เคยสงสัยไหม? เหตุไฉนกินยาลดความอ้วนแล้ว อุจจาระไหลเป็นน้ำมัน และมีกลิ่นเหม็นมากกกก? 

เปิดเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ขึ้นมาทีไร เชื่อว่าหลายคนคงเอือมระอากันอยู่ไม่น้อย กับการโฆษณาขายยาลดความอ้วน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กาแฟลดน้ำหนัก รวมถึงดีท็อกซ์สมุนไพรต่างๆ อวดอ้างสรรพคุณต่างๆ นานา สารพัด อาทิ ช่วยให้หน้าท้องยุบ ลดการดูดซับไขมัน ลดความอยากอาหาร และน้ำหนักลด ฯลฯ คำถามคือ ตัวยาเหล่านี้ จริงๆ แล้ว ช่วยในการลดความอ้วนได้จริงหรือ? และจะส่งผลอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่..? 

วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้เชื้อเชิญ ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. มาไขข้อข้องใจและอธิบายเพื่อเป็นความรู้ให้สาวๆ หรือใครหลายคนที่อยากผอม อยากสวย แต่ทำอย่างไรน้ำหนักก็ไม่ลดเสียที เลยต้องหันมาพึ่งยาลดความอ้วนเหล่านี้ ได้ทำความเข้าใจและรู้ทันสารอันตรายที่ว่านี้อย่างถูกต้องมากขึ้น...

กาแฟลดน้ำหนัก อาหารเสริม ดีท็อกซ์ ลดความอ้วนได้จริงหรือ..?

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. อธิบายให้ฟังง่ายๆ ว่า โดยทั่วไปแล้ว คำว่า ‘ยาลดความอ้วน’ ในทางการแพทย์และเภสัชกร จะใช้คำว่า ‘ผลิตภัณฑ์ลดความอยากอาหาร’ เนื่องจากเมื่อรับประทานยาเหล่านี้เข้าไปแล้ว จะไปควบคุมกลไกการทำงานของสมองในส่วนที่มีหน้าที่กระตุ้นความอยากอาหาร ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าไม่อยากอาหาร เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีอาหารเข้าไป ก็ไม่เกิดกลไกการย่อยและขับถ่าย จึงทำให้น้ำหนักลดนั่นเอง 

...

สำหรับ ประเภทของ ยาลดความอ้วน ได้แก่...

1. ยาควบคุมความหิว ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ในการควบคุมความหิวในสมอง ทำให้ไม่รู้สึกอยากทานอาหารและอิ่มเร็ว แต่เนื่องจากยาประเภทนี้ออกฤทธิ์ต่อสมองโดยตรง ทำให้เกิดผลแทรกซ้อนค่อนข้างมาก เช่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หงุดหงิด ใจสั่น ปากแห้ง รวมถึงมีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด จะเป็นลม เป็นต้น
2. ยาเพิ่มการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย เป็นการนำยาในกลุ่ม 'ไทรอยด์ฮอร์โมน' ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคไทรอยด์มาใช้ เพราะยากลุ่มนี้สามารถเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงาน น้ำหนักจึงลดลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม น้ำหนักที่ลดลงเป็นน้ำหนักที่เกิดจากมวลรวมของร่างกาย แทนที่จะเป็นไขมัน ดังนั้น ยานี้จึงส่งผลข้างเคียงสูงมาก แถมยังเป็นอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย
3. ยาระบายและยาขับปัสสาวะ เป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากทำให้เห็นผลเร็วและน้ำหนักลดลงมาก แต่ความจริงแล้วถือเป็นภาพลวงตา เพราะสิ่งที่ลดลงไม่ใช่ไขมัน แต่เป็นน้ำภายในร่างกาย การใช้ยาประเภทนี้จะส่งผลข้างเคียง คือ ทำให้ขาดเกลือแร่ และอาจทำให้ไตมีปัญหาได้
4. ยาที่ช่วยทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ซึ่งนิยมนำมาใช้ทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทานไปแล้วจะไปเพิ่มกากใยในระบบทางเดินอาหาร ทำให้รู้สึกว่าอิ่มเร็ว ส่วนใหญ่จะเป็นพวกใยอาหาร (ไฟเบอร์) เช่น บุก แมงลัก ซึ่งมักทำให้เกิดอาการท้องอืด
5. ยาลดการดูดซึมไขมัน ทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของน้ำย่อย ที่มีหน้าที่ย่อยสลายไขมัน เพราะฉะนั้นเมื่อไขมันไม่ถูกย่อยก็จะไม่ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย และในที่สุดจะถูกขับถ่ายออกไป อย่างไรก็ตาม ยาประเภทนี้มีผลข้างเคียงทำให้ มีลมในลำไส้มาก ท้องอืด ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำมัน ผายลมมีน้ำมันปนออกมา อุจจาระบ่อย หรือกลั้นอุจจาระไม่อยู่ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ระบบในเรื่องของเกลือแร่ในร่างกายเกิดการสูญเสีย หมดเรี่ยวหมดแรง และกล้ามเนื้ออ่อนแรง 

ส่วนยากลุ่มที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ ยาในกลุ่มออกฤทธิ์ระงับความหิว โดยที่นิยมมากคือ ‘เฟนเตอมีน’ (Phentermine) หรือยาในกลุ่มเดียวกัน จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 และต้องจ่ายโดยแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น ยาประเภทนี้ถูกควบคุมจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างเข้มงวด โดยอนุญาตให้ขายแก่แพทย์ได้ไม่เกิน 5,000 เม็ดต่อเดือน เพื่อป้องกันการจ่ายยาพร่ำเพรื่อ เนื่องจากเป็นตัวยาที่ส่งผลข้างเคียงสูง 

ยาลดความอ้วน VS อาหารเสริมดีท็อกซ์ คือ..!?

ภก.ประพนธ์ อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างยาลดความอ้วน และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมว่า ‘ยาลดความอ้วน’ นั้น ชื่อก็ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นยา เพราะฉะนั้นหากมีความจำเป็นที่จะต้องซื้อใช้ ก็ต้องซื้อที่โรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยาที่มีใบอนุญาตเท่านั้น ส่วน ‘ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร’ ก็คือ ผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งของอาหาร นั่นหมายถึง ไม่สามารถแสดงสรรพคุณในเรื่องของการบำบัด บรรเทา รักษาอาการหรือโรค โครงสร้าง รวมถึงการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ 

...

ส่วนกรณีที่มีการอวดอ้างสรรพคุณว่า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ขับถ่ายไขมัน หรือทำให้ไขมันสลายตัว กรณีนี้จัดว่าเป็น ผลิตภัณฑ์ของยา ซึ่งไม่ใช่อาหารเสริม ดังนั้น หากระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม แต่มีการอวดอ้างสรรพคุณว่า ช่วยดูดซึมไขมัน ล้างตับไต และช่วยขับถ่ายของเสียในร่างกายได้นั้น การโฆษณาดังกล่าว ถือว่าเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินขอบเขตของอาหาร ซึ่งผู้บริโภคอาจได้รับสารที่เป็นอันตรายได้ 

ขณะเดียวกัน เรามักพบเสมอในผลิตภัณฑ์ของชาหรือกาแฟ รวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่อวดอ้างว่า ช่วยลดน้ำหนักได้ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักจะใส่ยาแผนปัจจุบันลงไป ซึ่งจะเป็นตัวยากลุ่มเดียวกับที่ใช้ควบคุมความอยากอาหารของสมอง โดยตัวยาที่พบว่าเป็นปัญหา ชื่อว่า ‘ไซบูทรามีน’ ซึ่งมีโอกาสทำให้คนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเสียชีวิตได้ ฉะนั้น ในขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงไม่อนุญาตให้มีการใช้ยาตัวนี้ มาประมาณ 4-5 ปีแล้ว แต่ก็ยังพบว่า ยังคงมีการลักลอบการนำยาดังกล่าวนี้ เข้ามาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยาสมุนไพรอยู่บ้าง

...

ดีท็อกซ์สมุนไพร ใครๆ ก็เชื่อว่าปลอดภัย แท้จริงแล้ว...!?

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็ยังพบเห็นกันทั่วไปว่า ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักบางชนิด ผลิตมาจากสมุนไพร ทำให้หลายคนยังคงเชื่อและเข้าใจว่าอย่างไรเสียก็คงปลอดภัย ดังนั้น จึงอยากจะชี้แจงให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจใหม่ว่า ใช่ว่าสมุนไพรทุกชนิดจะปลอดภัยไปเสียหมด ยกตัวอย่าง สมุนไพรบางชนิดที่เคยมีข่าวว่า มีสรรพคุณช่วยรักษาได้หลายโรค เช่น ทุเรียนเทศ ที่อ้างว่าสามารถช่วยรักษาและป้องกันมะเร็งได้ แต่ในภายหลังทางการแพทย์ตรวจพบว่า เมื่อกินใบทุเรียนเทศไปแล้วนั้น ก็ส่งผลต่อให้ตับอักเสบหรือตับวายได้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างบนโลกนี้ไม่ได้มีเพียงด้านดีหรือไม่ดี ทุกอย่างมีทั้งคุณและโทษ สมุนไพรก็เช่นกัน แม้ว่าจะช่วยรักษาได้ แต่หากทานไปในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจจะเป็นพิษ หรือเป็นอันตรายต่อร่างกายได้เช่นเดียวกัน

สงสัยไหม? กินยาลดความอ้วน ถ่ายเป็นน้ำมัน อันตรายจริงหรือ..? 

นอกจากนี้ ภก.ประพนธ์ อธิบายถึงความหมายของ ‘ดีท็อกซ์’ ว่า โดยทั่วไปแล้ว การดีท็อกซ์ จะเป็นการทานเข้าไปเพื่อล้างของเสียที่อยู่ในลำไส้ ซึ่งก็คือตัวกากใยอาหารที่ร่างกายไม่ดูดซึมแล้ว เพื่อกระตุ้นให้มีการขับถ่ายออกมาเร็วขึ้น ซึ่งการดีท็อกซ์นั้น มักจะใช้กับคนที่มีอาการท้องผูก ฉะนั้นหากทานยาดีท็อกซ์เพื่อกระตุ้นการขับถ่ายบ่อยๆ ก็ส่งผลให้ระบบกลไกการทำงานของร่างกายเกิดความคุ้นชิน จนอาจส่งผลต่อกระบวนการทำงานของลำไส้ ไม่ทำหน้าที่ตนเอง ไม่บีบและขับถ่ายของเสียอัตโนมัติ และในกรณีที่มีการกระตุ้นการขับถ่าย กระทั่งถ่ายไม่หยุด จะส่งผลต่อระบบเกลือแร่และความดันโลหิต รวมถึงระบบหัวใจล้มเหลวได้

...

ซึ่งปัจจุบัน คำว่า ‘ดีท็อกซ์’ นั้น กลายเป็นคำที่นำมาใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน เพื่อช่วยในการขับถ่ายสะดวกขึ้น ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าของเสียหรือไขมันถูกขับถ่ายออกไป ซึ่งหลายคนมองว่า “ไขมันไม่มีประโยชน์ เพราะไขมันเป็นสาเหตุที่ทำให้อ้วน” ทำให้มีพฤติกรรมเลี่ยงไขมัน ไม่เอาไขมันเข้าสู่ร่างกายเลย ซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิดอยู่ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว ร่างกายคนเรานั้น ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับไขมัน เพราะไขมันเป็นแหล่งของพลังงานชนิดหนึ่งในร่างกาย ซึ่งไขมันบางตัวเป็นสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมน หากร่างกายไม่มีไขมันเลย ก็จะทำให้ร่างกายเสียสมดุลและอาจจะสูญเสียฮอร์โมนบางตัว ฉะนั้น หลักโภชนาการที่ถูกต้องก็คือ ต้องรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสม รวมถึงมีอาหารหมุนเวียนที่หลากหลาย

ผอมสวยด้วยทางลัด พึ่งยาลดความอ้วน อันตรายถึงชีวิต!

เพราะฉะนั้น ถามว่า หากทานยาและผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นประจำ และในปริมาณมากๆ จะส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร? ภก.ประพนธ์ ไขข้อข้องใจให้ฟังว่า โดยทั่วไปร่างกายคนเรามีความจำเป็นต้องได้รับครบทั้ง 5 หมู่ ไม่ว่าจะเป็นเกลือแร่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน แร่ธาตุ และไขมัน ฉะนั้น หากทานยาหรือผลิตภัณฑ์เหล่านี้เข้าไปในปริมาณมาก จนขับถ่ายออกมาไม่หยุด จะส่งผลต่อระบบเกลือแร่และความดันโลหิต รวมถึงระบบหัวใจล้มเหลวได้ โดยอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นคือ มีอาการหน้ามืด และการทำงานของหลอดเลือดและหัวใจล้มเหลวฉับพลัน จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจ ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

อย. แนะ ผู้บริโภคควรไตร่ตรอง ตรวจสอบ ก่อนพึ่งผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน 

ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการเข้าไปควบคุมและตรวจสอบการขายผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องมีการร่วมมือกันหลายภาคส่วน ในการสอดส่องและตรวจสอบ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่พึ่งพาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในการควบคุมน้ำหนัก จะต้องซื้อผลิตภัณฑ์จากโรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยาเท่านั้น เนื่องจากการใช้ยาจะต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาจะต้องมีทะเบียนตำรับยา ส่วนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้เลขสารบบอาหาร 13 หลัก และที่สำคัญจะต้องมีเครื่องหมาย อย. อยู่ด้วย

ทั้งนี้ จากหลายกรณีที่เคยมีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน หรืออาหารเสริมดีท็อกซ์นั้น เมื่อมีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต้นเหตุ กลับพบว่า เป็นผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่เคยได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข และไม่เคยผ่านการตรวจสอบส่วนผสมและความปลอดภัย

ส่องโทษ! ความผิดฐานลักลอบขายยาลดความอ้วนผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.อาหาร

ขณะเดียวกัน ทาง อย. ได้มีการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ บก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในการเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ลักลอบผลิตและขายผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร กระทรวงสาธารณสุข คือ กรณีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก เช่น การโฆษณากาแฟลดน้ำหนัก จะเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ปรับไม่เกิน 5,000 บาท และในกรณีที่มีสารเกี่ยวกับยาลดน้ำหนักหรือสารที่เป็นอันตรายลงไปในผลิตภัณฑ์อาหาร ถือว่าเป็นการขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่บริสุทธิ์ กรณีนี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ภก.ประพนธ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ฝากไปยังผู้บริโภคที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนเหล่านี้เป็นทางลัดในการอยากผอมอยากสวยว่า หากมีความจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพื่อจุดประสงค์ในการควบคุมน้ำหนัก ก็ยังคงย้ำเตือนเสมอว่า ควรใช้เท่าที่จำเป็น ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร หรือร้านขายยาที่มีใบอนุญาตเท่านั้น เพื่อให้การบริโภคและใช้ผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้อง โดยห้ามซื้อใช้ด้วยตนเอง ตามร้านแผงลอย อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดียต่างๆ อาทิ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ฯลฯ 

อย่างไรก็ตาม หากไม่พึ่งพาผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนได้นั้น ยิ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะการดำรงชีวิตของคนเราโดยทั่วไป มีระบบกลไกการทำงานตามธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้น การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการ ดื่มน้ำ พักผ่อน อย่างพอเพียงและเหมาะสม รวมถึงออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที ก็สามารถแก้ปัญหาเรื่องการควบคุมน้ำหนักได้อย่างยั่งยืนกว่าการหันไปพึ่งพาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและยาลดความอ้วนทั้งหลาย...