ผลสำรวจ คนไทยใช้งานโปรแกรมสนทนา บนสมาร์ทโฟนสูง พบ นัดเจอคนแปลกหน้า ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ผ่านสังคมก้มหน้ามากขึ้น มีโอกาสถูกหลอก-ประสบภัยคุกคามสูง โดยเฉพาะผู้หญิง...
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้งานสมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต และอินเทอร์เน็ต ของประชาชน โดยผู้ตอบแบบสอบถามคือ ประชาชนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต และอินเทอร์เน็ต ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,122 กลุ่ม
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมของการใช้สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต และอินเทอร์เน็ต ของคนในสังคมปัจจุบัน พบว่า มีพฤติกรรมที่สามารถมองเห็นได้โดยทั่วไป ทำให้เห็นว่าการแพร่กระจายนวัตกรรม (Diffusion of Innovation) และการยอมรับนวัตกรรม (Adoption of Innovation) ของคนในสังคม โดยเฉพาะในส่วนของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งคนในสังคมปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัย คนทำงาน รวมไปถึงผู้สูงอายุ ได้มีการเรียนรู้ในการใช้งานเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ การใช้งานโปรแกรมสังคมออนไลน์ (Social Networks) โปรแกรมสนทนา (Chat) และการสั่งซื้อสินค้า บริการ ผ่านทางโปรแกรมสังคมออนไลน์, โปรแกรมสนทนา เพิ่มมากขึ้น
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ต้องการสะท้อนสภาพของสังคม โดยผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้งานสมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต และอินเทอร์เน็ต มีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ คือ
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ (Smart Phone) 71.1% ใช้งานอินเทอร์เน็ต 3-4 ชั่วโมงต่อวัน และราว 17.6% และมีค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ต 400-600 บาทต่อเดือน 25.5%
...
การใช้งานโปรแกรมสังคมออนไลน์ (Social Networks) พบว่า Facebook มาเป็นอันดับแรก 74.9% อันดับสองคือ Instagram 10.4% และ Twitter 7%
ในส่วนของการใช้งานโปรแกรมสนทนา (Chat) อันดับแรกคือ Line 59.1% รองมา คือ Messenger 21.7% และ WhatsApp 7.2%
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มักเชื่อข้อมูลข่าวสารที่ได้รับผ่านทางโปรแกรมสังคมออนไลน์ หรือ โปรแกรมสนทนา สูงถึง 45% ขณะที่ตัวเลขจากผลสำรวจที่ระบุว่า “ไม่เชื่อ” มีสัดส่วนใกล้เคียงอยู่ที่ 40.2% และไม่แน่ใจ 14.7%
สำหรับพฤติกรรมของชาวไทยส่วนใหญ่ที่เคยนัดพบกับคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ผ่านทางโปรแกรมสังคมออนไลน์ มีสัดส่วนสูงถึง 42.7% และเคยพูดคุยกับคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนผ่านทางโปรแกรมสนทนา 58.7%
นอกจากนี้ ยังเคยสั่งซื้อสินค้าและบริการผ่านทางโปรแกรมสังคมออนไลน์ มากถึง 55.6% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้า-บริการมากขึ้น ที่น่าแปลกใจ คือ สัดส่วนที่เคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้า บริการผ่านทางโปรแกรมสังคมออนไลน์ ราว 29.8% ที่นับว่าอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำนัก
เป็นที่สังเกตว่า ยุคการสื่อสารที่ไร้พรมแดนเช่นนี้ อุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกกำลังกลายเป็นหนึ่งใน "ปัจจัยหลัก" ของการดำรงชีวิต ซึ่งไม่เพียงจะมีอิทธิพลต่อสังคมไทยเท่านั้น แต่อำนาจของระบบอินเทอร์เน็ตที่ขยายสร้างเครือข่ายอย่างแน่นเหนียว ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วโลก ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตาม ภายใต้วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยังมีความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน อาทิ ความไว้เนื้อเชื่อใจกับคนแปลกหน้าที่มากขึ้น ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะถูกหลอก หรือประสบกับภัยคุกคาม โดยเฉพาะผู้หญิง.