(ภาพ: AFP)
เมื่อวันอังคารที่ 26 เม.ย. เป็นวันครบรอบ 30 ปี การระเบิดของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เชอร์โนบิล ทางเหนือของประเทศยูเครน เมื่อปี 1986 ซึ่งทำให้กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง และเปลี่ยนมุมมองของโลกที่มีต่อพลังงานนิวเคลียร์ไปตลอดกาล
ตอนนี้ผ่านมาแล้ว 30 ปี จากหายนะในครั้งนั้น ความรู้สึกหวาดกลัวได้เลือนหายไปตามกาลเวลา แต่ภัยมืดจากผลกระทบของกัมมันตภาพรังสี ยังทำร้ายชีวิตผู้คนที่อาศัยใกล้เมืองเชอร์โนบิล เด็กจำนวนมากเกิดมาพร้อมกับโรคแต่กำเนิด หรือโรคมะเร็งหายาก ขณะที่การปฏิบัติจากภาครัฐทำให้ผู้ได้รับผลกระทบเริ่มรู้สึกว่า พวกเขาถูกทางการทอดทิ้งแล้ว
จุดเริ่มต้นมหันตภัยนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดในโลก
ภัยพิบัติเชอร์โนบิล เริ่มขึ้นจากการที่วิศวกรทดสอบการทำงานของระบบหล่อเย็น และระบบทำความเย็นฉุกเฉินของแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ แต่การทดสอบล่าช้าจนถึงช่วงกลางคืน ก่อนเกิดแรงดันไอน้ำสูงขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ระบบตัดการทำงานอัตโนมัติไม่ทำงาน ส่งผลให้เกิดความร้อนสูงขึ้นจนทำให้แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 หลอมละลาย และเกิดระเบิดขึ้นในช่วงเช้ามืดวันที่ 26 เม.ย. 1986
...
ผลจากการระเบิด ทำให้เกิดขี้เถ้าปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีพวยพุ่งขึ้นสู่บรรยากาศยาวนานถึง 10 วัน ขี้เถ้าปกคลุมทางตะวันตกของสหภาพโซเวียต, ยุโรปตะวันออก, ยุโรปตะวันตก และยุโรปเหนือ พื้นที่กว่า 200,000 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ 71% ของประเทศเบลารุส, รัสเซีย และยูเครน ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ทำให้ทางการของทั้ง 3 ประเทศต้องอพยพประชาชนรวมกว่า 336,000 คนไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ขณะที่พื้นที่รัศมี 30 กม. รอบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ถูกประกาศให้เป็นเขตอันตราย (exclusion zone)
เหตุระเบิดครั้งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีหลังเกิดระเบิด จำนวน 31 คน โดยเป็นคนงานภายในโรงงานเชอร์โนบิล ขณะที่ รายงานในการประชุม 'เชอร์โนบิล ฟอรัม' ในปี 2005 ระบุว่า ในอนาคตอาจมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับกัมมันตภาพรังสีอีกกว่า 4,000 คน
ผลกระทบต่อสุขภาพยังดำเนินมาถึงปัจจุบัน
เป็นประเด็นถกเถียงกันมาอย่างยาวนานว่า กัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนอย่างไร ที่เห็นชัดที่สุดคือการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ ซึ่งหายาก โดยการศึกษาของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์แห่งสหประชาชาติ (UNSCEAR) ในปี 2005 พบว่ามีเด็กและผู้เยาว์ป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์มากถึง 6,000 ราย
UNSCEAR ยังชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ว่าจะเกิดข้อบกพร่องทางพันธุกรรมในระยะยาว โดยพบทารกที่เกิดมาพร้อมกับความผิดปกติเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในปีแรกๆ หลังเหตุภัยพิบัติเชอร์โนบิล
ในปัจจุบัน แม้ระดับการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในหลายพื้นที่จะลดระดับลงมา แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ยังถูกพบเห็นในประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เขตอันตราย โดย ดร.เรเชล เฟอร์เลย์ กุมารแพทย์ชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ 'สะพานสู่เบลารุส' (Bridges to Belarus) ระบุว่า เธอเคยทำคลอดหญิงที่สัมผัสกับกัมมันตภาพรังสีหลายรายในเมืองโกเมล ของ เบลารุส และพบว่ามีเด็กบางคนเกิดมาพร้อมกับความพิการ ทารกคนหนึ่งเกิดมามี 2 หัว
ดร.เฟอร์เลย์ ยังพบด้วยว่า ในหมู่เด็กกว่า 800 คนในเมืองโกเมล ที่มูลนิธิของเธอให้การดูแล กว่าครึ่งป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ทั้งที่ตลอดชีวิตการทำงานในอังกฤษของเธอ เธอพบผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์เพียง 2 คนเท่านั้น
ด้าน ศาสตราจารย์คอนสแตนติน โลกานอฟสกี จากสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งชาติยูเครน ผู้ศึกษากผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีต่อสุขภาพในระยะยาว ก็ออกมาเปิดเผยว่า กัมมันตภาพรังสีมีผลกระทบต่อเซลล์ประสาท
...
"ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการพิสูจน์แล้วว่าเซลล์ประสาทแบ่งตัว ดังนั้นมันจึงเสี่ยงอันตรายจากกัมมันตภาพรังสีมาก โดยเฉพาะเซลล์ในส่วนฮิปโปแคมปัส และสมองส่วนหน้า ซึ่งทำให้เกิดความบกพร่องต่างๆ เช่น ความบกพร่องทางสติปัญญา, ทางพฤติกรรม, ทางความคิด และทางอารมณ์ ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า จนกระทั่งฆ่าตัวตายได้" ศาสตราจารย์โลกานอฟสกี กล่าว
"แน่นอนว่าผู้สะสางสารกัมมันตภาพรังสีขั้นสุดท้าย (ที่เชอร์โนบิล จำนวนกว่า 500,000 คน), ผู้อพยพ, และเด็กๆ ได้รับกัมมันตภาพรังสีในระดับสูงสุด แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคนเหล่านี้ส่งต่อผลกระทบไปยังลูกของพวกเขา หรือส่งต่อไปอีกหลายชั่วอายุคน"
30 ปีให้หลัง เหยื่อกลับถูกทิ้งในเงามืด
ขณะเดียวกัน ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกจัดว่าปนเปื้อนรังสีใกล้กับเขตอันตรายในยูเครน ยังคงต้องใช้ชีวิตไปตามอัตภาพอย่างเงียบๆ พร้อมกับปัญหาสุขภาพระยะยาว โดยเฉพาะในเด็ก ซึ่ง ดร.ออคซานา คาดุน หัวหน้าแพทย์ของโรงพยาบาลอีวานคอฟ ในยูเครน ซึ่งอยู่ใกล้เขตอันตรายที่สุด ระบุว่า มีเด็กกว่า 4,000 คนในเขตปนเปื้อนมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
...
ผู้คนจำนวนมากจำต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่อันตรายเช่นนี้อย่างไม่มีทางเลือก อย่างเช่นหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตที่ 4 ซึ่งถูกประกาศเป็นเขตปนเปื้อนรังสี แต่ไม่มากถึงขนาดต้องอพยพ ผู้คนทำงานในที่ดินเล็กๆ ด้วยมือเปล่า ไม่มีเงินแม้จะซื้ออาหาร ต้องเพาะปลูกอาหารของตัวเอง และปศุสัตว์บนที่ดินที่พวกเขารู้แก่ใจว่าปนเปื้อนรังสี "เราใช้ในสิ่งที่เรามี" นางอันนา โปโกเรโลวา ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตนี้กับลูก 2 คน กล่าว
ท่ามกลางปัญหาทางสุขภาพ รวมทั้งปัญหาในด้านสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสี รัฐบาลยูเครนกลับดำเนินการตัดลดเงินทุน และสิทธิ์ประโยชน์สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีในหลายภูมิภาคของประเทศ และจัดประเภทเขตที่เคยถูกจัดให้เป็นเขตปนเปื้อนรังสีใหม่ด้วย
มาตรการเหล่านี้หมายความว่า เหยื่อภัยพิบัติเชอร์โนบิล จะไม่ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนอย่างที่เคยได้ เช่น ยา ทุนการศึกษา และค่าเดินทาง โดยรัฐบาลยูเครนซึ่งกำลังประสบปัญหาทางการเงิน และเสี่ยงผิดชำระหนี้ต่างประเทศ อ้างว่าพวกเขาต้องเลือกตัวเลือกที่ยากลำบากเนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด แต่ผู้ได้รับผลกระทบหลายคนกลับรู้สึกว่า รัฐบาลพยายามที่จะไม่สนใจสภาพของพวกเขามากกว่า
"เรามีความรู้สึกว่า พวกเขาอยากให้พวกเราตายไปเสียที" นาเดชดา มาคาเรวิช อดีตชาวเมืองปริปยัต ซึ่งตั้งอยู้ใกล้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ที่สุด กล่าว
...