นายชาญชิต นาวงศ์ศรี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานได้สั่งการให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตกระแสไฟฟ้าโดยแก๊สชีวภาพหรือไบโอแก๊ส เพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ กฟผ.และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือ กฟภ.ระงับการทำสัญญาซื้อขายระหว่างโรงงานกับการไฟฟ้าฯทั้ง 2 แห่งไว้ก่อน ยกเว้นในโรงงานใน 4 จังหวัดชายแดนใต้นั้น

นายชาญชิตเผยว่า คำสั่งดังกล่าวทำให้โรงงานสกัดปาล์มน้ำมันใน จ.กระบี่ หลายโรงที่ได้ลงทุนสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยไบโอแก๊สประสบความเดือดร้อน จึงได้ร้องทุกข์มายังสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ ตนจึงได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจหรือ กรอ. จังหวัดกระบี่เมื่อเร็วๆนี้เพื่อพิจารณานำเสนอต่อ กรอ.ส่วนกลาง เป็นข้อมูลให้รัฐบาลทราบ

ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่เผยต่อว่า อีกทางหนึ่งตนได้แจ้งต่อนายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายก อบจ.กระบี่ ในฐานะอนุกรรมการไตรภาคี ที่กำลังดำเนินการเรื่องการรวบรวมข้อมูลด้านการสร้างพลังทดแทนร่วมกับตัวแทนกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ กฟผ. ให้นำเรื่องความเดือดร้อนแจ้งต่อคณะกรรมการไตรภาคีได้รับทราบด้วย สำหรับเรื่อง กฟผ.รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มในจังหวัดกระบี่ไปผสมกับน้ำมันเตาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้านั้น นายชาญชิตกล่าวว่า เนื่องจากช่วงนี้ราคาผลปาล์มสูงขึ้นถึง กก.ละ 5.50 บาท และน้ำมันปาล์มดิบราคา กก.ละ 29-30 บาท ทาง กฟผ.จึงหยุดซื้อไว้ก่อนเพราะนโยบายการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบก็เพื่อช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนปาล์มในกรณีราคาผลปาล์มลดต่ำลง กก.ละ 4.20 บาท และน้ำมันปาล์มดิบลดลงต่ำกว่า กก.ละ 25 บาท

“ปัญหาใหม่ของชาวสวนปาล์มก็คือ การอนุญาตให้ชาวสวนยางที่ต้องการปลูกแทน เปลี่ยนจากสวนยางพาราเป็นสวนปาล์มได้ เพื่อลดปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมัน ซึ่งอีก 5-6 ปีอาจเกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพปาล์มน้ำมันก็เป็นได้” นายชาญชิตกล่าวในที่สุด.

...