ความแห้งแล้งทวีความรุนแรง ต้นไม้ใบหญ้าเหี่ยวเฉา ไม่ผลิดอกออกยอดแตกใบอ่อน แมลงศัตรูพืชอดอยาก ไม่มีอาหารกินต้องเผยตัวออกจากที่หลบซ่อน

“หนอนด้วงหนวดยาว” แม้จะกบดานใช้ชีวิตอยู่ใต้ดินนาน 1-2 ปี ซอกซอนแทะหาอาหาร กัดกินน้ำหล่อเลี้ยงรากต้นไม้ มาวันนี้ความแห้งแล้งได้ทำให้รากอ้อย อาหารชั้นเลิศเริ่มไม่หวาน ฝูงหนอนด้วงหนวดยาวอพยพออกจากใต้ดิน

ชาวไร่อ้อยทุกข์ 2 เด้ง แล้งน้ำ-หนอนด้วงโผล่

คืบคลานกัดกินอ้อยตั้งแต่ราก กอ กระทั่งต้นอ้อย สร้างความเดือดร้อนให้ชาวไร่อ้อยเขต 7 ในพื้นที่ อ.โพธาราม, อ.จอมบึง จ.ราชบุรี และ อ.ท่าม่วง, อ.ด่านมะขามเตี้ย และอีกหลายอำเภอใน จ.กาญจนบุรี เป็นพื้นที่ 30,000 ไร่...การกำจัด เกษตรกรส่วนใหญ่มักใช้วิธีเปิดไฟล่อให้ด้วงและแมลงศัตรูชนิดอื่นมาเล่นไฟ แล้วจับทำลาย

ชาวไร่อ้อยทุกข์ 2 เด้ง แล้งน้ำ-หนอนด้วงโผล่

...

แต่เป็นวิธีที่ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร บอกว่า ผิด...ทำไปไม่ได้ผล เพราะตัวเต็มวัยของด้วงหนวดยาวที่มาเล่นไฟ ส่วนใหญ่ได้มุดเข้าไปวางไข่ในดินเรียบร้อยแล้ว แต่ละครั้งตัวเมียสามารถวางไข่ได้ 400 ฟอง ภายในระยะ 17 วันจะฟักตัวจากไข่กลายเป็นตัวหนอน และมีชีวิตอยู่ใต้ดิน 1-2 ปี

ชาวไร่อ้อยทุกข์ 2 เด้ง แล้งน้ำ-หนอนด้วงโผล่

“สภาพดินลักษณะดินร่วนปนทรายด้วงหนวดยาวจะเข้าทำลายสูงกว่าแปลงที่เป็นดินเหนียว และแปลงปลูกอ้อยที่มีการให้น้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอ้อยตอ หลังจากตัดอ้อยส่งโรงงานแล้ว เกษตรกรมักจะเร่งให้น้ำใส่ปุ๋ยเพื่อให้อ้อยแตกกอโตไว แต่ถ้าในพื้นที่มีหนอนด้วงหนวดยาวอาศัยอยู่ใต้ดิน การให้น้ำอ้อยจะยิ่งเร่งให้ฝูงหนอนด้วงใต้ดินขึ้นมาหากินกัดแทะดูดน้ำหล่อเลี้ยงอ้อยได้เร็วขึ้น”

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรแนะวิธีที่ถูกต้อง ใช้วิธีกลไถพรวนก่อนปลูก แล้วเก็บหนอนตามรอยไถ โดยเฉพาะในช่วง มี.ค.-เม.ย. หนอนด้วงหนวดยาวจะมีขนาดใหญ่เห็นได้ด้วยตาเปล่า

ชาวไร่อ้อยทุกข์ 2 เด้ง แล้งน้ำ-หนอนด้วงโผล่

อีกวิธีป้องกันกำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ ใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม โรยบนท่อนพันธุ์สำหรับแปลงอ้อยใหม่พร้อมปลูก...ส่วนแปลงตออ้อย ให้เปิดร่องอ้อยโรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมให้ชิดกออ้อยแล้วกลบดิน

เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมดังกล่าว จะมีผลทำให้หนอนค่อยๆเบื่ออาหารและแห้งตาย

ชาวไร่อ้อยทุกข์ 2 เด้ง แล้งน้ำ-หนอนด้วงโผล่

แต่ถ้าหาเชื้อราเขียวไม่ได้ ให้ใช้ สารฟิโพรนิลชนิดน้ำ ผสมอัตรา 80 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือ 320 มิลลิลิตร/ไร่ ฉีดพ่นบนท่อนพันธุ์พร้อมปลูก สำหรับอ้อยเปิดหน้าดินใหม่ (อ้อยปีแรก)...แต่ถ้าเป็นอ้อยแปลงเก่า (อ้อยตอ) ใช้วิธีเปิดร่องอ้อยแล้วฉีดสารชิดกอแล้วกลบหน้าดิน

มีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี 0-3455-2035 หรือสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร 0-2579-3930-1.

เพ็ญพิชญา เตียว