทาง รวมถึงปัญหาของสิ่งกีดขวางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผงลอยขายของ รถเข็น รถจอด กรวยเจ้าหน้าที่ เป็นต้น
แนะ กทม. คิดจะทำ ไบค์เลน ควรศึกษาให้ดีก่อนลงมือทำ
นายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพ วิเคราะห์ให้ฟังอีกว่า ด้วยพื้นที่เมืองกรุงที่มีจำกัด และปัญหาการจราจรที่ติดขัดแล้ว การที่ กทม. แบ่งกั้นเป็นเลนจักรยานเข้าไปอีก ยิ่งทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อนกับเส้นทางจราจรที่แคบลง เพราะฉะนั้น กทม. ควรมีการสำรวจกลุ่มผู้ใช้จักรยานให้ดีเสียก่อนว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันที่มากพอ จนเหมาะที่จะสร้างไบค์เลน หรือเป็นเมืองจักรยานได้หรือไม่ มิฉะนั้นก็จะเกิดการสูญเสียการใช้พื้นที่โดยเปล่าประโยชน์อย่างที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ที่เรียกว่า แทบไม่มีนักปั่นเข้าไปใช้ก็ว่าได้ เพราะกลุ่มที่ปั่นจักรยาน และใช้พื้นที่ไบค์เลนจริงๆ แล้ว ไม่ได้มีจำนวนมากนัก กลับเป็นส่วนน้อยด้วยซ้ำ ซึ่งก็จะเป็นกลุ่มนักปั่นที่ใช้จักรยานเป็นยานพาหนะไปทำงาน หรือกลุ่มชาวบ้านในละแวกนั้น เพราะฉะนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่จำเป็นต้องกั้นเลนเพื่อนักปั่นจักรยาน แต่เปลี่ยนเป็นแชร์เลน หรือเส้นทางจราจรร่วมกัน เป็นสิ่งที่สมควรที่สุดแล้ว
“สำหรับไม้กั้นเรียงรายตลอดแนวไบค์เลนอย่างที่ กทม. ทำนั้น ผมมองว่าแทบไม่จำเป็นด้วยซ้ำ เพียงแค่ทำพื้นถนนให้เรียบ ตีเส้น และมีสัญลักษณ์บ่งบอกว่าช่องทางนี้จะมีรถจักรยานร่วมสัญจรด้วยเท่านั้นก็พอ เพื่อให้สามารถอะลุ่มอล่วย และแบ่งปันการใช้ถนนร่วมกันกับยานพาหนะประเภทอื่นๆ ซึ่งเกิดประโยชน์มากกว่าเพียงกั้นไว้สำหรับรถจักรยานอย่างเดียว หรือถ้าหาก กทม. ต้องการทำไบค์เลน โดยแยกไม่ให้รถอื่นๆ เข้ามาร่วมทางเลย ก็ต้องออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ให้ชัดเจน” นายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพ แสดงทรรศนะ
...
แชร์เลน เหมาะกับ กทม. มากกว่า ไบค์เลน
ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า หากต้องการใช้เป็น แชร์เลน ก็ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้ง่ายหรือเปล่า? นายมงคล กล่าวว่า สำหรับประเด็นความเสี่ยงอันตรายบนท้องถนนนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่ว่าจะอยู่เลนไหน เส้นทางไหน ก็อันตรายไม่แพ้กัน เพราะฉะนั้นหากนักปั่นที่มีความจำเป็นต้องปั่นจักรยานจริงๆ ไม่ว่าจะมีไบค์เลนหรือไม่ เขาก็ปั่นอยู่ดี แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ใช้รถร่วมบนถนนแชร์เลนจะต้องระมัดระวัง และตระหนักด้วยว่า มีรถจักรยานร่วมใช้ช่องทางจราจรด้วย อย่างไรก็ตาม แชร์เลนสามารถทำได้เพียงบางพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้ความเร็วสูงได้
...
เมืองไทยยังไม่ใช่เมืองจักรยาน ฉะนั้น ต่อให้ทำ ‘ไบค์เลน’ ก็ไร้ประโยน์
ด้าน สิงห์นักปั่นอีกราย นายกฤษณ์ ทองคง เผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนมีโอกาสใช้เส้นทางไบค์เลนในพื้นที่ กทม. ชั้นในอยู่บ้าง สิ่งที่พบเจอก็ไม่ต่างกับคนอื่นๆ ก็คือปัญหาการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งพบเห็นจนชินชามานานแล้ว แต่ทั้งนี้ก็เข้าใจทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรถแท็กซี่ หรือกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่เข้ามาอาศัยพื้นที่ไบค์เลน เพราะเขาคงมองว่านานๆ ครั้งจะมีจักรยานผ่านมาสักคัน...
“ถามว่า เหตุใดกลุ่มนักปั่นจักรยานถึงไม่ออกมาใช้พื้นที่เป็นประจำ? ก็เพราะว่าวัฒนธรรมการใช้จักรยานไม่ได้อยู่ในนิสัยของคนไทยในยุคปัจจุบัน เช่นเดียวกับสังคมไทยไม่ได้เป็นสังคมอ่านหนังสือ ฉะนั้นต่อให้มีการสร้างห้องสมุดใหญ่โต ก็ต้องกลายเป็นเพียงที่รกร้างอยู่ดีเพราะไม่ได้ถูกใช้ เช่นเดียวกัน ก่อนจะสร้างไบค์เลนในเมืองได้ แน่นอนว่าคนไทยก็ต้องมีวัฒนธรรมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน จนเรียกว่า เมืองจักรยาน เสียก่อน จึงจะมาพูดคุยเรื่องการออกแบบเลนจักรยาน ไม่ใช่สร้างเลนจักรยานขึ้นมาก่อนแต่ยังไม่ได้มีการสำรวจกลุ่มผู้ใช้จริง เพราะไม่เกิดประโยชน์... แต่ สำหรับผม ไม่ว่าจะมี ไบค์เลน หรือไม่ ผมก็ใช้จักรยานเป็นยานพาหนะอยู่ดี” นายกฤษณ์ นักปั่นจักรยาน กล่าว.
กทม. รับ ‘ไบค์เลน’ 31 เส้นทาง แทบไม่ได้ใช้งานจริง!
ขณะที่ นายสุธน อาณากุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เผยถึงโครงการไบค์เลนของกรุงเทพมหานคร ว่า สำหรับแผนส่งเสริมการใช้ทางจักรยานในกรุงเทพมหานคร มีทั้งหมด 31 เส้นทาง ใน 48 ถนน ระยะทาง 232 กม. ยอมรับว่าส่วนใหญ่แทบไม่ได้มีการใช้งานจริง โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่บนผิวจราจร หรือทางเท้าในเมือง เนื่องจากมีปัญหาหลายอย่าง เช่น รถยนต์จอดทับทางจักรยาน หรือสิ่งกีดขวางบนทางเท้า ซึ่ง กทม. พยายามหาทางแก้ไขเพื่อพัฒนาปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้จริง และยังมีเป้าหมายเพิ่มทางจักรยานอีก 39 เส้นทาง ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนเข้ามาจอดรถในช่องทางจักรยาน หรือ ไบค์เลน จะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท
ปัจจุบันช่องทางจักรยานในเมืองกรุง มี 3 รูปแบบ คือ 1. เส้นทางที่รถวิ่งด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. ก็จะทำช่องทางจักรยานแยก 2. ถ้าเป็นช่องทางที่วิ่งต่ำกว่า 80 กม./ชม. ก็จะทำแบบมีไหล่ทางกั้นเป็นช่องทาง เรียกว่า ไบค์เลน ซึ่งพื้นที่ไบค์เลนที่มีการใช้งานจริงมากที่สุดคือ บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ระยะทาง 8 กิโลเมตร และ 3. หากพื้นที่ถนนจราจรมีช่องทางแคบ ไม่สามารถแบ่งผิวจราจรเพื่อทำช่องทางจักรยานได้ ก็จะใช้เป็นการแชร์เลน
ยอมรับ สร้าง ไบค์เลน บนฟุตปาทไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมไม่สร้างเลนจักรยานบนทางเท้า หรือฟุตปาท จะได้ลดปัญหาเรื่องของอุบัติเหตุด้วย? ได้รับคำตอบจาก ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ว่า หากช่องทางเท้ากว้างมากพอ แน่นอนว่าเหมาะสมที่จะสร้างเป็นช่องทางสำหรับรถจักรยานได้ แต่ทั้งนี้ ต้องยอมรับด้วยว่าปัจจุบันด้วยปัญหาการจราจรคับคั่งในเมืองหลวงแล้ว ทำให้มีการขยายเลนถนนให้กว้างขึ้น และบีบทางเท้าของประชาชนให้เหลือเพียงพื้นที่อันน้อยนิด ซึ่งทางเท้าที่เราเห็นกันทุกวันนี้ แทบจะไม่มีพื้นที่อยู่แล้ว
สมาคมสถาปนิกผังเมือง อัด กทม. ออกแบบ ไบค์เลน ผิดพลาด
สำหรับเส้นทางจักรยานที่ดีและเหมาะสม ควรจะเป็นอย่างไรนั้น? ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นายภราเดช พยัฆวิเชียร ที่ปรึกษาสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย วิเคราะห์ให้ฟังว่า สำหรับ ไบค์เลน โดยเฉพาะเส้นทางช่วงบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ถือเป็นการออกแบบเส้นทางจักรยานที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง เนื่องจากเส้นทางจราจรที่แคบอยู่แล้ว เมื่อมีการแบ่งเป็นเลนจักรยานออกไป 1 เมตร ทำให้ช่องทางจราจรแคบลงกลายเป็นวันเวย์ หรือใช้ได้แค่ช่องทางเดียว เพราะฉะนั้นแน่นอนว่า ส่งผลต่อการสัญจรของคนในพื้นที่ แทนที่จะเดินทางใกล้ๆ แต่ต้องอ้อม ดังนั้นแสดงให้เห็นว่า กทม. มองกลุ่มผู้ใช้ไม่ถูกต้อง
นายภราเดช เสนอแนะว่า การออกแบบเส้นทางจักรยานที่ดีและเหมาะสมนั้น 1. จะต้องกำหนด หรือแยกแยะกลุ่มผู้ใช้ให้ถูกต้อง 2. คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ใช้สูงสุด 3. คำนึงถึงประโยชน์ในการใช้พื้นที่ของกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อให้พวกเขาได้ใช้ประโยชน์ และทำหน้าที่ดูแลรักษาได้ และ 4. การออกแบบช่องทางจักรยานควรขึ้นอยู่กับขอบทางที่เหมาะสมด้วย ซึ่งบางพื้นที่อาจไม่ต้องทำเป็น ไบค์เลน แต่ใช้เป็น แชร์เลน แทน ส่วนถามว่าเลนจักรยานที่ได้ผลควรอยู่บนฟุตปาทหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับเขตทาง แต่ปัจจุบันพื้นที่ทางเท้า กทม. แทบจะเดินไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นจะหวังให้พอสำหรับเลนจักรยานด้วยก็คงยาก