น้ำน้อยทำมาหากินลำบาก ยิ่งยึดอาชีพเลี้ยงปลาด้วยแล้วแทบไม่ต้องพูดถึง ยากจะเป็นไปได้...แต่วันนี้มิต้องวิตกกังวลอีกแล้ว ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงราย กรมประมง พบวิธีการเลี้ยงปลาน้ำจืดประหยัดน้ำสุดๆ แถมยังได้ผักไฮโดรโปนิกส์ไว้กินไว้ขาย โดยไม่ต้องควักเงินซื้อปุ๋ยอีกด้วย
“ปกติการเลี้ยงปลาดุก ปลานิล ปลาหมอ จำนวน 200 ตัว ในบ่อซีเมนต์ขนาด 2 ตร.ม. กว้าง 1 ม. ยาว 2 ม. ใส่น้ำลึก 1 ม. ต้องใช้น้ำ 2,000 ลิตร ทุกๆ 7 วันจะต้องมีการถ่ายน้ำทิ้งและเติมน้ำเข้าใหม่ไปครึ่งหนึ่ง ฉะนั้นตลอดระยะเวลาการเลี้ยง 3 เดือน เราจะต้องใช้น้ำไม่น้อยกว่า 13,000 ลิตร แต่ถ้าเปลี่ยนมาเลี้ยงแบบอะควาโพนิค ตลอด 3 เดือนจะใช้น้ำแค่ 2,100 ลิตรเท่านั้น เพราะมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำแค่เดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละ 50 ลิตร เฉพาะตอนล้างถังกรองเท่านั้น ช่วยประหยัดน้ำได้มากกว่าการเลี้ยงแบบทั่วไปถึง 83%”
นายสุภาพ แก้วละเอียด ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงราย เปรียบเทียบให้เห็นภาพการเลี้ยงปลาด้วยวิธีอะควาโพนิค (Aquaponics) ช่วยประหยัดน้ำได้มากขนาดไหน...แถมกรรมวิธีการเลี้ยงไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย เพียงนำระบบการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์มาใช้ร่วมกับการเลี้ยงปลาในบ่อปูนซีเมนต์เท่านั้นเอง
...
นำกระถางพลาสติกสำหรับปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ ไปวางเรียงรายบนบ่อปลา จัดการเดินระบบท่อน้ำให้น้ำไหลลงกระถางปลูกผัก และเจาะรูกระถางอีกด้านเพื่อให้น้ำไหลลงบ่อปลาได้ ติดตั้งปั๊มน้ำขนาดเล็กลงไปจุ่มแช่ในบ่อเลี้ยงปลา สูบน้ำเสียจากบ่อเข้าสู่ถังกรอง ขนาด 50 ลิตร ที่วางในตำแหน่งสูงกว่าระบบท่อน้ำปลูกผัก
ถังกรองจะทำเป็น 2 ถัง หรือถังเดียวแบ่งเป็น 2 ส่วนก็ได้...ส่วนแรกเป็นส่วนกรอง ประกอบด้วยแผ่นใยสังเคราะห์ 1 แผ่นวางทับอยู่ด้านบน ด้านล่างมีไบโอบอล 200 ลูก...ส่วนที่สอง ที่พักน้ำกรองแล้ว
จากนั้นเจาะถังพักน้ำที่กรองแล้ว ต่อท่อเชื่อมกับระบบส่งน้ำเข้ากระถางปลูกผัก เพียงเท่านี้จะได้ระบบอะควาโพนิคที่สามารถเลี้ยงปลาได้แบบประหยัดน้ำสุดๆ และได้ผักไฮโดรโปนิกส์เป็นของแถม
“การเลี้ยงปลาแบบนี้น้ำจะไหลหมุนเวียน มีการบำบัดตลอดเวลา สารพัดของเสียที่ปลาขับออกมาปนกับน้ำจะถูกสูบขึ้นมาบำบัดและกลายเป็นธาตุอาหารให้กับผัก ทำให้เกิดระบบธรรมชาติเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ผักทำหน้าที่เป็นโรงงานบำบัดน้ำเสียให้กับปลา และปลานั้นจ่ายผลตอบแทนกับผักโดยการขับถ่ายของเสียให้เป็นอาหารกับพืช”
นายสุภาพ บอกว่า จากการศึกษาวิจัยที่ทำมานอกจากจะทำให้พืชผักงอกงามได้ดี โดยเฉพาะพวกผักกินใบ วิธีนี้ยังช่วยให้ปลามีสุขภาพแข็งแรงดีกว่าการเลี้ยงแบบเดิมๆ เพราะนอกจากจะมีพืชช่วยบำบัดของเสียในน้ำได้แล้ว น้ำที่ไหลหมุนวนยังช่วยเพิ่มออกซิเจนลงไปในน้ำตลอดเวลาด้วย
ในขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแค่วันละ 2-3 บาท แต่ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่า สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงราย 0-5315-4500.
ชาติชาย ศิริพัฒน์