ปรี๊ดดดดดด! เสียงนกหวีดเป่าหมดเวลาของเกมคู่บิ๊กแมตช์ระหว่าง 'ปราสาทสายฟ้า' บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด แชมป์เก่า เปิดบ้านพ่ายแพ้คู่ปรับตลอดกาล 'กิเลนผยอง' เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด 0-3 ในนัดที่ 8 ของฟุตบอลโตโยต้า ไทยลีก 2016 โดยเมืองทองฯ สามารถลบอาถรรพณ์ที่ไม่เคยเอาชนะบุรีรัมย์มาตลอด 6 ปี ท่ามกลางกองเชียร์ของทั้งสองฝ่ายเต็มสนาม

เกมนัดที่ผ่านมาถือว่าเป็นคู่บิ๊กแมตช์ระหว่างสองทีมใหญ่ระดับประเทศ มีแฟนบอลจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ และเกมในนัดนี้ จึงทำให้รับรู้ได้ว่า สโมสรฟุตบอลในประเทศไทยมีคนสนใจมากไม่แพ้ประเทศอื่นๆ แต่ละสโมสรต่างทุ่มเม็ดเงินการซื้อตัวนักเตะดาวดังระดับทีมชาติ มีการจ่ายเงินเพื่อประชาสัมพันธ์สโมสรและการแข่งขันแต่ละนัดไปยังสื่อทุกแขนง ทำให้เม็ดเงินจำนวนมากต่างไหลเวียนอยู่ในวงการฟุตบอลไทยเป็นหลักพันล้าน!!!

กระนั้นแล้ว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอเจาะถังเงินของธุรกิจสโมสรฟุตบอลในประเทศไทย ว่าแต่ละสโมสรมีรายได้-รายจ่ายมากน้อยเพียงใด

ส่องงบดุล ‘ไทย พรีเมียร์ ลีก’ ฟันค่าลิขสิทธิ์ครึ่งหมื่นล้าน!

เริ่มต้นด้วยผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลลีกไทย บริษัท ไทย พรีเมียร์ ลีก จำกัด (TPLC) โดย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนการจัดตั้งบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 59 พบว่า บริษัท ไทย พรีเมียร์ ลีก จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 51 ทุนจดทะเบียน 1,250,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 100/274 ถนนสุขาภิบาล 5 แขวงออเงิน เขตสายไหม กรุงเทพฯ หมวดธุรกิจ กิจกรรมการจัดการแข่งขันกีฬา

...

ทั้งนี้ รายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดตามเอกสารเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 58 พบว่า ผู้ถือหุ้นมากที่สุด คือ นายวรวีร์ มะกูดี จำนวนหุ้นที่ถือ 5,625 หุ้น รองลงมาเป็นชื่อนายองอาจ ก่อสินค้า จำนวนหุ้นที่ถือ 3,125 หุ้น นายไพฤทธิ์ ต้านไพรี จำนวนหุ้นที่ถือ 625 หุ้น นายธัญญา โพธิ์วิจิตร จำนวนหุ้นที่ถือ 625 หุ้น นายชาติชาย พุคยาภรณ์ จำนวนหุ้นที่ถือ 625 หุ้น และนายธารา พฤกษ์ชะอุ่ม จำนวนหุ้นที่ถือ 625 หุ้น หุ้นละ 100 บาท

งบกำไรขาดทุนของบริษัท ไทย พรีเมียร์ ลีก จำกัด ปี 2556 รายได้หลัก 7,863,860.84 บาท รายได้รวม 18,766,467.94 บาท ต้นทุนขาย 8,130,168.43 บาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 8,273,357.88 บาท รายจ่ายรวม 16,403,526.31 บาท กำไรสุทธิ 1,966,470.36 บาท

ส่วนปี 2557 รายได้หลัก 16,727,083.54 บาท รายได้รวม 27,533,537.69 บาท ต้นทุนขาย 15,213,663.84 บาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 9,840,689.88 บาท รายจ่ายรวม 25,054,353.72 บาท กำไรสุทธิ 1,821,263.52 บาท

นอกจากนี้ บริษัท ไทย พรีเมียร์ ลีก จำกัด ยังได้ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจากบริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) โดยในปี 2557-2559 ปีละ 600 ล้านบาท รวม 3 ปี 1,800 ล้านบาท และปี 2560-2563 เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 1,050 ล้านบาท รวม 4 ปี 4,200 ล้านบาท ซึ่งจะถ่ายทอดสด 4 รายการสำคัญ ได้แก่ ไทย พรีเมียร์ ลีก, ดิวิชั่น 1, ช้าง เอฟเอ คัพ และโตโยต้า ลีก คัพ

นายก ส.ฟุตบอลฯ ตั้งบริษัทใหม่ PLT แทน TPLC พร้อมเปลี่ยนชื่อลีก

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ คนใหม่ ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่แทน บริษัท ไทย พรีเมียร์ ลีก จำกัด โดยใช้ชื่อว่า บริษัท พรีเมียร์ ลีก ไทยแลนด์ จำกัด (PLT) โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 59 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท ตั้งอยู่ที่ 14 ซอยศรีนครินทร์ 7 ถนนศรีนครินทร์ แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ หมวดธุรกิจ กิจกรรมการจัดการแข่งขันกีฬา

และได้เปลี่ยนชื่อการแข่งขันของไทยพรีเมียร์ลีก และไทยลีกดิวิชั่น 1 จาก โตโยต้าไทยพรีเมียร์ลีก และ ยามาฮ่าลีกวัน เป็น ‘โตโยต้าไทยลีก’ และ ‘ยามาฮ่าลีกดิวิชั่น 1’

จากนั้นมาต่อกันด้วยสโมสรดังๆ ในไทยลีก ว่าสโมสรเหล่านี้มีรายได้มาจากที่ใด และมีกำไรหรือขาดทุนในการทำทีม รายละเอียดต่างๆ ติดตามได้ ณ บัดนี้...

‘เดอะ แรบบิท’ บางกอกกล๊าส เอฟซี

...

สโมสรฟุตบอลบางกอกกล๊าส บริหารงานโดยบริษัท บีจี เอฟซี สปอร์ต จำกัด มีนายปวิณ ภิรมย์ภักดี เป็นประธานสโมสร 

จากการตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ปี 2557 มีรายได้รวม 189,318,671.00 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 8,585,565.00 ล้านบาท รายจ่ายรวม 205,599,744.00 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ -18,878,121.00 ล้านบาท

โค้ชจุ่น นายอนุรักษ์ ศรีเกิด เฮดโค้ชทีมบางกอกกล๊าส เอฟซี กล่าวถึงรายได้หลักของสโมสรว่า รายได้ส่วนใหญ่จะมาจากการสนับสนุนของสปอนเซอร์มากถึง 80% เม็ดเงินขึ้นอยู่กับการนำเสนอของผู้บริหารว่าแต่ละปี สโมสรจะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ในการทำทีม แต่หลักๆ แล้วงบในการทำทีมของสโมสรจะอยู่ที่ 150 ล้านบาท

สำหรับรายได้จากการขายบัตรเข้าชมนั้น เฉลี่ยต่อนัดประมาณ 600,000 บาท และรายได้จากการขายของที่ระลึก เช่น เสื้อ ผ้าพันคอ ประมาณ 300,000 - 400,000 บาทต่อนัด

ส่วนรายจ่ายที่สโมสรต้องจ่ายจะมีค่าตัวนักเตะต่างชาติ 1 ล้านบาท ส่วนนักเตะไทยแล้วแต่เกรดว่าติดทีมชาติหรือเข้าขั้นระดับไหน โดยค่าตัวนักเตะโดยรวมต่อเดือนประมาณ 12 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สรุปรายได้รวมของสโมสรบางกอกกล๊าส ประมาณ 150 ล้านบาทขึ้นไป และตั้งแต่มีการทำทีมมาไม่เคยขาดทุน

...

‘ฉลามชล’ ชลบุรี เอฟซี

สโมสรฟุตบอลชลบุรี บริหารงานโดยบริษัท ชลบุรี เอฟ.ซี. จำกัด มีนายวิทยา คุณปลื้ม เป็นประธานสโมสร 

จากการตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ปี 2557 มีรายได้รวม 105,717,098.23 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 34,037,909.52 ล้านบาท รายจ่ายรวม 110,394,457.19 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ -4,677,358.96 ล้านบาท

บิ๊กจี นายจีระศักดิ์ โจมทอง ผอ.ฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ สโมสร ชลบุรี เอฟซี เปิดเผยถึงรายได้หลักของสโมสรว่า รายได้หลักสโมสรมาจากสปอนเซอร์ ผู้สนับสนุนต่างๆ ปีละประมาณ 70 ล้านบาท คิดเป็น 70% ส่วนรายได้จากการขายสินค้าที่ระลึก ปีละ 16 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการขายบัตร เฉลี่ยปีละประมาณ 12 ล้านบาท เนื่องจากความจุสนามค่อนข้างน้อย มีแค่ 8,000 ที่นั่งเท่านั้น ส่วนราคาบัตร 100 150 และ 200 บาท และรายได้จากการที่สโมสรชลบุรี เอฟซี เปิดโรงเรียนผลิตนักเตะ ทำให้มีรายได้จากการขายนักเตะ 3-5% อีกด้วย

สำหรับเงินค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจะได้สโมสรละ 20 ล้านบาท หากได้เป็นแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีก จะได้เงินรางวัล 10 ล้านบาท ส่วนนักเตะที่มีค่าตัวสูงสุด ไม่ขอเปิดเผย เพราะเป็นความลับของทางสโมสร โดยระบุว่าเป็นนักเตะต่างชาติเท่านั้น

...

อย่างไรก็ตาม รายได้ของสโมสรชลบุรี เอฟซี เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนรายจ่ายทั้งหมด 120 ล้านบาท ขาดทุนไป 20 ล้านบาท

‘ปราสาทสายฟ้า’ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด บริหารงานโดยบริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัด มีนายเนวิน ชิดชอบ เป็นประธานสโมสร สำหรับบุรีรัมย์นั้น เป็นแชมป์เก่าไทยพรีเมียร์ลีกเมื่อปีที่แล้ว และยังสามารถคว้า 5 แชมป์ได้ในฤดูกาลเดียว ทั้ง ถ้วยพระราชทาน ก, โตโยต้า ลีกคัพ, โตโยต้า ไทยพรีเมียร์ลีก, โตโยต้า แม่โขง คลับ แชมเปี้ยนชิพ และช้าง เอฟเอคัพ 2015 อีกด้วย

บิ๊กจ้ำ นายทัดเทพ พิทักษ์พูลสิน ผู้จัดการทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ได้ให้ข้อมูลรายได้ของสโมสรว่า รายได้หลักของสโมสรมาจากสินค้าที่ระลึก 45% ประมาณ 250 ล้านบาท และอีก 45% ประมาณ 250 ล้านบาท เป็นรายได้จากสปอนเซอร์ ซึ่งสโมสรบุรีรัมย์ ถือได้ว่าเป็นสโมสรฟุตบอลที่มียอดจำหน่ายของที่ระลึกมากที่สุด โดยปี 2558 ที่ผ่านมานั้น สโมสรสามารถจำหน่ายเสื้อได้มากถึง 450,000 ตัว ส่วนฤดูกาลใหม่นี้ เพิ่งผ่านไปเพียงแค่ 4 เดือนก็สามารถจำหน่ายเสื้อได้ 350,000 ตัว ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าไว้ 550,000 ตัว ถ้าหมดก็คงไม่ผลิตเพิ่มแล้ว จำกัดเพียงเท่านั้น

ส่วนรายได้จากการขายบัตรเข้าชมนั้นไม่มาก เฉลี่ย 40-50 ล้านบาทต่อปี โดยราคาบัตรอยู่ที่ใบละ 150-200 บาท

นอกจากนี้ สโมสรยังมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์การแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีกปีละ 20 ล้านบาท แต่ในอนาคตคาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้น แต่หากสโมสรทำผลงานได้ดี ได้ครองแชมป์ในไทยพรีเมียร์ลีก ก็จะได้รับเงินอีก 10 ล้านบาท

นักเตะที่ทางสโมสรซื้อมาแพงที่สุด คือ อดุล หละโสะ จากชลบุรี เอฟซี ซื้อมาในราคา 14 ล้าน และทางสโมสรยังไม่เคยซื้อใครแพงเท่านี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นนักเตะไทยหรือต่างชาติ ส่วนเงินเดือนนักเตะที่สโมสรจะต้องจ่ายประมาณ 20 ล้านบาท

เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ทางสโมสรมีรายได้ 560 กว่าล้านบาท และเป็นปีแรกของสโมสรที่ได้กำไรเกือบ 30 ล้านบาท ส่วนใหญ่กำไรจะได้มาจากสินค้าที่ระลึกกับสโมสร และก็มีรายได้จากการแข่งขันอีกหลายรายการ เนื่องจากสโมสรได้เป็นแชมป์ในการแข่งขันอีกหลายรายการ รวมทั้งหมดประมาณ 40 ล้านบาท

‘กิเลนผยอง’ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด

สโมสรฟุตบอลเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด บริหารงานโดยบริษัท เมืองทอง ยูไนเต็ด จำกัด มีนายพงษ์ศักดิ์ ผลอนันต์ เป็นประธานสโมสร สำหรับเมืองทองฯ เป็นสโมสรยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยที่มีฐานแฟนคลับหนาแน่นเป็นอันดับ 1 ของไทย โดยมียอดผู้ติดตามในเฟซบุ๊ก 1.8 ล้านคน และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนด้วย

จากการตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ปี 2557 มีรายได้รวม 314,135,447.27 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 14,753,409.95 ล้านบาท รายจ่ายรวม 342,385,162.78 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ -35,764,213.26 ล้านบาท

เสี่ยเป้ นายรณฤทธิ์ ซื่อวาจา ผู้จัดการทีมทั่วไป สโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด กล่าวถึงรายได้หลักของสโมสรว่า ส่วนใหญ่มาจากเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ ประมาณ 200 ล้านกว่าบาท ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด 20 ล้านบาท ค่าบัตรเข้าชม และอื่นๆ เช่น เสื้อฟุตบอล ผ้าพันคอ ของที่ระลึก ประมาณ 50-60 ล้านบาท และรายได้จากการขายนักเตะอีกจำนวนหนึ่ง

ทั้งนี้ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด มีนักเตะดาวดังทีมชาติไทยอยู่มาก ทำให้ช่วยกระตุ้นเรื่องยอดขายบัตรเข้าชมเกมมากขึ้น ซึ่งแต่ละนัดที่แข่งในบ้านมีแฟนบอลเข้าชมเกม 8,000-10,000 คน ส่งผลให้ของที่ระลึก เช่น เสื้อที่เป็นเบอร์ของนักเตะทีมชาติขายดีตามไปด้วยเช่นกัน

ส่วนรายจ่ายของสโมสร แบ่งเป็นค่าการดำเนินงานต่างๆ อะคาเดมี ค่าใช้จ่ายเรื่องสนามแข่ง เงินเดือนผู้ฝึกสอน เงินเดือนนักฟุตบอล รวมทั้งสิ้นประมาณ 20 ล้านกว่าบาทต่อเดือน

สรุปรายได้ต่อปีของสโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด 300 ล้านบาท แต่ขาดทุน 5-7% ซึ่งสวนทางกับรายได้ที่ได้รับ

“สโมสรในต่างประเทศจะได้ค่าลิขสิทธิ์มากกว่า เพราะลิขสิทธิ์ถ่ายทอดไม่ได้กระจุกตัวอยู่แต่ในประเทศ แต่ยังได้เผยแพร่ไปยังประเทศอื่นๆ อีกด้วย และในประเทศไทยค่าบัตรเข้าชมถือว่าถูกมาก รวมทั้งของพรีเมียมต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน จึงทำให้รายได้ของสโมสรสวนทางกับรายจ่าย” เสี่ยเป้ แสดงความเห็น

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ตรวจสอบข้อมูลภาพรวมอุตสาหกรรม หมวดธุรกิจ กิจกรรมด้านสโมสรกีฬา พบว่า ในปี 2556 มีผู้ยื่นส่งงบการเงิน 68 ราย สินทรัพย์รวม 1,848.81 ล้านบาท หนี้สินรวม 1,261.78 ล้านบาท รายได้รวม 1,796.89 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิรวม -302.14 ล้านบาท

ขณะที่ ปี 2557 มีผู้ยื่นส่งงบการเงิน 50 ราย สินทรัพย์รวม 1,216.42 ล้านบาท หนี้สินรวม 612.46 ล้านบาท รายได้รวม 1,114.14 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ -115.32 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปีก่อน

อย่างไรก็ตาม สโมสรยักษ์ใหญ่ที่กล่าวข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่า มีงบประมาณทำทีมหลักร้อยล้านบาท ในทางกลับกันเงินที่แต่ละสโมสรจะได้ในแต่ละฤดูกาลนั้น โดยเฉพาะไทยพรีเมียร์ลีก จะมีรายได้จากการส่งทีมเข้าร่วมแข่งขัน แบ่งเป็น ค่าลิขสิทธิ์จาก บ.ทรูวิชั่นส์ฯ ​สโมสรละ 20 ล้านบาท เงินบำรุงสโมสร สโมสรละ 1 ล้านบาท และเงินรางวัลตามผลงาน แชมป์ 10 ล้านบาท รองแชมป์ 3 ล้านบาท อันดับสาม 1.5 ล้านบาท

ฉะนั้น เงินขั้นต่ำที่แต่ละสโมสรจะได้รับในการส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันไทย พรีเมียร์ ลีก ซึ่งเป็นลีกสูงสุดของประเทศไทยนั้น จะได้รับเงินขั้นต่ำเพียงสโมสรละ 21 ล้านบาทเท่านั้น ไม่รวมเงินรางวัลตามผลงานของแต่ละทีม ซึ่งสวนทางกับรายจ่ายอย่างมาก.

  • สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
    reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ