“ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง”.

“นํ้าตกเจ็ดสาวน้อย”...เป็นอุทยานแห่งชาติ ที่ได้รับการยกฐานะมาจากวนอุทยาน น้ำตกเจ็ดสาวน้อยที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2523

ดั้งเดิม...น้ำตกเจ็ดสาวน้อยได้ชื่อมาจากหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของน้ำตกชื่อว่า “บ้านเสาน้อย” เมื่อครั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาปลูกป่า สำรวจพบน้ำตกอยู่ใกล้เคียง จึงได้ตั้งชื่อว่า “น้ำตกเสาน้อย” ตามชื่อหมู่บ้าน กระทั่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “น้ำตกเจ็ดสาวน้อย” เนื่องจากมีน้ำตกจำนวน 7 ชั้น

อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อยกินพื้นที่ 25,918 ไร่ หรือราวๆ 41.5 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 2 จังหวัด...สระบุรี กับ นครราชสีมา มีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติจัดอยู่ในขั้นปานกลาง มีพันธุ์ไม้หายาก เช่น ต้นจำปีสิรินธร ต้นขะเจ๊าะใหญ่ รวมทั้งสัตว์ป่าสงวนและคุ้มครองหลายชนิด เช่น เลียงผา ตะกองหรือกิ้งก่าน้ำ

อดีต...ผืนป่าแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ป่าดงพญาไฟ” มีลักษณะเป็นป่าดงดิบผืนใหญ่ มีภูเขาลำเนาไพร ธารน้ำหลายสายที่เป็นต้นน้ำของคลองมวกเหล็ก ลำน้ำสาขาย่อยลุ่มน้ำป่าสัก

...

บางแห่ง...เป็นน้ำตกสวยงาม บางแห่ง...เป็นป่าทึบสลับซับซ้อนทอดยาวเชื่อมโยงจากป่ามวกเหล็กไปถึงป่าเขาใหญ่ กั้นเขตภาคกลางและภาคอีสาน

เมื่อปี พ.ศ.2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างทางรถไฟสายที่ยาวที่สุดเชื่อมกรุงเทพฯกับภาคอีสาน และทรงมีรับสั่งถามว่า “ป่านี้มีชื่อว่าอะไร” มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กราบทูลว่า ชื่อป่าดงพญาไฟ พระองค์ทรงสนพระทัยมากมีรับสั่งว่า “ป่านี้ชื่อน่ากลัวจริงนะ แล้วตรัสว่าให้เปลี่ยนนามใหม่เพื่อเป็นสิริมงคล ชื่อ... ป่าดงพญาเย็น เพื่อจะได้ร่มเย็นเป็นสุขแก่ผู้คนในวันหน้า”

กระทั่งปี 2499 ถึง 2500 รัฐบาลไทยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาสร้าง “ถนนมิตรภาพ” เริ่มจากสามแยกสระบุรีตัดผ่านป่าดงพญาเย็น คู่ขนานไปกับทางรถไฟในบางตอน ทำให้ผืนป่าดงพญาเย็นในเขตอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ตัดขาดจากป่าผืนใหญ่ในเขตอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

บรรยากาศโพล้เพล้...หลายคนมีประสบการณ์เรื่องเล่าเหนือธรรมชาติเกิดขึ้นที่นี่ บางคนเดินลึกเข้าไปด้านใน เล่นไปกับเพื่อนก้มหน้ามองแอ่งน้ำกลับเหมือนมีอะไรมาผลักจนเกือบตกลงไปในน้ำ ได้แต่มองหน้ากันแล้วต้องรีบเดินออกมา บางคนก็ว่า...บริเวณน้ำตกชั้นที่ 7 มีตำนานเล่าขาน มีคนไปเล่นน้ำแล้วเสียชีวิต อย่าได้ลองของเป็นเด็ดขาด...จริงไม่จริงอย่างไร ถ้าอยาก รู้คงต้องไปถามกับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลกันเอาเอง

แต่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นจริงสะท้อนให้เห็นจากเครื่องสักการบูชา “ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง” ข้างต้นตะเคียนสูงใหญ่ ริมตลิ่งธารน้ำตกเจ็ดสาวน้อย สุ้มเสียงชาวบ้านที่อยู่ไม่ห่างกันนักบอกว่า ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทองสร้างมานานแล้ว...ก่อนที่จะมาอยู่ที่นี่กันเสียอีก ส่วนใหญ่ก็จะขอกันได้ จะเห็นคนมาแก้บนซื้อผ้าชุดไทยมาถวาย แก้บน ก็แล้วแต่ใครจะขออะไร ขอโชค ขอลาภ ขอให้ร่ำให้รวย ขอหวยรวยเบอร์

“ฉันก็เคยขอ แต่เขาไม่ให้” เคยอยู่ครั้งหนึ่งมีพระมาสวดทำพิธี เอาสายสิญจน์ล้อม ก็เคยขอ...แต่ไม่เคยได้เลย มีแต่คนอื่นที่ได้โชค ได้ลาภ คนที่มาเที่ยวก็ได้กันไป ส่วนมากจะเป็นคนไกล...คน ใกล้ไม่ได้เลย

ถามว่า ที่ขอ ขออะไรบ้าง? “ก็ขอหวย ขอเลขไปสิ...โดนหวย โดนอะไร ก็ ซื้อของมาถวาย เขาจะบนอะไร ให้อะไรเขามั่ง ส่วนใหญ่ ที่มาแก้บนก็จะเป็นชุดไทย ของกิน ผลไม้ บนอันไหนไว้ก็มาไหว้...ให้โชคให้ลาภ เสื้อผ้า สร้อย เป็นชุดๆไปไว้ตั้งแต่แรก...แต่เรื่องทำมาหากินยังไม่เคยขอ”

มีโอกาสได้คุยกับ “แม่ใหญ่ไม้” อายุ 86 ปี อยู่ที่นี่มานาน อายุเท่าต้นมะพร้าว ต้นมะขาม ที่สูงเลยหัวไปเท่าตึกหลายชั้นแล้ว ถามว่า...อยู่มาหลายสิบปี 70-80 ปีเข้าไปแล้ว อายุขนาดนี้เจอเรื่องเร้นลับบ้างไหม?

...

“ไม่เคยเจอ ไม่เคยเห็น” แม่ใหญ่ไม้ว่าอย่างนั้น

แรกๆทำมาหากินอยู่ตรงนี้ เก็บของขาย บ้านอยู่ตรงนี้ ก็ไม่มีอะไร กลางค่ำกลางคืนก็ไม่มีอะไร ไม่เห็นมีเรื่องราวลึกลับน่ากลัวอะไรเกิดขึ้นเลย พูดง่ายๆว่า “ไม่เคยเห็นผี สาง วิญญาณ”

สำหรับโชคลาภส่วนใหญ่ที่ได้กัน แม่ใหญ่ไม้ยืนยันว่ามักจะเป็นของคนไกลที่มาบน มาขอ คนก็มาเที่ยวกันเยอะ และเมื่อถามว่าเชื่อเรื่องเร้นลับไหม แกตอบสั้นๆว่า “ไม่รู้...ไม่บอก” แล้วก็นั่งแกะฝักมะขามต่อไป

ปาฏิหาริย์ ศรัทธา ความเชื่อ... ทุกผืนป่า เทือกเขา ลำเนาไพร มีบางอย่างที่เราๆท่านๆไม่สามารถพิสูจน์ได้ ไม่เชื่อ...อย่าลบหลู่เด็ดขาด.

รัก-ยม