10 เมษายนของทุกปี เป็น “วันยางพาราแห่งชาติ” มีมาแล้ว 12 ปี แต่ปีนี้จะเป็นปีแรกที่หน่วยงานด้านยางพาราของไทย 3 หน่วยงาน ได้ถูกควบรวมให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้ชื่อ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้มาทำหน้าที่จัดงานยางพาราแห่งชาติปีนี้ 9-10 เม.ย.59 ที่จังหวัดตรัง พื้นที่ปลูกยางต้นแรกของประเทศ ไทย...ภายใต้สถานการณ์ราคายางไม่สู้ดีนัก

“แม้ว่ายางพาราจะเผชิญกับปัญหาราคาตกต่ำ จากภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันปรับลดลง แต่ยางพารายังเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อประเทศ มีเกษตรกรปลูกยางจำนวนมาก หลายล้านครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกทั่วประเทศกว่า 22 ล้านไร่ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ผลักดันมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งกู้วิกฤติให้เกิดความยั่งยืน ทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหน่วยงานใหม่ มีโครงการแก้ไขปัญหายางพาราตามแนวทางพัฒนายางพารา 15 โครงการ เป็นแผนระยะกลางและแผนระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนายางพาราทั้งระบบ โดยเฉพาะการแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ยาง มากกว่าการที่จะส่งออกเป็นสินค้าวัตถุดิบป้อนโรงงานเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ยังมีแผนระยะสั้น เฉพาะหน้าเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น”

...

นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้ว่าการ กทย. ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันยางพาราแห่งชาติ ประจำปี 2559 เผยว่า การจัดงานวันยางแห่งชาติในปีนี้ จึงมีเป้าหมายต้องการสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรยางพาราที่ถูกต้อง และส่งเสริมการขับเคลื่อนประชารัฐแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในด้านการพัฒนายางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล

และต้องการให้เกษตรกรมีความภาคภูมิใจในอาชีพการทำสวนยางพารา ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญของการแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรม การตลาด ตลอดจนการพัฒนาสถาบันเกษตรกร

ดังนั้น การจัดงานในปีนี้จึงเน้นสัมมนาวิชาการเรื่อง “เสริมความรู้เพิ่มมูลค่า สร้างสังคมยางพาราอย่างยั่งยืน” ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ ณ โรงแรมธรรมรินทร์ธนา จังหวัดตรัง โดยมีการเชิญเกษตรกร ตัวแทนจากสถาบันเกษตรกร ตัวแทนผู้ประกอบธุรกิจยางพาราและผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้มาบรรยายเรื่อง การส่งเสริมบทบาทผู้แทนเกษตรกรและผู้แทนสถาบันเกษตรกร ในการดำเนินงานส่งเสริมความรู้ด้านการพัฒนาสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง การส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและการตลาดยางพารา การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทางเลือก Green Rubber Energy เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม การแปรรูปผลผลิตด้านยางพารา เพิ่มมูลค่าผลผลิต เพื่อให้การพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราเป็นไปได้อย่างยั่งยืน.


ชาติชาย ศิริพัฒน์