34 กิโลกรัม!!!!
คือน้ำหนักของเนื้องอก ที่ถูกผ่าออกมาจากรังไข่ของสตรีวัย 41 ปี ที่มีอาการท้องโตขึ้นเรื่อยๆ นานกว่า 2 ปี โดยไม่รู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคอะไร
เป็นการผ่าตัดก้อนเนื้องอกภายในร่างกายที่ใหญ่ที่สุดในโลก...!!
ทั้งนี้การผ่าตัดก้อนเนื้องอกภายในร่างกายที่ใหญ่ที่สุด ที่มีบันทึกในประวัติการผ่าตัดเนื้องอกของโลก คือ 23 กิโลกรัม เป็นเนื้องอกภายในมดลูกของสตรีชาวอาร์เจนตินา เมื่อปี 2555 และการผ่าตัดเนื้องอกขนาด 17 กิโลกรัม โดย India Institute of Medical Sciences ออกจากช่องท้องของสตรีชาวอินเดีย เมื่อปี 2557
ส่วนเนื้องอกที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เคยมีการทำผ่าตัด เป็นเนื้องอกบริเวณขาของชายชาวเวียดนามรายหนึ่ง ที่มีน้ำหนักมากถึง 90 กิโลกรัม
สำหรับการผ่าตัดเนื้องอกในรังไข่ที่ใหญ่ที่สุดครั้งนี้ ประสบความสำเร็จโดยทีมแพทย์ของโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นำโดย นพ.เกษม เสรีพรเจริญกุล หัวหน้ากลุ่มงานสูตินรีเวช โรงพยาบาลราชวิถี
คุณหมอเกษม บอกว่า อาจกล่าวได้ว่าการผ่าตัดเนื้องอกในรังไข่ครั้งนี้ เป็นการผ่าตัดก้อนเนื้อที่ถือว่าใหญ่ที่สุด เพราะที่ผ่านมา เท่าที่เคยพบเนื้องอกในรังไข่โตสุดอยู่ที่ประมาณ 10 กิโลกรัม
“โดยปกติแล้ว เนื้องอกรังไข่จะไม่มีอาการ ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน เกิดได้ทั้งในผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและยังไม่แต่งงาน สามารถเกิดได้กับผู้หญิงทุกคนทุกวัย โดยเฉพาะหญิงวัยเจริญพันธ์ุ เป็นได้ทั้งก้อนเล็กและก้อนใหญ่ ดีที่สุดคือ ผู้หญิงทุกคนควรตรวจร่างกายทุกปีอย่างสม่ำเสมอ ถ้าคลำบริเวณช่วงท้องแล้วพบก้อนเนื้อควรรีบไปพบแพทย์ทันที” คุณหมอเกษมบอก พร้อมกับให้ข้อมูลการผ่าตัดก้อนเนื้อครั้งนี้ว่า เป็นก้อนเนื้อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 45 ซม. น้ำหนัก 34 กิโลกรัม ด้านในของก้อนเนื้อเป็นน้ำเหนียวข้นเป็นหย่อมก้อนแข็งๆ ได้ส่งให้พยาธิแพทย์ทำการตรวจวิเคราะห์แล้ว การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง สำหรับคนไข้รายนี้หากไม่รีบทำการผ่าตัดก้อนเนื้อออกจากรังไข่ อาจทำให้รังไข่แตก จนถึงขั้นต้องผ่าตัดฉุกเฉิน
...
ด้าน นพ.สุพรรณ ธรรมศรีมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื้องอกรังไข่อาจจะดูเหมือนเป็นโรคธรรมดาแต่สำหรับผู้หญิงแล้วไม่ควรมองข้ามโรคนี้ เนื่องจากปัจจุบันพบผู้ป่วยด้วยโรคเนื้องอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเนื้องอกในรังไข่ แบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ 1.ชนิดที่เป็นถุงน้ำ หรือซีสต์ (Cyst) เป็นเนื้องอกที่มีลักษณะเป็นถุง ภายในมีของเหลว น้ำ เนื้อเยื่อต่างๆ 2.เนื้องอกธรรมดา หรือ Benign เป็นก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นในรังไข่ แต่ไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็ง และ 3.เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง เรียกว่า Malignant เนื้องอกชนิดนี้ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นมะเร็งรังไข่ มีความเสี่ยงที่จะทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นเสียชีวิตได้หากเป็นในระยะที่ลุกลามแล้ว
สำหรับอาการของโรคเนื้องอกรังไข่ ชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้าย คุณหมอสุพรรณ บอกว่า อาจเริ่มจากอาการประจำเดือนมาผิดปกติ ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากก้อนเนื้องอกไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ ท้องผูก เพราะเนื้องอกไปกดเบียดลำไส้ ท้องโตขึ้นเรื่อยๆ อาจมีอาการปวดท้องเฉียบพลัน ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนจากก้อนเนื้องอกที่โตขึ้น เนื้องอกอาจเกิดการแกว่งตัว แตก ทำให้เกิดภาวะตกเลือด ติดเชื้อได้
อธิบดีกรมการแพทย์ ยังบอกด้วยว่า ส่วนกรณีที่ถ้าเนื้องอกในรังไข่เป็นเนื้อร้าย ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดเนื่อง จากก้อนเนื้อโตเร็ว มีภาวะท้องมานหรือมีน้ำในช่องท้อง หากมีอาการของเนื้อร้ายเหล่านี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่นๆ
“การรักษาเนื้องอกรังไข่ทำได้หลายวิธี ในกรณีที่ไม่ใช่เนื้อร้าย แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาด้วยยา และติดตามอาการต่อเนื่อง อาจนัดคนไข้ทำการตรวจอัลตราซาวนด์เป็นระยะๆ หากพบว่าก้อนไม่ยุบ ก้อนโตขึ้นหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น มีอาการปวดเฉียบพลันจากการบิดขั้วของเนื้องอก มีการแตกของเนื้องอก มีเลือดออก แพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก” คุณหมอสุพรรณบอก พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ส่วนกรณีที่พบว่าก้อนเนื้องอกนั้นเป็นมะเร็งรังไข่ แพทย์อาจใช้วิธีการผ่าตัดเนื้อร้ายออกให้มากที่สุดและรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะว่าเป็นมะเร็งระยะที่รุนแรงหรือไม่
อธิบดีกรมการแพทย์ ยังบอกด้วยว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นเนื้องอกรังไข่ และมะเร็งรังไข่มีหลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ คือมีคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะฝ่ายหญิง เช่น ยาย ป้า มารดา พี่สาว น้องสาว ผู้หญิงที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สตรีวัยทองหรืออายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังพบว่าความอ้วนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกในรังไข่ด้วย
ทางที่ดีแล้ว เมื่อพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในระบบนรีเวช เช่น เรื่องของประจำเดือน การตกขาว อาการปวดท้องรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยๆ อย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบไปให้แพทย์ตรวจและรักษาอย่างทันท่วงที เพราะเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็งสามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่นเดียวกับมะเร็งที่พบในระยะเริ่มแรกก็สามารถรักษาให้หายขาดได้เช่นเดียวกัน.