โฆษกศาลยุติธรรม แจงขั้นตอน ม.มหิดล–สกอ. รอนัดประชุมเจ้าหนี้ - ยื่นคำขอรับชำระหนี้ใน 2 เดือน หลังศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด "หมอดลฤดี" อดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมเด็ก

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 59 นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงขั้นตอนภายหลังศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งวันที่ 14 มี.ค. 59 ให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของ น.ส.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ที่สหรัฐฯ ตามคำขอของมหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ยื่นฟ้อง เพื่อให้ น.ส.ดลฤดี ชำระหนี้ทุนการศึกษาว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว น.ส.ดลฤดี เจ้าของทรัพย์ ไม่อาจโอน จำหน่าย และจัดการทรัพย์ของตน แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะเป็นผู้จัดการดูแลรวบรวมทรัพย์นั้นแต่เพียงผู้เดียว ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22

โดยหลังจาก น.ส.ดลฤดี ในฐานะลูกหนี้ ได้รับคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของศาลแล้วภายในเวลา 7 วัน ต้องไปพบพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับทรัพย์สิน และเหตุผลที่ทำให้มีหนี้สิน แต่ถ้าลูกหนี้ไม่อยู่หรือไม่สามารถทำคำชี้แจงได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเป็นผู้ทำแทน ตาม ม.30 จากนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก เพื่อปรึกษาวิธีการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ว่าจะประนีประนอมกันได้หรือไม่ หรือต้องขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ตาม ม.31 ขั้นตอนนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ กำหนดวัน เวลา สถานที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบ ขณะที่คดีนี้ ม.มหิดล และ สกอ. ฐานะเจ้าหนี้ทั้งสอง จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลา 2 เดือน

...

นับจากวันที่มีการโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตาม ม.91 เพื่อให้ศาลพิจารณาและมีการไต่สวน ก่อนจะมีคำสั่งว่าอนุญาตให้รับชำระหนี้แต่ละรายหรือไม่ เท่าใด เต็มจำนวนหรือบางส่วน ตาม ม.107 ซึ่งกระบวนการที่สำคัญคือ การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย ศาลต้องออกหมายเรียกจำเลยให้มาศาล เพื่อสอบถามถึงมูลเหตุที่ทำให้ตกเป็นหนี้ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางว่าเพราะเหตุใดถึงไม่มีทรัพย์สินในการชำระหนี้ แต่ถ้าจำเลยไม่มาศาลถือเป็นการขัดขืนหมายเรียกศาลจะมีคำสั่งออกหมายจับ

นายสืบพงษ์ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ศาลจะมีคำพิพากษาลูกหนี้ล้มละลาย เมื่อปรากฏเหตุตาม ม.61 ว่า หลังจากการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและหลังจากการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานให้ศาลทราบว่า ไม่มีเจ้าหนี้มาประชุม ไม่มีการประนอมหนี้ ไม่มีการลงมติใดแล้ว ให้ศาลพิพากษาลูกหนี้ล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการแบ่งทรัพย์สินให้เจ้าหนี้ทั้งหลาย.