ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ประกาศว่าประเทศไทยจะลงทุนเอง ในโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย–จีน ระหว่าง กทม.ถึงนครราชสีมาเป็นระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร โดยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีจากจีน หลังจากที่ไทยกับจีนไม่สามารถตกลงกัน ในการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายหนองคายถึงมาบตาพุด แม้จะเจรจากันมานับสิบๆรอบ

รัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือการก่อสร้างรถไฟรางคู่มาตรฐาน จากหนองคาย– แก่งคอยถึงมาบตาพุด ระยะทาง 734 กิโลเมตร และจากแก่งคอยถึง กทม. 135 กม. โดยทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ จะเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ต้นปี 2558 ถึง 2565 ในช่วงของความสัมพันธ์อันดี ระหว่างรัฐบาล คสช.กับรัฐบาลจีน แต่จนล่วงเลยปีใหม่ 2559 แล้วก็ยังไม่มีอะไร

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน สร้างความตื่นเต้นและฝันหวานในประเทศไทยมาเป็นเวลานานหลายปี ตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และจนถึงรัฐบาล คสช. รัฐมนตรีคมนาคมเคยเปิดเผยว่าฝ่ายจีนรับประกัน รถไฟความเร็วสูงในไทยจะเป็นทางรถไฟมาตรฐาน ใช้อุปกรณ์คุณภาพสูง เทคโนโลยีสูง และความเร็วสูงสุด เป็นแบบอย่างโครงการอื่นๆ ในคาบสมุทรอินโดจีน

แต่นั่นเป็นเพียงความตกลงในหลักการ ที่ทำให้คนไทยฝันหวานในความใจดีของจีน ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีใหม่ แต่การเจรจาในรายละเอียดที่ตามมาหลายรอบ ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ในหลายประเด็น จนรัฐบาลไทยประกาศจะลงทุนเองทั้งหมด แต่เป็นเพียงสาย กทม.–โคราช มีเสียงวิจารณ์ว่าจะคุ้มค่าการลงทุนกว่าแสนล้านบาทหรือไม่?

ในการเจรจารอบสุดท้าย ฝ่ายไทยเสนอให้จีนลงทุน 70% ส่วนไทยร่วมลงทุน 30% และจีนได้ยื่นเงื่อนไขขอใช้สิทธิประโยชน์ตลอดแนวสองข้างทาง โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟ จึงทำให้ฝ่ายไทยตัดสินใจจะลงทุนเอง เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความไม่สำเร็จ ในโครงการร่วมมือสองฝ่าย และยังมีปัญหาการแบ่งปันการใช้นํ้าในแม่นํ้าโขงที่ยังคาใจอยู่

...

บรรดาประเทศในลุ่มแม่นํ้าโขง ไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ต่างยอมรับว่าจีนซึ่งเป็นอภิมหา-อำนาจใหม่ เป็น “จ้าว” แห่งแม่นํ้าโขง เพราะไหลผ่านดินแดนจีนเป็นระยะทางยาวไกล จีนจึงสร้างเขื่อนกั้นนํ้าโขงอย่างน้อย 6 เขื่อน ส่งผลกระทบต่อปริมาณนํ้าที่ไหลลงสู่ประเทศต่างๆในตอนล่าง แต่ไม่มีประเทศใดกล้าเอะอะโวยวาย

กล่าวกันว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” มีแต่ผลประโยชน์เท่านั้นที่นิรันดร ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์กันมาช้านาน ในประวัติศาสตร์ แต่กลายเป็นปฏิปักษ์ในยุคสงครามเย็น หลังจากที่จีนเปลี่ยนแปลงเป็นคอมมิวนิสต์ แต่กลับมาฟื้นฟูสานสัมพันธ์กันอีกครั้ง เมื่อปี 2518 และดำเนินมาด้วยดี และหวังว่าจะดีตลอดไปเพื่อผลประโยชน์ที่นิรันดร.