ปฏิเสธไม่ได้ว่า แผ่นดินไหว คือ สิ่งที่อยู่ควบคู่กับดินแดนอาทิตย์อุทัย ประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณแนววงแหวนแห่งไฟมาช้านาน และทุกๆ ครั้งที่เกิดขึ้น ก็มักจะสร้างความเสียหายค่อนข้างมากให้กับประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งครั้งล่าสุด ที่เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 6.4 และ 7.3 ที่จังหวัดคุมาโมโต้ เกาะคิวชู ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อวันที่ 14-15 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 45 ราย บาดเจ็บนับพันคน และต้องอพยพไปอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราวนับแสนคน...

แต่เราๆ ท่านๆ เคยนึกสงสัย เช่นเดียวกับ นายฮกหลง ไหมว่า?… เหตุใดลูกหลานชาวซามูไร จึงสามารถเผชิญหน้า รับมือกับเหตุภัยพิบัติที่น่ากลัวนี้ได้อย่างทรนง จนเราๆ ท่านๆ แทบไม่เคยเห็นภาพเหตุจลาจล คนแย่งสิ่งของที่ส่งไปให้ความช่วยเหลือ เหมือนในหลายๆ ประเทศที่เราเห็นกันจนชินตา (ไม่เว้นแม้แต่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศหนึ่ง ที่เคยเกิดเหตุการณ์รุมเข้าทึ้งสิ่งของ ปานประหนึ่งเกิดสงครามย่อมๆ แม้กระทั่งกับแค่การซื้อไอศกรีม รองเท้า เรื่อยไปแม้กระทั่งซื้อน้ำปลา! ทั้งๆ ที่บ้านเมืองไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ เข้าขั้นกลียุคจากภัยพิบัติธรรมชาติสักนิดเดียว...แหม...ก็ทำกันไปได้!)

แต่กับประเทศญี่ปุ่น...เรากลับเห็นแต่ภาพผู้คนเข้าแถวกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อทยอยรับสิ่งของที่ส่งมาให้ความช่วยเหลือ แม้เนื้อตัวอาจจะเหลือเสื้อผ้าเพียงชุดเดียว และบางครั้งต้องอดทนเข้าแถว เพียงเพื่อจะได้รับขนมปังเพียงชิ้นเดียว ภายใต้สภาพอากาศที่หนาวเหน็บ...

แล้วเพราะเหตุใด? การบูรณะฟื้นฟูบ้านเมืองที่ปรักหักพัง จากฤทธิ์แผ่นดินไหวใหญ่ๆ ในแต่ละครั้ง ชาวญี่ปุ่นจึงสามารถคืนกลับสู่สภาพเดิมได้อย่างรวดเร็ว ซะจนชาวโลกต้องตะลึงพรึงเพริด...

...

ในวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบจากทั้งผู้คร่ำหวอดกับสังคมชาวญี่ปุ่น มาช้านาน...ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของนามปากกา เกตุวดี คอลัมนิสต์เว็บไซต์ Marumura และผู้เชี่ยวชาญอย่าง ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ

เอาล่ะ มัวแต่เกริ่นนำเยิ่นเย้อ ชาวแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ เริ่มหมั่นไส้ นายฮกหลง กันอีกแล้วใช่ไหมครับ งั้นเราค่อยๆ ทยอยกันเข้าแถวเพื่อเดินทางไปดินแดนอาทิตย์อุทัยกันดีกว่าครับ...

ก่อนอื่น นายฮกหลง ขอนำแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ ทุกท่านไปทำความรู้จักกับ จังหวัดคุมาโมโต้ ที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ จาก ดร.กฤตินี กันก่อนดีกว่า

โดย ดอกเตอร์สาวสวย ขวัญใจนิสิตจุฬาฯ เลคเชอร์สั้นๆ 1 นาทีจบถึงจังหวัดคุมาโมโต้ ให้นายฮกหลง ฟังว่า จังหวัดนี้เป็นพื้นที่ที่มีหุบเขาล้อมรอบ โดยมีภูเขาไฟอะโสะ อยู่ด้านตะวันออกของจังหวัด มีจำนวนประชากร 1,784,723 คน (ข้อมูลอ้างอิง : ที่ว่าการ จ.คุมาโมโต้ ค.ศ. 2016) ทั้งนี้ นับเป็นเวลานานกว่า 126 ปีแล้ว ที่ชาวจังหวัดคุมาโมโต้ ไม่เคยต้องประสบเหตุแผ่นดินไหว เพราะครั้งล่าสุดที่ชาวจังหวัดนี้ต้องเผชิญกับเหตุธรณีพิบัติภัยคือ ปี ค.ศ.1889! อันไกลโพ้นโน่น… 

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัด คือ ภูเขาไฟอะโสะ และปราสาทคุมาโมโต้ ส่วนสินค้าเศรษฐกิจที่สร้างชื่อ คือ มะเขือเทศ ผักสด เนื้อม้า ส้มเช้ง และราเม็งคุมาโมโต้

อัพเดตสถานการณ์ล่าสุด พบว่า หลังเกิดแผ่นดินไหว พื้นที่ประสบเหตุยังขาดแคลน อาหาร น้ำดื่ม และที่พักพิงชั่วคราวอยู่ ขณะที่การให้ความช่วยเหลือ สำหรับคนญี่ปุ่น มีการจัดสถานที่พักชั่วคราวให้ โดยมีอาหาร น้ำดื่ม และห้องน้ำสาธารณะบริการ ส่วนคนต่างชาตินั้น มีการจัดสถานที่พักพิงชั่วคราวให้ ที่อาคาร Kumamoto City International Center โดยปัจจุบัน มีชาวต่างชาติอพยพมาอาศัยอยู่กว่า 40 คน จาก 9 ประเทศ อาทิ จีน เกาหลี แคนาดา บังกลาเทศ โดยมีอาสาสมัครช่วยแปลข้อมูลภัยพิบัติต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ให้

...

ความเสียหาย มีบ้านเรือนได้รับความเสียหายกว่า 1,700 หลัง สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างปราสาทคุมาโมโต้ หลังคาและตัวปราสาททรุด การฟื้นฟูเมือง คาดว่า อย่างน้อยที่สุด คงอีกสักประมาณ 1 เดือนหลังจากนี้ เพราะล่าสุด เจ้าหน้าที่ยังให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อน ทั้งการจัดหาที่พักพิงชั่วคราว และเคลียร์เส้นทางต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือต่างๆ สามารถลำเลียงเข้าถึงผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง

...

อยู่ใน DNA ลูกหลานซามูไร พร้อมทุกเมื่อรับมือแผ่นดินไหว ทุกวินาที!  

สนทนากันมาถึงตอนนี้ นายฮกหลง จึงเอ่ยถาม เจ้าของนามปากกาเกตุวดี ชาวญี่ปุ่น ถึงคำถามที่ทุกท่านอยากรู้เลยว่า เพราะเหตุใด ชาวอาทิตย์อุทัยจึงสามารถรับมือกับเหตุภัยพิบัติได้อย่างไม่พรั่นพรึง... ซึ่งเมื่อพอได้ยินคำถาม ดร.กฤตินี ซึ่งได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นมาเป็นเวลาหลายปี ก็ได้ตอบนายฮกหลง อย่างมั่นใจทันทีว่า...

"ประเทศญี่ปุ่น จะมีการให้ความรู้และซักซ้อมเรื่องการรับมือกับการเกิดเหตุแผ่นดินไหว ตั้งแต่ในระดับโรงเรียน หมู่บ้าน เรื่อยไปจนกระทั่งระดับจังหวัด กันอย่างจริงจัง เป็นประจำ และสม่ำเสมอ ด้วยเหตุนี้ประชาชนส่วนใหญ่จึงค่อนข้างมีความช่ำชองว่า เมื่อเกิดเหตุขึ้น ควรจะต้องมีการวิธีการในการปฏิบัติตัวอย่างไรในการรับมือ เพราะฉะนั้น พูดได้เลยว่า ใน DNA ของชาวญี่ปุ่นทุกคน พร้อมรับมือกับเหตุแผ่นดินไหว ที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกๆ วินาที

ยกตัวอย่างนะคะ อย่างเช่น เด็กประถมญี่ปุ่น จะถูกปลูกฝังจากครูที่สอนเลยว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหว จะต้องวิ่งออกจากอาคารเป็นลำดับแรก หากเปิดแก๊สทิ้งไว้ก็ต้องรีบไปปิดเพื่อป้องกันอัคคีภัย หลังจากนั้นก็จะต้องพยายามหาที่กำบังศีรษะ เมื่อแผ่นดินไหวเริ่มสงบ ก็พยายามเดินทางไปที่ศูนย์อพยพต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียน หรือ ที่ว่าการเขตที่อยู่ใกล้ที่สุด นอกจากนี้ในช่วง 4-5 ปีหลังๆ มานี้ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นประสบเหตุแผ่นดินไหวค่อนข้างบ่อย สื่อมวลชนจะมีการทำสกู๊ปให้ความรู้แก่ประชาชนอยู่ตลอดเวลาว่า เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว จะต้องมีการเตรียมตัว เตรียมเสบียงเบื้องต้นเอาไว้อย่างไร?... นอกจากนี้ บริษัทเอกชนหลายแห่ง ก็จะให้ความร่วมมือ โดยการทำที่กรองน้ำดื่มแบบสะอาด ขนมปังกระป๋อง เตรียมพร้อมสำหรับให้บริการเอาไว้ด้วย"

...

ไร้เหตุจลาจล เข้าคิวอย่างเป็นระเบียบ รับสิ่งของช่วยเหลือ ชาวโลกยกย่อง

"พร้อมรับมือเสมอ อันนั้นพอเข้าใจได้ เพราะที่ตั้งประเทศอยู่ในความเสี่ยง แต่เหตุใดคนญี่ปุ่นจึงยังยึดระเบียบได้เสมอ แม้อยู่ในยามคับขัน อันนี้สิครับ แปลกใจ?" นายฮกหลง ถามต่อโดยเร็ว

ดร.กฤตินี ยิ้มหวานก่อนตอบ นายฮกหลงว่า "ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นมาก ด้วยเหตุนี้แนวคิดในการสร้างชาติของพวกเค้า จึงต้องเน้นการสร้างประชาชนให้มีระเบียบวินัย เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความวุ่นวายจากปัญหาคนแก่งแย่งกันได้ เพราะฉะนั้นจึงมีการเริ่มปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัยกันมาตั้งแต่เด็ก

ยกตัวอย่างเช่น ในโรงเรียนประถม การไปกินข้าวที่โรงอาหาร ก็จะไม่ใช่ให้ต่างคนต่างหยิบ แต่จะมีจัดระบบเอาไว้อย่างดี มีเวรให้แต่ละคนทำหน้าที่อย่างชัดเจน คนนี้ตักข้าว คนนั้นแจกจาน และเมื่อได้อาหารจะรับประทานเลยไม่ได้ จะต้องนั่งรอให้ได้อาหารกันครบทุกคนก่อน จึงตักทานพร้อมกัน เมื่อปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็กเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เพราะอะไรญี่ปุ่นจึงเป็นชนชาติที่มีระเบียบวินัยอย่างมาก

คนไหนแซงคิว ไร้วินัย ไม่อดทน จะเป็นที่น่ารังเกียจของสังคม

เจ้าของนามปากกาเกตุวดี เล่าต่อไปว่า "นอกจากนี้ สำหรับใครที่มีพฤติกรรมไม่มีระเบียบวินัย เช่น ไปลัดคิว หรือรับประทานอาหารก่อนคนอื่น สำหรับคนญี่ปุ่นจะถูกมองว่า เป็นคนที่ไม่มีความอดทนเพียงพอ ซึ่งจะถือเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจของสังคมไปเลย" (ขีดเส้นใต้อีกครั้ง ไม่อดทนเพียงพอ ถือเป็นเรื่องน่ารังเกียจของสังคม)

ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่น จะปลูกฝังให้คนในชาติมองประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตัวเป็นหลัก ฉะนั้นหากอาหารไม่เพียงพอ ก็จะมีการนำอาหารมาแบ่งปันกันเสมอๆ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ คนญี่ปุ่น จะมีความเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า ความช่วยเหลือต่างๆ ของทางภาครัฐ จะเข้ามาสนับสนุนได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นพวกเค้าจึงมองว่า ของทุกอย่างมีเพียงพอสำหรับทุกคนเสมอ"  

ฝีมือชาวซามูไร ออกแบบอาคารมีล้อ รับมือแผ่นดินไหว

เอาล่ะ...ในประเด็นต่อไป เรื่องเพราะเหตุใดการบูรณะฟื้นฟูฝีมือชาวอาทิตย์อุทัย จึงสามารถพลิกฟื้นเมืองทั้งเมืองที่ย่อยยับให้กลับคืนได้รวดเร็วแทบพลิกฝ่ามือได้นั้น นายฮกหลง หันหน้ามองไปถามที่ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ทันที ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า

ไม่เน้นหวือหวา สร้างตึกรูปสี่เหลี่ยมสมมาตร รับมือธรณีพิบัติ

ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีการเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือเหตุแผ่นดินไหวเอาไว้อย่างดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง เพราะเค้ารู้ดีว่า ที่ตั้งของประเทศมีความเสี่ยงต่อการที่จะเกิดเหตุธรณีพิบัติภัยได้บ่อยครั้งกว่าประเทศอื่นใดในโลก สังเกตง่ายๆ หากได้ไปประเทศญี่ปุ่น จะเห็นได้ชัดเจนว่า จะไม่ค่อยนิยมการสร้างตึกสูง มากๆ เช่นที่ เซี่ยงไฮ้ ดูไบ หรือ มาเลเซีย

นอกจากนี้ ตึกส่วนใหญ่ที่ถูกสร้างจะถูกออกแบบในลักษณะไม่หวือหวาเหมือนที่อื่นๆ ในโลก จะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมสมมาตรเหมือนๆ กันหมด เพราะตึกลักษณะนี้จะสามารถรับแรงได้ดีกว่าตึกในรูปแบบอื่นๆ นอกจากนี้ บางอาคารยังมีการติดล้อ หรือยาง เอาไว้ เพื่อให้ตึกมันสามารถคล้อยตัวไปตามแรงของแผ่นดินไหวด้วย เพื่อให้ตัวอาคารไม่ถล่มลงมา

ฟื้นตัวเร็ว เน้นทำบ้านด้วยไม้ น้ำหนักเบา สร้างง่าย ถล่มโอกาสรอดสูง

ส่วนบ้านที่พักอาศัย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเนื้อที่ไม่มากนักนั้น จะทำจากไม้เป็นหลัก วัสดุที่มาประกอบ เช่น ประตู ก็จะทำจากไม้บุด้วยกระดาษ เพื่อให้มีน้ำหนักเบา เวลาประกอบเป็นบ้านก็ง่ายมาก แค่ใช้หมุดมาตอกๆ ไม่นานก็สร้างบ้านได้หลังหนึ่งแล้ว

แล้วน้ำหนักเบาเพื่ออะไรน่ะหรือ? ง่ายๆ เลย ก็เพราะหากเวลาเกิดแผ่นดินไหว แล้วเกิดตัวบ้านพังลงมา แรงกดทับจากวัสดุเหล่านี้ ที่อาจหล่นลงมาทับคน ก็จะมีน้ำหนักน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้คนที่ติดอยู่แล้วหนีออกมาไม่ทัน มีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น นั่นเอง

แล้วที่สำคัญอีกอย่าง บ้านในลักษณะที่ว่าของชาวญี่ปุ่น มันยังสะดวกต่อการสร้างใหม่ ซึ่งจะใช้เวลาในการก่อสร้างน้อยมากๆ อีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า เพราะเหตุใดเวลาเกิดแผ่นดินไหว ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ชาวญี่ปุ่นจะฟื้นตัวได้เร็วมาก เพราะมีการเตรียมความพร้อมกันมาตั้งแต่การออกแบบบ้านและอาคารต่างๆ ไว้แล้ว

ฟันธงไม่เกิน 6 เดือน ลูกพระอาทิตย์ฟื้นทุกอย่างเหมือนปกติ

"แผ่นดินไหวใหญ่ขนาดนี้ มีผู้เสียชีวิตไม่ถึงร้อยราย น้อยกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเครื่องบินตกเสียอีก แสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นมีการเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวไว้ดีมาก ส่วนตัวมองว่า ญี่ปุ่นก็คือญี่ปุ่น ไม่น่าเกิน 6 เดือน พวกเค้าก็น่าจะสามารถฟื้นฟูทุกสิ่งทุกอย่างให้กลับมาเหมือนเป็นปกติได้อย่างแน่นอน เพราะเค้ามีทั้งเทคโนโลยีบวกกับความมีวินัยของคนในชาติ" นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวทิ้งท้าย

รู้จัก เจ้าคุมะมง หมีแก้มแดงจอมกวนโอ๊ย คนดังคุมาโมโต้

ท้ายที่สุด ก่อนลากันไป แน่นอนเมื่อเอ่ยถึง จังหวัดคุมาโมโต้ หากเราจะไม่พูดถึง เจ้าหมีแก้มแดงจอมกวน ที่สร้างชื่อให้จังหวัดคุมาโมโต้โด่งดังไปทั้งโลก อย่างเจ้า Kumamon (คุมะมง) ก็คงเหมือน นายฮกหลง พาแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ มาไม่ถึง จังหวัดคุมาโมโต้ เป็นแน่แท้

เอาล่ะ ถ้างั้นให้ ดร.สาวสวยพาเราไปทำความรู้จัก เจ้าหมีจอมกวน กันเสียตั้งแต่เริ่มกำเนิดกันเลยดีกว่า!

เจ้าของนามปากกาเกตุวดี เล่าให้นายฮกหลงฟังว่า ผู้ออกแบบเจ้าหมีคุมะมง คือ คุณ Manabu Mizuno ดีไซเนอร์ชื่อดังผู้ออกแบบโลโก้แคมเปญ Kumamoto Surprise (แคมเปญการท่องเที่ยวของจังหวัด) โดยมีมาสคอต "ของแถม" (อึ้ง…เหมือนนายฮกหลง ไหมครับ…ของแถมนะครับ ย้ำอีกครั้ง "ของแถม") ที่คุณ Manabu ออกแบบมาให้ พร้อมกับโลโก้แคมเปญการท่องเที่ยวของจังหวัด ซึ่งตอนแรกทางจังหวัดเองก็ตะขิดตะขวงใจพอสมควร ที่จะนำเจ้าคุมะมงมาใช้ ด้วยเหตุที่ว่าทางจังหวัดไม่มีหมีอยู่เลยสักตัวเดียวน่ะสิ!

แต่ในที่สุด เมื่อเห็นว่าเจ้ามาสคอตจอมกวนนี้ น่าจะช่วยให้เข้าถึงผู้คนได้ง่าย จึงตัดสินใจนำมาใช้ในที่สุด (ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะไม่เช่นนั้น จังหวัดคุมาโมโต้ อาจไม่เป็นที่รู้จักมากมายขนาดนี้ก็...เป็นได้)

ถ้าแบบนั้น เพราะเหตุใดคนออกแบบจึงคิดมาสคอตให้เป็นหมีไปได้? นายฮกหลง ยกมือถามทันที!

ดร.สาวหัวเราะอย่างสบายใจก่อนตอบว่า "นั่นก็เพราะชื่อจังหวัดคุมาโมโต้ ไปพ้องเสียงกับคำว่า คุมะ ซึ่งแปลว่า หมี ในภาษาญี่ปุ่น ส่วนแก้มแดงและมาดกวนๆ นั่น มาจาก ความต้องการที่จะแสดงออกถึงความตื่นเต้น เพื่อไปล้อกับแคมเปญ Surprise ของทางจังหวัดนั่นเอง ด้วยเหตุดังนี้แล...เจ้ามาสคอตของแถมนี้จึงปรากฏโฉมและกลายเป็นที่รักของคนญี่ปุ่นและชาวโลกในที่สุด"