ตั้งแต่เกิดมาก็เพิ่งจะเคยได้ยิน...ว่าในโลกนี้ มีการกล่าวถึง “เมาหลังขับ” ในสำนวนคดีขับรถชนคนตาย!?!...ใช่แล้วคดีที่ว่าคือ คดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเจ้าสัวหมื่นล้าน เจ้าของ “กระทิงแดง” ที่ก่อเหตุขับรถหรูพุ่งชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ ป.สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2555

คดีนี้กลายเป็นเรื่องอื้อฉาว เมื่อตำรวจ สน.ทองหล่อ รายหนึ่ง ได้พาพ่อบ้านของทายาทเศรษฐีมามอบตัว กระทั่ง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีต ผบช.น. พาเจ้าหน้าที่ไปล้อมบ้าน กระทั่งตามเรื่องและดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุตัวจริง และมีการแจ้งข้อหาหนักหลายข้อ ประกอบด้วย 1.ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย 2.ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด 3.ขับรถขณะมึนเมาสุรา และ 4.ไม่หยุดให้ความช่วยเหลือและแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที

คดีทายาทกระทิงแดง ขาดอายุความ อึ้งสำนวน "เมาหลังขับ" 

ซึ่งล่าสุด มีคำยืนยันจาก นายสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดว่า คดีขาดอายุความไปแล้ว 2 คดี คือ ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย และขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยขาดอายุความไปเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2556 ซึ่งทนายความของนายวรยุทธได้ขอเลื่อนนัด เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2556 โดยอ้างว่า นายวรยุทธ อยู่ที่สิงคโปร์และป่วยกะทันหัน อัยการเห็นว่ามีพฤติการณ์ประวิงคดี จึงแจ้งพนักงานสอบสวน ขอศาลออกหมายจับ นายวรยุทธ แต่ นายวรยุทธ ก็ร้องขอความเป็นธรรมอีกหลายครั้ง พร้อมขอชะลอการออกหมายจับ ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้ออกหมายจับตามที่อัยการแจ้ง...

...

ขณะเดียวกัน พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. ก็ยอมรับตรงๆ ว่า ดุลยพินิจของตำรวจที่รับผิดชอบสำนวน "ไม่ปกติ" มีปัญหา

"มีอย่างที่ไหนแจ้งข้อหา 4 ข้อหา คดีง่ายๆ ใช้เวลาถึง 6 เดือน คดีความผิดขับรถเร็ว อัตราโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่ปรากฏว่าสอบไปสอบมากลายเป็นเชื่อพยานปากอื่นว่าขับไม่เร็ว ทั้งที่ผู้ชำนาญการตรวจพิสูจน์ว่าเร็ว เลยสั่งไม่ฟ้อง ปล่อยให้คดีหมดอายุความ อย่างนี้ถือว่าทำสำนวนตรงไปตรงมาหรือไม่ ทำไมถึงให้เหตุผลแบบนั้น รวมทั้งกรณีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในข้อหาเมาแล้วขับ ตำรวจที่รับผิดชอบสำนวนให้เหตุผลเมาหลังขับ เพราะผู้ต้องหาดื่มเหล้าหลังเกิดเหตุเพราะกลุ้มใจ ถามว่าผิดหรือไม่เมาหลังขับ ลองพิจารณาว่าดุลยพินิจปกติหรือไม่" พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าว

ผู้การวิสุทธิ์ วิจารณ์เผ็ดร้อน "เมาหลังขับ" แจ้งแบบมี "ลูกเล่น"

ทั้งนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับอดีตตำรวจฝีปากกล้า ที่ท้าชนทุกเรื่อง โดย พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร อดีต รอง ผบช.ภ.9 กล่าวอย่างเผ็ดร้อนถึงเรื่อง "เมาหลังขับว่า" ว่า โอ๊ย...ตามกฎหมายมันไม่มี แต่การเขียนสำนวนแบบนี้ทำให้อัยการฯ งง แบบนี้เขาเรียกว่า “มีลูกเล่น”

“ตามหลักพนักงานสอบสวนย่อมรู้อยู่แล้วว่ามีข้อหาอะไรที่ตั้งได้ ส่วนการจะแจ้งข้อหาใครนั้น 1.ต้องมีกฎหมายบัญญัติ ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด 2.ต้องกำหนดโทษไว้ ด้วยองค์ประกอบ 2 ข้อนี้ จึงทำให้การกระทำผิดความผิดแล้วสามารถลงโทษได้ แต่หากบัญญัติว่าเป็นความผิดแต่ไม่มีบทลงโทษ ก็ไม่สามารถลงโทษได้ ดังนั้น หากสมมติว่าใครทำผิด แล้วกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดและมีโทษ เราก็จะต้องลงโทษตามกฎหมายไป”

อดีตนายตำรวจผู้ห้าวหาญกล่าวต่อว่า การทำลักษณะนี้ หากผมเป็นอัยการฯ แน่นอนว่าต้องให้พนักงานสอบสวนมาสอบข้อมูลเพิ่มเติม คุณแจ้งข้อหา “เมาหลังขับ” มันผิดตรงไหน...? มีกฎหมายบัญญัติหรือไม่...?

เชื่อหวัง ชะลอคดี ถามสั้นๆ "ใครได้ประโยชน์!?"

“ข้อหานี้ไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมาย ฉะนั้น ผมก็เมาหลังขับมาโดยตลอด ทำไมล่ะ...ผมขับรถถึงบ้านจะเมา ก็เรื่องของผม! แต่การให้ความเห็นแบบนี้มันเป็นลูกเล่น ทำให้เกิดความสับสนในสำนวน มองว่าเป็นการเข้าข่ายเป็นการ “ชะลอคดี” เพราะอัยการฯ ก็ต้องกลับไปถามว่า เฮ้ย...คุณชี้ชัดในคดีสิ ว่ามันเป็นข้อหาอะไร อยู่พระราชบัญญัติอะไร...

...

การทำคดีรถชนคนตาย ส่วนใหญ่ใช้เวลาแค่ไหน...ผู้การวิสุทธิ์ บอกว่า ตามกฎหมายเขาไม่ได้บอกว่า การทำงานในแต่ละคดีจะมีเวลาแค่ไหน แต่หลักของกฎหมายระบุว่า ไม่ว่าเกิดคดีอะไรขึ้น พนักงานสอบสวนต้องเร่งรวบรวมพยานหลักฐานแล้วส่งฟ้องให้เร็วที่สุด แต่นอกเหนือจากนี้ ยังมระเบียบกระทรวงมหาดไทย คำสั่งของตำรวจฝ่ายต่างๆ เช่น นครบาล ว่า ไม่ว่าคดีอะไรจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในกี่วัน หากไม่เสร็จ ก็ให้ขอขยายเวลาเป็นกี่วัน แต่ไอ้คดีที่ทำแบบ 3-4 ปี แล้วไม่เสร็จ “มันเป็นไปไม่ได้!”

พล.ต.ต.วิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า ขนาดหลังเกิดเหตุ ยังมีคนมาเคลียร์ เอาพ่อบ้านมารับโทษแทน แล้วก็ปล่อยมา 3 ปีกว่า แต่สำหรับคดีกระทิงแดง ขอบอกว่า คดีนี้มันซวย เพราะเกิดคดีเบนซ์ชนฟอร์ด หากไม่มีเรื่องนี้ ก็ไม่มีใครพูดถึง...

“ต่อไปนี้ ข้าราชการไทยที่มีอำนาจให้คุณให้โทษกับประชาชนและอยู่ใกล้ชิดกับประชาชน โดยเฉพาะตำรวจ ต่อแต่นี้ไปจะไม่กลัวผู้บังคับบัญชา กลัวอย่างเดียวคือ กล้องและโทรศัพท์มือถือ...!?” ผู้การวิสุทธิ์ กล่าวพร้อมหัวเราะ แล้วกล่าวต่อว่า คดีนี้ มาซวยเพราะกล้องหน้ารถที่ถ่ายรถเบนซ์ชนฟอร์ด

...

หากจะถามความเห็นว่า คดีนี้เป็นอย่างไร ผมขอบอกเลยว่า การตั้งข้อหาแบบนี้ เป็นการตั้งข้อหาที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ แต่ก็ตั้งไปเพื่อที่จะให้ระยะเวลายืดยาวออกไป เมื่ออายุความยืดยาวออกไปจนขาดอายุความ ถามว่าใครได้รับประโยชน์...!?!

ทำไมกระบวนการถึงเป็นเช่นนี้...? เมื่อผู้สื่อข่าวถามคำถามนี้ยังไม่ทันจบ พล.ต.ต.วิสุทธิ์ กล่าวด้วยน้ำเสียงเข้มแบบจริงจังว่า ประเทศไทยเรา บางคนบอกมี 2 มาตรฐาน แต่ผมขอบอกว่า “ไม่ใช่” แต่กฎหมายบ้านเรา “ไม่มีมาตรฐาน” กฎหมายบ้านเราจะบังคับใช้ลงโทษได้กับชาวบ้านจนๆ กับ ผู้ที่ไร้เส้นสาย อำนาจ และที่สำคัญ คือ นามสกุลใหญ่ หรือ ดัง หากได้รับแจ้ง ก็เป็นต่อไปแล้วครึ่งหนึ่ง...นี่คือเรื่องจริง จากนั้น เมื่อเรื่องเงียบ ทุกอย่างก็ค่อยๆ จางหายไป

นายกสภาทนาย มึน "เมาหลังขับ" ตั้งข้อหาแบบนี้ได้ไง...

นอกจากนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ยังได้สอบถามไปยัง นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถึงกรณี "เมาหลังขับ" นายเดชอุดม กล่าวว่า ตนไม่รู้ว่าเขาจะไปตั้งข้อหาแบบนี้ได้ยังไง เพราะก็เพิ่งเคยได้ยิน และไม่รู้ว่าเขากล่าวถึงในบริบทของกฎหมายอะไร

...

"ที่จริงแล้วคำว่า "เมาหลังขับ" เขาหมายถึงอะไร ในรถ นอกรถหรืออะไร ที่สำคัญ คือ ต้องไปดูที่มาของมันก่อน ว่าเขาเขียนมาทำไม ทำไมเขาถึงสรุปว่าเป็น "เมาหลังขับ" เพราะก่อนสรุปอะไรก็ตาม เขาต้องได้ข้อเท็จจริงมาก่อน ไม่รู้ว่าเขาจะไปใช้กับกฎหมายอะไร"

เมื่อถามว่า การเขียน "เมาหลังขับ" จะเป็นการยืนยันหรือไม่ว่า เขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย "เมาแล้วขับ" นายกสภาทนาย กล่าวว่า ตนไม่ทราบ

ปล่อยคดีหมดอายุความ เอาผิดกับเจ้าหน้าที่ได้ 

เมื่อถามว่า การที่พนักงานอัยการส่งฟ้องช้า จนคดีหมดอายุความ ญาติผู้เสียหายเอาผิดได้ไหม นายเดชอุดมกล่าวว่า ต้องดูข้อเท็จจริงว่ามีการร้องทุกข์กล่าวโทษพนักงานสอบสวนส่งสำนวนมาหรือไม่ พนักงานอัยการหรือไม่ ซึ่งตามระเบียบอัยการที่ส่งฟ้องไม่ทัน ก็มีบทลงโทษอยู่ หรือ ฝั่งที่เป็นเจ้าทุกข์ ก็สามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ได้ หากเขาทำผิดในเรื่องกระบวนการยุติธรรม แล้วเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก็สามารถดำเนินการได้ในช่องนี้ แต่ถ้าเรื่องไม่ร้ายแรงถึงขั้นนั้น ก็อาจจะต้องทำรายงานในการทำผิดทางวินัย ส่วนญาติผู้เสียหายเรียกร้องค่าเสียหายได้หรือไม่นั้น หากเป็นการละเมิดสิทธิ์ ก็สามารถเรียกได้ ส่วนจะแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการ เพราะระบบยุติธรรมไทย ไม่มีเรื่องการค้ากำไร ไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหายแบบต่อเนื่อง ค่าเสียหายทางจิตใจ แต่ก็ได้น้อยมาก แตกต่างจากต่างประเทศ ที่มีการให้ค่าเสียหายเชิงลงโทษ

• สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ 
สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ 
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ