รมว.ยธ. เป็นประธานส่งมอบงาน "กองทุนยุติธรรม" จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สู่สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เผย 10 ปี ช่วยเหลือแล้ว 18,530 ราย จ่ายเงินช่วยเหลือกว่า 500 ล้านบาท อาทิ กรณีชาวเลหาดราไวย์
เมื่อวันที่ 27 เม.ย.59 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และผู้บริหารระดับสูง ร่วมแถลงข่าว พิธีส่งมอบภารกิจกองทุนยุติธรรม ระหว่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กับสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม "ก้าวไปข้างหน้ากับกองทุนยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม"
พล.อ.ไพบูลย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับ "กองทุนยุติธรรม" โดยประกาศเป็นนโยบายในข้อ 11.5 กำหนดให้ต้องมีการส่งเสริมกองทุนยุติธรรม เพื่อคุ้มครองช่วยเหลือคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส คุ้มครองผู้ถูกล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพ จึงได้ตราเป็น พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 ต.ค.58 และจะมีผลบังคับใช้นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 24 เม.ย.59 โดยให้กองทุนยุติธรรมช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่เดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
...
พล.อ.ไพบูลย์ เปิดเผยอีกว่า ทั้งนี้กำหนดให้ "กองทุนยุติธรรม" ตั้งเป็นสำนักงานกองทุนยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบภารกิจกองทุนยุติธรรม ต่อจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ภายหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งกองทุนยุติธรรมจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี การขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดหรือได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการสนับสนุนโครงการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานด้านกองทุนยุติธรรม ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา และได้มีการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการ ขั้นตอน รวมทั้งข้อกฎหมาย จนตราเป็น พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ.2558 และมีผลบังคับใช้แล้วในปัจจุบัน ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการจัดตั้งกองทุนยุติธรรมกว่า 10 ปี (ปีงบประมาณ 2549 – 2559) มีสถิติผู้มายื่นขอรับการสนับสนุนกองทุนยุติธรรม จำนวน 19,497 ราย พิจารณาไปแล้ว 18,530 ราย จ่ายเงินช่วยเหลือไปแล้ว 519,423,409.77 บาท
"โดยมีกรณีตัวอย่างที่ให้การช่วยเหลือทางด้านการดำเนินคดีสำคัญ อาทิ กรณีชาวเลหาดราไวย์ โดยกองทุนยุติธรรมได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล ค่าตรวจพิสูจน์พันธุกรรม และค่าประกันตัวช่วยต่อสู้คดีที่ถูกฟ้องขับไล่ที่ช่วยเหลือทั้งศาลชั้นอุทธรณ์และศาลฎีกา จำนวน 36 ราย เป็นเงิน 323,440 บาท และช่วยเหลือเงินประกันตัว จำนวน 9 ราย เป็นเงิน 45,000 บาท ส่วนกรณีกลุ่มชาวนา จ.ลพบุรี จำนวน 35 ราย ขายข้าวเปลือกให้โรงสีข้าวแล้วไม่ได้เงิน โดยกองทุนยุติธรรมได้อนุมัติค่าทนายความและค่าธรรมเนียมศาลในการต่อสู้คดี เป็นเงิน 210,000 บาท และกรณีนายสุรัตน์ มณีนพรัตน์สุดา พนักงานประจำรถขยะของกรุงเทพมหานคร จำเลยในคดีมีแผ่นซีดีเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 2551 โดยกองทุนยุติธรรมอนุมัติหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเงิน 240,000 บาท ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นต้น" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีการกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการเรื่องนี้ได้โดยตรง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอย่างแท้จริง แต่ถ้าเกิดการร้องเรียนไม่เชื่อมั่นในตัวผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ ประชาชนสามารถจะมาร้องเรียนที่กระทรวงยุติธรรมได้หรือไม่
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า สามารถทำได้ เนื่องจากมีคณะกรรมการอยู่ 2 ระดับ 1.ระดับบน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน เรียกว่าระบบการอุทธรณ์ 2.ระดับจังหวัด เมื่อคณะกรรมการจังหวัดไม่เห็นด้วย หรือไม่ได้รับการพิจารณาช่วยเหลือตามระเบียบ ซึ่งบางประเด็นต้องใช้ดุลยพินิจการพิจารณา ถ้าระดับล่างยังไม่ชัดเจนก็สามารถส่งเรื่องขึ้นมาให้ดูได้ ทั้งนี้จะสร้างให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการขอรับบริการกองทุนยุติธรรม สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่ สำนักงานกองทุนยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ชั้น 22 อาคารซอฟท์แวร์ปาร์ค ถ.แจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี หมายโทรศัพท์ 0-2502-6741, 0-2502-6743, 0-2502-6760 เว็บไซต์ทาง www.jfo.moj.go.th หรือ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ.