หลังจากที่ได้นำเสนอเรื่องราวการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงในตอนแรก เปิดตำนานขุนเขามหัศจรรย์ สู่แนวคิดกระเช้าลอยฟ้า ไปแล้วนั้น ในโอกาสนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอนำเสนอมุมมอง ระหว่างฝ่ายนักอนุรักษ์ และฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกระเช้า ในประเด็นที่ประชาชนหลายคนข้องใจ ไม่ว่าจะเป็นข้อบกพร่องของรายงานการศึกษา การลำเลียงขยะ รายได้ของคนในท้องถิ่น อาชีพลูกหาบ แม้กระทั่งมนตร์เสน่ห์ของภูกระดึงจะหายไปหรือไม่ ผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ ลองเปิดใจพิจารณาทั้ง 2 แง่มุม ในบรรทัดต่อจากนี้เถิด...
1. ศึกษาความเป็นไปได้ พร้อมกับ EIA ทำได้จริงหรือ?
นายนพรัตน์ นาคสถิตย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ตัวแทนของนักอนุรักษ์ที่ออกมาคัดค้านการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ได้อธิบายถึงข้อบกพร่องของรายงานการศึกษาดังกล่าวที่นำเสนอต่อ ครม. ไว้ว่า โดยปกติแล้ว การศึกษาความเป็นไปได้กับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่เหมาะที่จะทำพร้อมกัน แต่องค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้ว่าจ้างศูนย์วิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์ให้ศึกษาความเป็นไปได้ และการศึกษา EIA พร้อมกันจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อไปรายงานต่อ ครม. กลับบอกว่าศึกษาความเป็นไปได้เพียงอย่างเดียว และเสมือนกับว่ายังไม่ได้ศึกษา EIA ทำให้ครม.สั่งให้ไปจัดทำมาในตอนหลัง
ด้าน รศ.ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี คณะทำงานศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้ อธิบายว่า คณะทำงานเซ็นสัญญาเรื่องการศึกษาความเป็นไปได้และศึกษา EIA กับ อพท. พร้อมกันจริง เนื่องจากมีขั้นตอนต่างๆ ในเรื่องระบบราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง ประกอบกับใช้ระยะเวลานานกว่าที่กรมอุทยานฯ จะอนุมัติให้เข้าไปศึกษา EIA ในพื้นที่ แต่ในเรื่องขั้นตอนของการทำงาน จะเริ่มจากศึกษาความเป็นไปได้ก่อนแล้วจึงศึกษา EIA และขอยืนยันว่าไม่ใช่การศึกษาทั้งสองอย่างพร้อมกัน
...
2. ย้อนแย้ง เจตนารมณ์ของอุทยานฯ อนุรักษ์ธรรมชาติ เหตุใดไปมุ่งเป้ารายได้ ?
นายนพรัตน์ นาคสถิตย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงข้อสงสัยว่า อุทยานฯ มีหน้าที่หลัก คือ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนด้านการท่องเที่ยวก็เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวมีจิตสำนึกในการหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ แต่ฝ่ายผู้สนับสนุนต่างๆ ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะทำให้ภูกระดึงเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ มีการค้าขายดี ขยายอาชีพ โดยมีเจตนามุ่งไปเพื่อเศรษฐกิจ จึงคิดว่าไม่ตอบสนองเจตนารมณ์ของการจัดการอุทยานฯ อย่างแท้จริง
ขณะที่ รศ.ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี คณะทำงานศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงในเรื่องเจตนารมณ์ของอุทยานฯ ว่า ในการบริหารจัดการอุทยานฯ จริงๆ ไม่ได้เพื่อการอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว แต่จะมีโซนอนุรักษ์ โซนการใช้งาน ซึ่งหลักการอนุรักษ์ไม่ใช่ป่าอนุรักษ์แท้ๆ แต่การจัดการของอุทยานฯ จะเป็นการจัดโซนนิ่งของการใช้ประโยชน์ในบางอย่าง มีการบริหารจัดโซนเรื่องการท่องเที่ยวการพักผ่อน มีการเข้าไปชมวิว ไม่ใช่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่จะห้ามไม่ให้เข้าไป
...
3. สร้างกระเช้า ทำให้เที่ยวภูกระดึง ได้ทั้งปี ?
นายนพรัตน์ นาคสถิตย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวต่อว่า การท่องเที่ยวในป่าเขาของประเทศไทย เวลาที่ธรรมชาติงดงามที่สุดและนักท่องเที่ยวไปมากที่สุด คือ ช่วงฤดูหนาว เมื่อดูสถิตินักท่องเที่ยวรายเดือนของกรมอุทยานฯ (ทางบก) พบว่า จะพีคสุดเฉพาะฤดูหนาว และเมื่อยิ่งสูงขึ้น 100 เมตร จากระดับน้ำทะเล อุณหภูมิจะลดลง 1 องศาเซลเซียส ซึ่งภูกระดึงสูง 1,000 กว่าเมตร ทำให้อุณหภูมิข้างล่างและข้างบนจึงแตกต่างกัน 7-8 องศาฯ รวมถึงความสามารถที่ฝนตกบนยอดเขาของภูกระดึง ในรายงานบอกว่า สูงกว่าพื้นดิน 30% ฉะนั้น เมื่ออากาศหนาวประกอบกับฝนตก ถ้าไม่ใช่คนที่เป็นนักท่องเที่ยวที่รักการผจญภัยคงไม่เที่ยว ถึงแม้ว่าสภาพป่าจะเขียวชอุ่มสวยงามก็ตาม
ส่วนฤดูร้อนในประเทศไทยเมื่อออกต่างจังหวัดจะพบว่า ท้องฟ้ามีแต่หมอกควัน วิวทิวทัศน์ไม่สวยงาม พื้นดินเป็นหญ้าแห้ง น้ำไม่มี อากาศร้อน ก็ทำให้นักท่องเที่ยวไม่ซาบซึ้งหรือประทับใจกับความสวยงาม ฉะนั้น ประเด็นดังกล่าวย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะให้คนท่องเที่ยวทั้งปี
ด้าน รศ.ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี คณะทำงานศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อธิบายในเรื่องดังกล่าวว่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน มีการเปิดการท่องเที่ยวในหน้าฝน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีแผนเปิดช่วงหน้าฝน แต่เนื่องจากคนไทยไม่นิยม ไม่มีการระวัง ไม่มีการเตรียมตัว ซึ่งการท่องเที่ยวหน้าฝนต้อง มีการ เตรียมการ วางแผนล่วงหน้า ไม่ใช่อยากจะไปก็ไป
สำหรับช่วงฤดูร้อน หมอกควันไม่ใช่ตัวอุทยานฯ เป็นคนทำ ซึ่งได้ไปหารือเรื่องปัญหาหมอกควันกับผู้ว่าฯ จ.เลย แล้ว โดยผู้ว่าฯ ได้ให้ประชาชนปลูกยางพารา เพื่อแก้ปัญหาการเผา เพราะในอดีตจะมีการเผาฟางข้าว และอื่นๆ และก็เป็นปัญหาต่อๆ มา ซึ่งทางหน่วยงานของรัฐพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่ เพราะไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการก่อนที่สั่งให้ปลูกยางพารา แต่อย่างไรก็ตาม ภูกระดึงไม่ใช่ภาคเหนือที่เป็นหุบเขา แต่ที่นี่เป็นยอดเขา ถ้ามีควันก็จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า
...
4. แน่ใจหรือ? แรงลมภูกระดึง ปลอดภัยสำหรับกระเช้า
นายนพรัตน์ นาคสถิตย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอตั้งข้อสังเกตุ เกี่ยวกับรายงานดังกล่าว ซึ่งระบุว่า กระเช้านั้นสามารถรับแรงลมได้ 20 เมตร ต่อ วินาที (70 กิโลเมตร ต่อ 1 ชั่วโมง) ซึ่ง มากกว่าแรงลมเฉลี่ยบริเวณรอบๆ ภูกระดึงที่มีค่าความเร็วลมเฉลี่ยที่ระดับความสูง 90 เมตรต่ำกว่า 5 เมตร ต่อ วินาที (18 กิโลเมตร ต่อ 1 ชั่วโมง) ซึ่งจุดนี้ ค่อนข้างแปลก เพราะแทนที่จะใช้ค่าลมสูงสุดในการวัด แต่กลับ ใช้ค่าเฉลี่ยแรงลมแทน ซึ่งอาจจะทำให้มีความสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัย
...
ขณะที่ รศ.ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี คณะทำงานศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงว่า ในเมืองไทยไม่มีที่ไหนที่แรงลมเกิน 20 เมตร/วินาที ยกเว้นเกิดพายุใหญ่ และมีโซนเดียวที่มีค่าความเร็วลมเฉลี่ยที่ระดับความสูง 90 เมตร เกิน 5 เมตร ต่อ วินาที คือ เขาค้อ ที่ตรงนั้นจึงได้สร้างกังหันลม เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งที่อื่นทำไม่ได้ และบริเวณที่ภูกระดึงมีลมจริง แต่มีเป็นช่วงไม่ได้มีตลอด ยกเว้นพายุใหญ่เข้า ซึ่งต้องคิดโดยอัตราเฉลี่ย ไม่ใช่ค่าสูงสุด เพราะหากเป็นช่วงพายุเข้าคงไม่มีใครมาเที่ยว
5. ผู้เฒ่าผู้แก่ ได้อานิสงส์เที่ยวภูกระดึงได้ เพราะมีกระเช้า จริงหรือ?
นายนพรัตน์ นาคสถิตย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า สถานที่ท่องเที่ยวบนภูกระดึงแต่ละจุดระยะทางค่อนข้างห่างกันอย่างน้อย 2 กม. ไกลสุด 9 กม. ขณะที่ สถานีปลายทางของกระเช้าอยู่ที่หลังแป ซึ่งจะต้องเดินไปที่พักและเดินไปตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก และในรายงานก็ได้ระบุไว้ว่า จะไม่มีรถยนต์หรือรถอะไรทั้งสิ้น ฉะนั้น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีข้อจำกัดด้านการเดิน หรือเด็ก จะเดินไปได้อย่างไร
อีกทั้ง ยังพบว่าบนภูกระดึงเป็นหิน มีทรายเม็ดละเอียด หนา หรือที่เรียกว่า ทรายแป้ง เวลาเดินจะกินแรงมากกว่าเดินบนพื้นดินหรือพื้นหินแข็งๆ จะทำให้ปวดน่อง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่คนสูงอายุ หรือผู้ที่มีข้อจำกัดด้านการเดิน จะเดินบนทรายนุ่มๆ
สำหรับเรื่องดังกล่าวนี้ รศ.ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี คณะทำงานศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถามกลับไปยังผู้สงสัยในประเด็นนี้ว่า “คุณเคยขึ้นไปหรือเปล่า?” พร้อมชี้แจงต่อว่า ข้างบนนั้นมีรถเข็นสองล้อ มีเสลี่ยง มีลูกหาบคอยให้บริการเข็นรถ ซึ่งคณะทำงานก็ได้ระบุว่า ในเมื่อมีการให้บริการแบบนี้อยู่แล้วก็ให้มีอยู่ต่อไป แต่ปรับปรุงให้สามารถรองรับผู้สูงอายุหรือคนที่มีข้อจำกัดด้านการเดินได้ โดยให้นั่งบนเสลี่ยงหรือบนรถเข็น และเพิ่มคุณภาพกับความปลอดภัยให้มากขึ้น
6. มีกระเช้า ช่วยขนขยะ ทำภูกระดึงสะอาดขึ้น จริงหรือ ?
นายนพรัตน์ นาคสถิตย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อธิบายว่า ปัญหาขยะบนภูกระดึงสามารถทำได้โดยไม่ต้องสร้างกระเช้า โดยหามาตรการอื่นมาควบคุมปริมาณขยะ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการจะต้องดูแลอย่างเข้มงวด อีกทั้งเรื่องขยะนี้เป็นประเด็นตั้งแต่สมัยปี 2525 ที่ว่าการที่จะสร้างกระเช้าภูกระดึงจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องขยะได้ ทำให้เรื่องขยะเป็นเหตุปัจจัยหนึ่ง เพื่ออ้างการสร้างกระเช้า ซึ่งในสมัยนั้นเทคโนโลยีในการที่จะกำจัดขยะมีน้อย โดยปัจจุบันนี้สามารถแยกขยะเอาไปทำออร์แกนิกปุ๋ยและอื่นๆ ทำให้เหลือขยะไม่มาก ซึ่งถ้าทำจริงจังมาตั้งแต่ปี 2525 ขยะจะไม่ใช่ปัญหาของภูกระดึง ฉะนั้นจะเอามาเป็นข้ออ้างกำจัดขยะลง จึงมองว่าเป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผล
ด้าน รศ.ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี คณะทำงานศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประโยชน์เรื่องการจัดการขยะว่า ข้างบนภูมีแหล่งฝังหรือเผาอยู่แล้ว แต่วิธีการง่ายที่สุด คือ จะเตรียมกระเช้าไว้ในกรณีที่เอาของลง เช่น นักท่องเที่ยวที่นำกระเป๋าขึ้นกระเช้า กระเป๋าจะขึ้นไปคอยอยู่ข้างบน ส่วนกระเช้าตู้นั้นก็จะนำขยะลงมาด้วย ซึ่งขยะเหล่านั้นไม่ใช่ขยะเปียก จะเป็นขวดน้ำ โฟม โดยมีการจัดการอย่างเป็นระบบ ถึงแม้ว่าข้างบนนั้น จะมีการฝังอยู่แล้วแต่หากฝังไปมากๆ จะเกิดผลกระทบตามมา และทางอุทยานฯ เองก็เดือดร้อนมากในเรื่องของจำนวนขยะ
7. อาชีพลูกหาบ จะสูญหาย หากกระเช้าถือกำเนิด ?
นายนพรัตน์ นาคสถิตย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยว่า อาชีพนี้น่าจะไม่รอด หากมีกระเช้าคอยอำนวยความสะดวก ลูกหาบจะสูญเสียรายได้จากการรับจ้างไป แต่หากจะให้ปรับเปลี่ยนไปเป็นไกด์ ซึ่งมองว่าบุคลิกของแต่ละคนไม่ได้เป็นคนที่ช่างเจรจา เอาใจนักท่องเที่ยวที่มีหลากหลายอารมณ์ จุดนี้จะรับไหวหรือไม่ เมื่อลองไปใช้บริการไกด์ท้องถิ่นหลายแห่งในประเทศไทยก็พบว่า บางคนมีความรู้ในเรื่องของธรรมชาติน้อยมาก พูดน้อย เดินนำทางอย่างเดียว
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้น ไกด์จะต้องสื่อสารกับนักท่องเที่ยว สื่อความหมายจากธรรมชาติ มีความรู้ความสามารถ และมีจิตใจที่อยากเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีความรู้และมีจิตสำนึกในการหวงแหนธรรมชาติมากยิ่งขึ้น และโดยส่วนตัวมองว่า ลูกหาบบางคน อาจจะยังขาดศักยภาพในการที่จะก้าวไปเป็นไกด์ได้
ขณะที่ รศ.ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี คณะทำงานศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า หากย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วนั้น มีลูกหาบอยู่ประมาณ 2,000 กว่าคน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 300 กว่าคน และส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อายุมาก เพราะเด็กรุ่นใหม่ที่เรียนหนังสือจะไม่มารับจ้างแบกสัมภาระแล้ว ทำให้จำนวนลูกหาบลดลงไปเรื่อยๆ
นอกจากรับจ้างเข็นรถ แบกเสลี่ยงบนทางราบจากหลังแปไปยังที่พัก หรือไปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ยังมีอาชีพไกด์ ซึ่งชาวบ้านบริเวณนั้น จะมีความรู้เรื่องพืชพรรณธรรมชาติเบื้องต้น แต่ยังต้องมีการอบรมเสริมความรู้และพัฒนาบุคลิก เพื่อให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะไปเป็นไกด์ได้ แต่ต้องดูว่าเขาสามารถทำอาชีพนี้ได้ไหม ต้องมีการคัดเลือกด้วย อย่างไรก็ดี จากที่ลูกหาบมีรายได้เฉพาะช่วงหน้าหนาว ถ้ามีกระเช้าจะสามารถทำให้พวกเขามีรายได้ตลอดทั้งปี
8. อาชีพของคนท้องถิ่น จะแปรสภาพเป็นของนายทุนหรือไม่?
นายนพรัตน์ นาคสถิตย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แสดงความกังวลในอาชีพของคนท้องถิ่นว่า หากดูสถิติสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศ จะพบว่าผู้ประกอบการที่เป็นคนท้องถิ่นมีน้อยกว่าคนต่างถิ่น อาจส่งผลให้คนท้องถิ่นต้องมาขายแรงงาน และงานบริการท่องเที่ยวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ง่ายที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดไปได้ ทำให้ไม่เชื่อว่าคนท้องถิ่นจะได้รับผลประโยชน์ในส่วนนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งผลประโยชน์ทั้งหลายจะไปตกอยู่กับกลุ่มนายทุน นอกจากนี้ ราคาที่ดินที่คาดการณ์ว่าจะเป็นทางขึ้นกระเช้าก็พุ่งขึ้นอย่างมาก คนท้องถิ่นบางคนเลือกที่จะขายที่ดินแล้วแยกย้ายไปอยู่ที่อื่นแทน
เช่นเดียวกับ รศ.ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี คณะทำงานศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองไปในทางเดียวกันว่า ในรายงานการศึกษาได้บอกไว้ชัดเจนว่าจะเกิดผลอย่างนี้ โดยก่อนที่คณะทำงานจะเข้าไปศึกษาความเป็นไปได้นั้น ที่ดินมีราคา 50,000-100,000 บาทต่อไร่ แต่ปัจจุบันราคาพุ่งไป 3 ล้านบาทต่อไร่ เพราะมีนายทุนเริ่มเข้าไปซื้อไว้แล้ว จึงเป็นปัญหาที่แจ้งไว้ว่า ถ้าจะทำอะไรต้องรีบตัดสินใจ
9. กระเช้าลอยฟ้า ฆ่า มนตร์เสน่ห์ภูกระดึง จริงหรือ?
นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร หนึ่งในผู้คัดค้านโครงการดังกล่าว เผยว่า ภูกระดึง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ท้าทาย มีแรงดึงดูด ให้คนขึ้นไปเที่ยวแบบนี้โดยไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าเกิดมีกระเช้า แรงดึงดูดที่จะทำให้คนเดินก็หมดไป โดยความคิดที่ว่าปัจจุบันขึ้นแบบนี้กัน ทำให้เสน่ห์ของการท่องเที่ยวแบบภูกระดึงหายไป