1 ใน 100 ของประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี จะป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน...!!
425 ต่อ 100,000 คือ อุบัติการณ์การเกิดโรคพาร์กินสันในประเทศไทย...!!
จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า พาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมองและระบบประสาทที่พบได้บ่อยเป็นอันดับที่ 2 รองจากอัลไซเมอร์....
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่แค่อุบัติการณ์การเกิดโรคที่มีอัตราสูงเท่านั้น แต่ปัจจุบันแนวโน้มของการพบผู้ป่วยพาร์กินสันในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุที่มีมากถึง 14.9% ของประชากรทั้งประเทศ
และที่น่าตกใจยิ่งกว่า ล่าสุด ก็คือ 8% ของผู้ป่วยพาร์กินสันตรวจพบว่ามีอาการของโรคก่อนอายุ 40 ปี...
นั่นหมายความว่า “พาร์กินสัน” ได้เปลี่ยนจากการเป็นโรคในผู้สูงอายุ มาสู่กลุ่มคนในวัยกลางคนและวัยทำงานเพิ่มมากขึ้น
คุณหมอรุ่งโรจน์ บอกว่า พาร์กินสันเป็นโรคความเสื่อมอย่างช้าๆของสมอง เดิมจะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เกิดจากความผิดปกติของความเสื่อมในระบบประสาทส่วนกลาง อาการที่เด่นชัดที่สุดของผู้ป่วยโรคนี้ คือ การเคลื่อนไหว ในช่วงแรก ผู้ป่วยจะมีปัญหาเคลื่อนไหวช้าและเดินติด มีอาการสั่น แข็งเกร็ง และที่คนทั่วไปอาจคิดไม่ถึงก็คือ อาการนอนละเมอ ดมกลิ่นได้น้อยลง ท้องผูกเรื้อรัง และซึมเศร้า โดยภาวะซึมเศร้าเป็นอาการจิตเวชที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยโรคนี้
...
“ผู้ป่วยโรคนี้กว่าครึ่งประสบปัญหาภาวะการเดินติดขัด เวลาเริ่มเดินจะเหมือนกับก้าวเท้าไม่ออก ซึ่งไม่ได้เกิดจากภาวะอ่อนแรงของร่างกายแต่เป็นการสั่งงานของสมอง ปัญหาการเดินติดจะทำให้ผู้ป่วยล้มได้ง่าย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ในบางครั้งการปรับยาพาร์กินสันอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา” คุณหมอรุ่งโรจน์บอก
“ไม้เท้าเลเซอร์ช่วยเดิน” หนึ่งในนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน...ที่คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันคิดค้นขึ้น
หลักการทำงานของ ไม้เท้าเลเซอร์ช่วยเดิน จะใช้แสงเป็นตัวกระตุ้น โดยมีสวิตช์อยู่ตรงปลายไม้เท้าด้านที่สัมผัสพื้น เมื่อเปิดสวิตช์ก็สามารถที่จะใช้งานได้ทันที เพียงแค่ผู้ป่วยกดปลายไม้เท้าลงที่พื้นก็จะปรากฏแสงเลเซอร์ขวางหน้า โดยแสงที่เกิดขึ้นจะไปกระตุ้นให้ผู้ป่วยเดินได้ดีขึ้น
หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ บอกด้วยว่า ด้านปลายไม้จะมีเซ็นเซอร์เป็นตัวผลิตแสงเลเซอร์ เมื่อผู้ป่วยมีปัญหาการเดินติด ก็จะกดน้ำหนักลงบนไม้เท้า ทำให้เซ็นเซอร์ผลิตแสงเลเซอร์ออกมาเป็นแนวขวางทางด้านหน้าของผู้ป่วย เพื่อกระตุ้นสายตาทำให้ผู้ป่วยเดินก้าวข้ามไปได้ ซึ่งการเดินติดเป็นปัญหาสำคัญมาก ผู้ป่วยคาดคะเนไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด บางครั้งผู้ป่วยอาจจะเดินติดในระหว่างข้ามถนน ไม้เท้านี้จึงช่วยให้ผู้ป่วยเดินคล่องตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์อีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า “CU walker หรือ กล่องกระตุ้นการเดินอัจฉริยะ” มีลักษณะเป็นกล่องขนาดเล็กติดไว้บริเวณเข็มขัด มีคุณสมบัติ 3 อย่าง คือ แสง เสียง และ สั่น โดยส่วนของแสงใช้กระตุ้นทางสายตาเมื่อกดสวิตช์จะเห็นแสงเลเซอร์ในแนวนอนฉายไปยังพื้น สั่นเพื่อกระตุ้นด้วยการสัมผัส และส่ง เสียงสัญญาณเป็นจังหวะตามความถี่ที่ตั้งค่าไว้เพื่อความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน
นอกจากนี้ อุปกรณ์อัจฉริยะที่ว่านี้ยังสามารถส่งสัญญาณเสียงเมื่อกดปุ่ม หรือส่งข้อความผ่านบลูทูธให้กับผู้ดูแลผู้ป่วยในการติดตามตัว หรือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ผู้ป่วยหกล้ม ผ่านทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต สามารถใช้งานได้ดีกับผู้ป่วยที่ยังสามารถเดินหรือยืนได้ ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ มีประสิทธิภาพ สามารถที่จะดูแลตนเองในการเคลื่อนไหวให้ได้อย่างใจคิดและเคลื่อนไหวอย่างปลอดภัยแม้ในขณะที่ไม่ได้ทานยา
...
คุณหมอรุ่งโรจน์ บอกว่า งานวิจัยไม้เท้าเลเซอร์สามารถช่วยผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีปัญหาการเดินติดขัดได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยพบว่า ผู้ป่วยมีจำนวนครั้งที่เดินติดขัดลดลง สามารถเพิ่มระยะก้าวและเพิ่มความเร็วในการเดิน อีกทั้งยังพบด้วยว่าผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรงของโรคมาก เดินได้ดีกว่ากลุ่มที่มีระดับความรุนแรงของโรคน้อย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยพาร์กินสันที่ได้เข้าร่วมโครงการและใช้ไม้เท้าเลเซอร์ในชีวิตประจำวันแล้วกว่า 200 คน
สำหรับโรคพาร์กินสัน นอกจากจะมีอาการเรื่องของการเดินติดขัดแล้ว ยังพบว่า ผู้ป่วยมักมีอาการสั่นที่มือหรือที่ขา แขน กราม และช่วงบริเวณ ใบหน้า อาการเกร็งที่ขาและแขน เสียการทรงตัว มีปัญหาในเรื่องของการพูด เคี้ยวกลืนอาหารยากกว่าคนปกติ เนื่องจากการทำงานของกล้ามเนื้อเส้นประสาทไม่ประสานกัน อารมณ์แปรปรวน มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ชอบฝันร้าย ฯลฯ
สาเหตุของโรคนี้นอกจากการได้รับสารเคมีที่เป็นการทำลายเส้นประสาทแล้ว มีงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า การขาดกรดโฟลิกเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสันได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากพันธุกรรม โดยพบว่าผู้ที่มีญาติสายตรงคนหนึ่งเป็นพาร์กินสัน จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า การเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย การกินยาจิตเวช ฯลฯ.