เรื่องกฎระเบียบหรือขั้นตอนการติดต่อกับภาครัฐดูจะเป็นปัญหาใหญ่ไม่น้อยหน้ากันในกลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) 10 ประเทศที่เข้า สู่การเป็นประชาคมอาเซียนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

โดยในส่วนของอินโดนีเซียที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียนก็มีความห่วงใยเรื่องนี้ไม่น้อย กระทั่งมีเสียงเตือนเชิงชี้แนะจากคนในชุมชนธุรกิจที่พูดให้เห็นปัญหานี้ดังๆกันเลย

นายอันโทเนียส โจโนส ซูพิต รองประธานหอการค้าและอุตสาหกรรม (คาดิน) ของอินโดนีเซีย ระบุว่า “รัฐบาลอินโดนีเซียต้องยกระดับ ปรับกระบวนการขอใบอนุญาตทำธุรกิจให้ง่ายและกระชับขึ้นเพื่อเสริมบรรยากาศการลงทุน”

“ประธานาธิบดีโจโก “โจโกวี” วิโดโด ต้องผลักดันดำเนินการแผนอย่างต่อเนื่องอย่าได้ขาด เพื่อทบทวนหรือแก้ไขกฎระเบียบประมาณ 400 อย่าง เพื่อช่วยให้ถึงเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศให้ไต่ระดับสูงขึ้นจากที่ 109 ไปอยู่ลำดับที่ 40 ของโผอันดับประเทศทำธุรกิจง่ายของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)” อันโทเนียสเสริม และว่า “ปัจจุบัน คนที่ต้องการเริ่มทำ ธุรกิจใหม่ (ในอินโดนีเซีย) ต้องวิ่งขออนุญาตกว่า 13 ขั้นตอนซึ่งใช้เวลา 47 วัน กว่าจะรู้เรื่อง”

นายอันโทเนียสยังพูดถึงบรรยากาศการแข่งขันระหว่างกลุ่มสมาชิกอาเซียนด้วยกัน โดย เฉพาะการพยายามหาทางดึงดูดโกยเม็ดเงินลงทุน ต่างชาติด้วยว่า “อินโดนีเซียมีคู่แข่งสำคัญในภูมิภาคอาเซียนในการแย่งชิงนักลงทุนคือ เวียดนามและ ฟิลิปปินส์ ส่วน เมียนมา จะกลายเป็นคู่แข่งที่มีศักยภาพอีกหนึ่งประเทศในเร็วๆนี้”

นายอันโทเนียสยังพูดถึงแนวโน้มของเมียนมาด้วยว่า พวกเราควรหันมาสนใจเมียนมา เพราะหลังพรรคการเมืองของ นางอองซาน ซูจี ชนะเลือกตั้งได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลก็มีการผ่อนคลายนโยบายต่างๆ เดี๋ยวนี้ชาวต่างชาติสามารถซื้อหาครอบครองอพาร์ตเมนต์ในเมียนมาได้ และในอนาคต บริษัทต่างชาติอาจสามารถซื้อที่ดินได้

...

และเมื่อพูดถึงประเภทการลงทุนที่จำเป็นต่อประเทศช่วงนี้ นายอันโทเนียสระบุว่า อินโดนีเซียควรเน้นการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่ใช้แรงงานให้มากเป็นพอ

เรื่องผลประโยชน์ของประเทศอย่างนี้ จึงเป็นธรรมดาที่จะเกิดการแข่งขันขึ้นแม้จะอยู่ในอาเซียนด้วยกัน แต่อีกทางก็ถือว่าเป็นเรื่องบวก เพราะการแข่งขันทำให้เกิดการพัฒนานั่นเอง.

เกรียงศักดิ์ จุนโนนยางค์