เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทีมงานซอกแซกนำเสนอเรื่อง “ภูมิใจผัดไทย...ยอดอาหารระดับโลก” โดยได้แรงบันดาลใจมาจากโฆษณาเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวประเทศไทยที่ทาง ททท.ได้ใช้ “ผัดไทย” เป็นตัวนำเรื่องโยงไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
ได้รับจดหมายและการสื่อสารสะท้อนกลับอย่างคาดไม่ถึง จากท่านผู้อ่านทั้งที่อ่านจากหนังสือพิมพ์และจากไทยรัฐออนไลน์
ทำให้ทีมงานมีความเห็นร่วมกันเป็นเอกฉันท์ว่าควรจะเขียนต่ออีก 1 สัปดาห์ เพราะในตอนที่แล้วเป็นการสำรวจและสรุปข้อเขียนของสื่อต่างประเทศที่นิยมชมชอบ “ผัดไทย” เพื่อมายืนยันแก่ท่านผู้อ่านว่าอาหารประจำชาติของเรานั้นติดอันดับโลกไปเรียบร้อยแล้ว ยังมิได้กล่าวถึงตำนาน หรือที่มาที่ไปของผัดไทยมากเท่าที่ควร
ประกอบกับเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง นิตยสาร “อนุสาร อสท.” ซึ่งเป็นนิตยสารการท่องเที่ยว ที่มียอดจำหน่ายสูงสุด และเก่าแก่ที่สุดของ ททท.ก็ได้นำเรื่องราวของผัดไทยและเบื้องหลังภาพยนตร์โฆษณาชุดดังกล่าวมาลงตีพิมพ์ ทำให้ทราบข้อมูลที่ยังไม่เคยทราบมาก่อนในหลายๆประเด็น
จึงเหมาะสมทุกประการที่จะขออนุญาตท่านผู้อ่านเขียนถึงผัดไทยอีกครั้ง โดยจะเน้นถึง “ตำนาน” หรือ “ที่มาที่ไป” ของผัดไทย เพื่อให้รายงานของทีมงานซอกแซกครบถ้วนยิ่งขึ้น
นิตยสาร อสท.ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ผัดไทย” หรือ “ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย” เป็นความคิดริเริ่มโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2488 ด้วยเจตนารมณ์ที่จะให้ประชาชนชาวไทยหันมาบริโภคข้าวมากขึ้นเนื่องจากราคาข้าวเกิดตกต่ำลงอย่างมาก
การบริโภคก๋วยเตี๋ยว ซึ่งทำจากข้าว จะเป็นการเพิ่มปริมาณความต้องการ หรือ “ดีมานด์” ข้าว อันจะทำให้ราคาดีขึ้นตามหลักเศรษฐศาสตร์
...
นิตยสาร อสท.ได้นำจดหมายที่เป็นคำปราศรัยเชิญชวนให้รับประทานก๋วยเตี๋ยวของจอมพล ป. มาลงให้ดูเป็นหลักฐานประกอบด้วย
แต่เนื่องจากก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารของคนจีน และในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่จอมพล ป. กำลังอยู่ระหว่างสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมใหม่ๆให้แก่ประเทศไทย โดยเน้นความเป็นไทย จึงได้คิดค้นก๋วยเตี๋ยวที่มีรูปแบบเป็นไทย และตรงข้ามกับก๋วยเตี๋ยวของชาวจีนขึ้น...ซึ่งก็คือก๋วยเตี๋ยวผัดไทยนี่เอง
หลังจากนั้นไม่นานนักก็แพร่หลายไปทั่วประเทศ และในช่วงแรกจะใช้เส้นก๋วยเตี๋ยวสดจากโรงงานก๋วยเตี๋ยวในแต่ละจังหวัด ซึ่งปกติจะผลิตขึ้นสำหรับก๋วยเตี๋ยวแห้งน้ำ หรือราดหน้า สไตล์จีนอยู่แล้ว โดยใช้เส้นเล็กมาผัดไทย
ต่อมาเมื่อโรงงานก๋วยเตี๋ยวในจังหวัดจันทบุรี สามารถผลิต “เส้นจันท์” ซึ่งเป็นเส้นเล็กอย่างแห้งเก็บไว้ได้หลายวัน ส่งไปขายทั่วประเทศ ทำให้ร้านผัดไทยเกือบทั้งหมดหันมาใช้เส้นจันท์แทน
แต่ก็มีหลายๆ จังหวัด เช่น นครสวรรค์ ที่ยังนิยมใช้เส้นสด จนถึง พ.ศ.2500 เมื่อหัวหน้าทีมซอกแซกยังเป็นเด็กนักเรียน จำได้ว่าทุกร้านผัดไทยในนครสวรรค์ล้วนใช้เส้นสดที่ผลิตเองในจังหวัดทั้งสิ้น ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็นใช้เส้นจันท์ในภายหลัง
ในนิตยสาร อสท.ฉบับล่าสุด ได้เอ่ยถึงโรงงานผลิตเส้นจันท์ตราเรือใบ “ฮั้วฮะเซ้ง” เอาไว้ด้วยว่าเป็นโรงงานเก่าแก่ตั้งมาแล้วกว่า 70 ปี ที่จังหวัดจันทบุรี
สำหรับร้านผัดไทยที่โด่งดังที่สุดของประเทศไทยอันได้แก่ ผัดไทย “ทิพย์สมัย” หรือ “ผัดไทยประตูผี” ที่แม้แต่ผู้สื่อข่าว BBC ก็มุ่งมั่นเดินทางจากลอนดอนเพื่อจะมารับประทานให้ได้นั้น...นิตยสาร อสท. ระบุว่าเป็นร้านเก่าแก่มาก และเป็นร้านที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เคยแวะมารับประทาน ตั้งแต่คุณแม่ “สมัย ใบสมุทร” เปิดร้านเล็กๆ ขายอยู่ริมถนนมหาไชย แยกสำราญราษฎร์ ด้วยซํ้า
คุณแม่สมัยเล่าให้ลูกๆฟังว่า จอมพล ป. เคยกล่าวชมก๋วยเตี๋ยวผัดไทยของท่านไว้ว่า “ร้านผัดไทยร้านนี้แหละ คือผัดไทยของประเทศไทยอย่างแท้จริง” ซึ่งหลายครั้งที่มีการจัดงานในทำเนียบรัฐบาลจะเชิญแม่สมัยไปออกร้าน
ผัดไทยด้วย
ปัจจุบันนี้ “ทิพย์สมัย ผัดไทย” บริหารโดยทายาทรุ่นที่ 4 อาจารย์ ดร.ศีขรเชษฐ ใบสมุทร ที่อำลาการสอนมาดำเนินกิจการตามคำฝากฝังของแม่อย่างเต็มตัว ดร.ศีขรเชษฐ กล่าวกับนิตยสาร อสท.อย่างน่าสนใจประโยคหนึ่งว่า “เราไม่ได้ขายผัดไทยอย่างเดียว แต่เราขายวัฒนธรรมให้คนกินผัดไทยด้วย”
หัวหน้าทีมซอกแซกยังไม่เคยลิ้มรสผัดไทยทิพย์สมัย แต่เห็นฝูงชนไปเข้าคิวในแต่ละห้วงเวลาของแต่ละวันแล้วก็น่าจะเชื่อได้ว่าคงอร่อยจริงแท้แน่นอน
นิตยสาร อสท. ฉบับดังกล่าวยังนำเสนอรายละเอียดของร้านผัดไทยประตูผี หรือผัดไทยทิพย์สมัยเอาไว้อีก 1 หน้าเต็มๆ ล้วนเป็นเรื่องน่ารู้ทั้งสิ้น ขอความกรุณาไปลองหาอ่านกันเอาเองนะครับ
ขณะเดียวก็ลงรายชื่อร้านผัดไทยที่ควรลิ้มลองเอาไว้หลายร้าน เช่น ผัดไทย เทเวศร์, ผัดไทย บ้านหมี่ (เก่าแก่มาตั้งแต่ยุคจอมพล ป.), ผัดไทยโบราณเขาวง (อำเภอโคกสำโรง), ผัดไทย พานหิน (ภูเก็ต) ฯลฯ
หัวหน้าทีมซอกแซกขอเพิ่มให้อีก 2 ร้าน...ได้แก่ ผัดไทย ร้าน “ริน” ปากช่อง ซึ่งอร่อยแบบไม่มีใครเหมือน ไม่เชื่อลองถามคนกรุงที่ไปปลูกบ้านแถวๆปากช่อง, เขาใหญ่ และบริเวณใกล้ๆดูได้
อีก 1 ร้าน ก็คือ “ผัดไทยตั้วเกา” ครับ...อยู่ที่หมู่บ้านตั้วเกา ก่อนถึงตลาดอำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ สักไม่เกิน 2 กม. ปลูกเป็นเพิงอยู่ริมแม่น้ำปิง
ร้านนี้หัวหน้าทีมซอกแซกและครอบครัวจะแวะไปรับประทานปีละ 1 ครั้ง เวลากลับไป “เชงเม้ง” ที่บ้าน ถือเป็น 1 ในร้านผัดไทยที่ยังคงรสชาติเก่าแก่ที่มีสไตล์ของจังหวัดนครสวรรค์ ที่ต่างกับจังหวัดอื่นๆอยู่บ้างเล็กน้อย
...
สรุปของสรุป...หัวหน้าทีมซอกแซกขอย้ำอีกครั้งว่าเราคงต้องขอบคุณร้านอาหารไทย 12,000 แห่งทั่วโลก ที่นำเมนู “ผัดไทย” และ “ต้มยำกุ้ง” ไปเผยแพร่จนอาหารทั้ง 2 อย่างนี้โด่งดังกลายเป็นอาหารระดับโลกในปัจจุบันและเชื่อว่าจะเป็นต่อไปอีกนานแสนนาน.
ซูม