พูดถึง “สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง” (Climate Change) หรือ “ภาวะโลกร้อน” เป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังพยายามชะลอหรือแก้ปัญหา เพราะต่างตระหนักกันแล้วว่าภัยพิบัติธรรมชาติทั้งพายุ น้ำท่วมและภัยแล้งนับวันหนักหนาสาหัสซึ่งล้วนเป็นผลมาจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น
ที่ผ่านมา ได้มีประชุมระดับโลกหลายเวที แต่ล้วนไร้ผล เพราะติดขัดการพัฒนาเศรษฐกิจ
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีหวัง! การประชุมภาวะโลกร้อนครั้งล่าสุดที่กรุงปารีสของฝรั่งเศสเมื่อปีที่แล้ว เห็นชอบเพื่อรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส (จากระดับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม) และเมื่อเร็วๆนี้ สหรัฐฯและจีนเพิ่งตอบโอเค (เสียที) ว่าจะลงนาม “ข้อตกลงปารีส” ในที่ประชุมที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ใน 22 เม.ย.นี้
เมื่อพี่ใหญ่ 2 คน ขยับ! ประเทศอื่นๆก็คงเซ็นไม่ยาก
และก็บังเอิญได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงด้านภัยพิบัติสำหรับบุคลากรด้านสื่อมวลชน” ที่กรมประชาสัมพันธ์ (30-31 มี.ค.) เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บสื่อมวลชนให้รายงานข่าวด้านนี้อย่างถูกต้อง (มากขึ้น)
การประชุม 2 วันถือว่าไม่มากไม่น้อยได้ทั้งความรู้พื้นฐานเรื่องภาวะโลกร้อนและอัพเดต ข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยมีทีมวิทยากรจาก สนง.ว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNISDR) และศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC)
แต่ที่ถือว่าทั้งสนุกและได้ความรู้ประสบการณ์ เฉพาะหน้าก็คือการได้ทำงานกลุ่มย่อย ให้รายงานข่าวเรื่องภัยพิบัติตามเวลาที่กำหนดให้ (สั้นๆ) แต่ละ กลุ่ม (ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรของกรมประชาสัมพันธ์ทั้งสื่อวิทยุและโทรทัศน์) ต่างงัดวิชามาสู้กันแบบไม่มีเม้มเพราะมีประสบการณ์อยู่แล้ว งานนี้เลยทั้งฮา เพื่อนๆทั้งลุ้นว่าเมื่อไหร่จะถึงคิวตัวเอง
...
ส่วนตัวผู้เขียนที่ไปจากสื่อหนังสือพิมพ์ก็ยอมรับ (ตรงๆ) ว่า รายงานข่าวไม่เก่งเท่าคนของกรมประชาสัมพันธ์ จึงได้แต่ช่วยแชร์ไอเดียซึ่งขายได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนและลับสมอง ปรับภูมิทัศน์ความรู้เพิ่มเติมที่ต้องรายงานหรือเขียนข่าวนี้แบบครอบคลุมทั้งข้อมูลจริง ข้อมูลจากทางเจ้าหน้าที่รัฐและข้อมูลอื่นๆ
และเชื่อแน่ว่าเพื่อนร่วมประชุมเวิร์กช็อปน่าจะหอบความรู้กลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง ได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ เพื่อว่าเรื่องนี้จะไม่ถูกมองเป็น (แค่) เรื่องวิชาการอีกต่อไป.
เกรียงศักดิ์ จุนโนนยางค์