จวกไม่ใช่หน้าที่ทหารอยู่ต่อ5ปี ซัดร่างรธน.ถอยหลังเข้าคลอง มีชัยยันเพื่อเปลี่ยนผ่านราบรื่น

“มีชัย” โอดเคราะห์ร้ายที่สุดมาแบกรับงานหิน ติงเข้าใจผิดบังคับใช้ รธน. 2 ขยัก แค่ช่วยถ่ายโอนอำนาจราบรื่น อย่าวิตกซุกองค์กรเหนือรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เคลียร์นายกฯขอห้วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี เป็นเรื่องการเขียนกลไกตีกรอบเวลาปฏิรูป อุบไต๋ตั้งแท่น คสช.แต่งตั้ง ส.ว.ชุดแรก “บิ๊กจิ๋ว” ร่อน จ.ม. เปิดผนึกตะเพิด คสช.ถอนตัว จี้จัดเลือกตั้งปี 59 คายอำนาจคืน ปชช. จวกยิ่งอยู่ยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง ซัดไม่ใช่หน้าที่ทหารอยู่ยาว 5 ปี ขุดอดีตขู่ระวังมาด้วยดอกไม้ แต่ไปด้วยก้อนอิฐ พท.ฟ้องยูเอ็นกติกาน่าเป็นห่วง ท้าเชิญองค์กรต่างชาติสังเกตการณ์ทำประชามติ สับ “วิษณุ” เอาแต่ได้ อ้างประชาธิปไตยครึ่งใบต่อท่ออำนาจ “โอ๊ค” โวยดีเอสไอป้ายสีเอี่ยวคดีเงินกู้แบงก์กรุงไทย “มาร์ค” ชี้ “ทักษิณ” คืนชีพหลังแกล้งตาย บี้ คสช.พูดให้ชัดหลังเลือกตั้งปล่อยมือหรือยึดต่อ กกต.คาด เม.ย.ส่งเนื้อหา รธน. ถึงมือชาวบ้าน

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการให้มีกรอบระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปีหลังการเลือกตั้ง พร้อมกับมีข้อเสนอข้อที่ 16 จากคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการบัญญัติการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ระยะ ล่าสุด พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ทำจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้รัฐบาล คสช.เร่งคืนอำนาจให้ประชาชน โดยจัดการเลือกตั้งภายในปี 2559

“มีชัย” ครวญเคราะห์ร้ายรับงานหิน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 ก.พ. ที่โรงเรียน เทพศิรินทร์ นนทบุรี เครือข่ายหน่วยงานราชการและสถานศึกษาพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี จัดโครงการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ ปกป้องและเทิดทูนสถาบัน และเสวนา “การรับรู้ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความผาสุกที่ยั่งยืน” โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวบรรยายตอนหนึ่งว่า ตนเป็นคนที่เคราะห์ร้ายที่สุด เพราะเข้ามาทำหน้าที่ออกแบบกติกาบ้านเมืองในระยะเวลาที่ความคิดเห็นแตกต่าง ยากจะทำให้ทุกฝ่ายพอใจ คิดแต่ว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนและประเทศระยะยาวก็ทำในสิ่งนั้น ทั้งนี้วิธีเลือกตั้งและการได้มาซึ่งตัวแทนในการใช้อำนาจ หากวิธีประเทศหนึ่งไม่เหมือนประเทศหนึ่งไม่ได้แปลว่าความแตกต่างนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ มีวิธีเลือกและอ้างว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตย ส่วนประเทศไทยมักจะเหลือบมองประเทศทั้งหลาย สุดแต่ว่าคนร่างไปเรียนที่ไหนมาจะมองและลอกมา ไม่เคยมีใครศึกษาว่าประเพณีวัฒนธรรมวิถีชีวิต ความเชื่อและการปฏิบัติของคนไทยที่ไม่เหมือนใครในโลกควรมีวิธีอย่างไร

...

โต้วุ่นไม่ได้สร้างหลักพิสดาร

นายมีชัยกล่าวอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้เราเขียนหมวดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้กว้างขึ้น เรื่องการขจัดคนทุจริต กรธ.คิดเบื้องต้นว่า หากครั้งหนึ่งของนักการเมืองเคยทุจริต ประพฤติมิชอบต่อหน้าที่ ไม่ควรกลับมาสู่การเมืองอีก และคนที่เคยทำความผิดเรื่องสำคัญๆ แล้วถูกลงโทษศาลตัดสินว่าทุจริต ทั้งการค้ามนุษย์ การพนัน เท่ากับประวัติไม่ดีอย่าเข้ามาเลย คนโวยวายว่าโหดร้าย เราไม่ได้สร้างหลักพิสดาร การเอาหลักผู้ใหญ่บ้านมาใช้กับนายกฯ ครม. ส.ส. เพื่อป้องกันคนทุจริตไม่ให้เข้ามา ส่วนคนที่เข้ามาแล้วทำความผิดอย่างนั้นต้องออกไปอย่าอยู่ ส่วนปัญหาการกระทำที่คาบเกี่ยวสีเทา กรธ.คิดว่าคนในวงการการเมืองต้องมีมาตรฐานจริยธรรม หากทำผิดต้องออกหากเป็นความผิดร้ายแรง กลไกในรัฐธรรมนูญสร้างเป็นวงกลมทุกหน่วยที่มีอำนาจจะถูกตรวจสอบ ไม่มีใครหลุดรอด ที่บอกว่าให้อำนาจใครมากใครน้อย ไม่ใช่ ทุกคนต้องถูกตรวจสอบทั้งหมด โดยระหว่างนี้ กรธ.จะพยายามปรับปรุงแก้ไขให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ เชื่อว่าถ้ารัฐธรรมนูญนี้ออกใช้บังคับ บ้านเมืองจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประชาชนจะมีกลุ่มคอยจับตาดูและขจัดการทุจริตให้ค่อยๆ ลดลงไปให้ได้

ใช้ รธน. 2 ระยะแค่ช่วยสานต่อราบรื่น

จากนั้นนายมีชัยให้สัมภาษณ์ถึงการหารือข้อ 16 ของข้อเสนอของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ว่า ไม่มีอะไรมากไปกว่าคำแนะนำว่าหากอะไรที่คนเสนอมาจะไปทำให้กฎเกณฑ์ที่เราวางไว้เสียหาย ให้ไปทำในบทเฉพาะกาลได้ แล้วระหว่างการเปลี่ยนถ่ายอำนาจขอให้ทำอย่างราบรื่นขึ้น ความหมายของข้อ 16 ไม่มีอะไรลึกซึ้งมากกว่านั้น คำว่า 2 ขยัก มีความหมายว่าอะไรที่ใช้ชั่วคราวอย่าทำให้หลักใหญ่มันเสีย เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล ส่วนที่ตีความว่าจะทำให้มีอำนาจอยู่เหนือรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ยืนยันว่าไม่มี เพราะเมื่อมีรัฐบาลใหม่มาแล้ว ทุกคนไปกันหมด เหลือแต่คนที่ทำหน้าที่กันอยู่คือ พวกที่มาจากการเลือกตั้งชุดใหม่ คสช.ก็ไป เรากำลังเข้าใจข้อ 16 ผิดเลยกังวลกันมากไป ยืนยันว่าข้อเสนอของ ครม.ในข้อ 16 ไม่มีอะไร แต่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปโดยไม่ขัดแย้งหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าจะเขียนอะไร ตอนนี้เราไล่ดูข้อเสนอของภาคส่วนต่างๆ หากแก้ได้จะทำให้ หากสิ่งไหนไม่แก้เพราะเป็นสิ่งที่ กรธ.ยืนยัน แต่ถ้าไม่แก้อะไรเลยจะลำบาก ล่าสุดเกือบจบหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐแล้ว

ขึงยาวช่วงเปลี่ยนผ่านคือบังคับปฏิรูป

เมื่อถามถึงความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ที่ต้องการมีช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี นายมีชัยกล่าวว่า นั่นคือส่วนที่ว่าด้วยการปฏิรูปที่ต้องการให้ทำให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี ในบทเฉพาะกาลยังไม่ได้เขียนเรื่องการปฏิรูป เขียนจุดๆเอาไว้ แต่ยังไม่ได้บอกว่าต้องทำอย่างไรกับการปฏิรูปที่จำเป็นต้องทำ ยังไม่ได้เขียนกลไกเอาไว้ว่าเรื่องไหนจะบังคับให้ทำภายในกี่ปี เรื่องไหนบังคับให้ทำให้แล้วเสร็จ ตอนนี้กำลังคิดว่า วิธีที่ดีที่สุดคือ จะบอกว่าปฏิรูปเรื่องอะไร เพื่ออะไร จะเป็นตัวบังคับ เช่น ให้ปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้เด็กเริ่มเรียนได้ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนภายใน 3 ปี แล้วปีแรกนั้นให้รัฐบาลทำ ส่วน 2 ปีหลังรัฐบาลใหม่มาต้องทำ นั่นคือช่วงเปลี่ยนผ่านที่ว่า แล้วอาจเขียนบทกำหนดโทษเพื่อให้ศักดิ์สิทธิ์ต้องมีการควบคุม สำหรับข้อกังวลของรัฐบาลต่อสถานการณ์ขัดแย้งถูกจัดสรรไว้แล้ว หลายเรื่องถูกเขียนไว้ในตัวแม่บทแล้ว แต่คนยังอ่านไม่เจอเท่านั้น

แทงกั๊กเขียนป้อนลากตั้ง ส.ว.ชุดแรก

เมื่อถามถึงข้อเสนอให้ยกเว้นบางบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญในบทถาวร เช่น ข้อเสนอให้คสช.ตั้ง ส.ว.ชุดแรก นายมีชัยกล่าวว่า ตรงนี้ยังไป ไม่ถึง ทั้ง สนช.และ สปท.พยายามผลักดันให้แก้วิธีให้ได้มาของ ส.ว. ซึ่งยังพิจารณาไปไม่ถึง และกำลังนั่งคิดอยู่ว่าจะทำอย่างไร เมื่อถามถึงกรณีฝ่ายการเมืองวิจารณ์ว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญเกาหลีเหนือ จะส่งผลต่อการทำประชามติหรือไม่ นายมีชัยย้อนถามว่า “ใครพูดว่าไปร่างที่เกาหลีเหนือ” ผู้สื่อข่าวตอบว่า “นายทักษิณ ชินวัตร” นายมีชัยไม่ตอบแล้วเดินออกจากวงให้สัมภาษณ์ทันที

“บิ๊กจิ๋ว” จวก คสช.ยิ่งอยู่ยิ่งเพิ่มขัดแย้ง

ขณะที่เวลา 09.00 น. ที่บ้านซอยปิ่นประภาคม พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ เปิดแถลงพร้อมทำจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนชาวไทยผู้รักชาติ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 10 คนสังเกตการณ์ แต่ไม่มีทหารมาเฝ้าสังเกตการณ์และบันทึกภาพเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวระบุว่า นับแต่ คสช. อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาของชาติและความขัดแย้งของบ้านเมือง ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 ระงับยับยั้งความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง แต่จากการบริหารงานมาครบ 2 ปี ปรากฏว่า แนวทางที่รัฐบาล คสช. กำลังดำเนินการกลับมีแนวโน้มนำไปสู่ความขัดแย้งในบ้านเมืองยิ่งขึ้น ทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนเดือดร้อน เศรษฐกิจเข้าสู่ยุคเงินฝืด ประชาชนขาดกำลังซื้อ การส่งออกลดลงอย่างรุนแรง

ฟันธงยากฝ่าด่าน รธน.-ปัญหารุมเร้า

จดหมายเปิดผนึกฯระบุต่อว่า ขณะที่การร่างรัฐธรรมนูญที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการยกร่างฯ ได้รับการต่อต้านจากหลายภาคส่วนมากยิ่งขึ้น โครงสร้างและเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง มิหนำซ้ำยังถอยหลังเข้าคลองหลายสิบปี อยู่ระหว่างการปรับปรุงก่อนไปสู่ขั้นตอนการจัดทำประชามติ มีข่าวว่ารัฐบาลพยายามทุกวิถีทางผลักดันเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติให้ได้ ขณะเดียวกันภาคประชาชนมีเครือข่ายเตรียมการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและไม่ให้ประชามติครั้งนี้ผ่านไปได้ จากประสบการณ์ในชีวิตของตน ที่ได้มีส่วนเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศช่วงที่ผ่านมา เชื่อได้ว่า ยากที่ คสช.และรัฐบาลจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและรุมเร้าอยู่ได้ และทราบว่าเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ผู้ช่วยเลขาธิการใหญ่องค์กรสหประชาชาติ ฝ่ายการเมืองและคณะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อติดตามสถานการณ์ทางการเมือง โดยหวังให้ไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย

บี้จัดเลือกตั้งในปี 59 คืนอำนาจ ปชช.

“จากปัญหาที่ซับซ้อนดังกล่าว การเสียสละอำนาจของ คสช. ถ้าไม่เกิดขึ้นโดยเร็วก็ยากที่จะขจัดปัญหาให้หมดสิ้น จะตกเป็นภาระแก่ชนรุ่นหลัง ในฐานะนายทหารรุ่นพี่ขอร้อง คสช.ไตร่ตรองปัญหาประเทศ โดยเมื่อท่านได้ทำหน้าที่รักษาความสงบของบ้านเมืองแล้ว ควรจะเสียสละอำนาจส่งต่อภาระหน้าที่ให้กับคณะกรรมการกลางที่จะมาจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันบริหารจัดการให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ภายในปี 2559 เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง”

ไล่ทหารถอนตัวไม่ใช่หน้าที่อยู่ต่อ 5 ปี

จากนั้น พล.อ.ชวลิตให้สัมภาษณ์ถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยจะผ่านประชามติหรือไม่ ว่า ตนกับนายมีชัยและนายวิษณุ เครืองาม เคยทำงานร่วมกันมา ไม่ทราบว่าจะผ่านหรือไม่ แต่ขอให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นฉบับที่ดีที่สุดไม่ถูกฉีกอีก ขอให้นายมีชัยยืนอยู่บนแนวทางที่ถูกต้อง อย่าต้องถึงขั้นต้องรับคำสั่งโดยตรงจาก คสช. เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับคำสั่งจาก คสช.เพื่อให้ประชามติผ่านหรือไม่ พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดา แต่มองว่าอยากให้ทหารถอนตัว เพราะไม่ใช่หน้าที่ของทหาร เมื่อถามถึงกรณีที่รัฐบาล คสช.จะอยู่ต่อช่วงเปลี่ยนผ่านไปอีก 5 ปี พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า จะเป็นไปได้อย่างไร บอกหลายทีแล้วว่า คสช. มีภาระหน้าที่แค่ไหน ท่านเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเท่านั้น มีหน้าที่เท่านี้จะขออยู่ต่ออีก 5 ปีได้อย่างไร แค่ 5 เดือนก็ไม่ไหว เพราะตลอด 2 ปีที่บริหารประเทศเห็นแล้วว่าเป็นอย่างไร ยิ่งมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ถ้า คสช.อยู่ต่อแล้วอาจเหมือนอดีตรัฐบาลที่ผ่านมา ที่เข้ามาได้รับดอกไม้ พอออกไปได้รับก้อนอิฐ

เชื่อ “แม้ว” จ้อสื่อนอกเพราะห่วงประเทศ

เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับการเคลื่อนไหวและการให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในช่วงนี้ พล.อ.ชวลิตตอบว่าท่านคงพูดด้วยความเป็นห่วงบ้านเมือง เมื่อถามว่า อยากฝากอะไรถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า อยากให้คนไทยมีงานทำ เอาของไปขายต่างประเทศ ทำเป็นรถเข็นใช้ชื่อ “รถจันทร์โอชา” ตามเมืองต่างๆที่บริโภคข้าวไทย จะทำให้คนรู้จักประเทศไทยมากขึ้น นำสินค้าโอทอปไปขายด้วย คนไทยจะได้ไม่ตกงาน

พท.ฟ้องยูเอ็นกติกาใหม่น่าเป็นห่วง

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีผู้ช่วยเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) และคณะ เข้าพบแกนนำพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ว่าได้เล่าถึงข้อห่วงใยในการร่างรัฐธรรมนูญ ดูเหมือน กรธ.แสร้งทำเป็นรับฟังข้อเสนอแนะ แต่ที่จริงจะแก้ไขตามที่คนพวกเดียวกันบางกลุ่มชี้แนะมาเท่านั้น หวั่นเกรงเป็นที่สุดคือรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากลและมีแนวโน้มจะปิดกั้นให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลด้านเดียว และ คสช.ยังคงห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง สะท้อนชัดเจนว่ายังมีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เกรงว่าอาจจะใช้อำนาจรัฐออกมากดดันหรือชักจูงให้ประชาชนต้องยอมรับรัฐธรรมนูญ ในช่วงการทำประชามติ ซึ่งไม่ใช่วิถีทางตามแนวทางประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น ทางคณะยูเอ็นจะนำไปรายงานนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติต่อไป

จี้เชิญองค์กรต่างชาติสังเกตการณ์

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า และการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ระบุว่าจะยืดเวลาการเปลี่ยนผ่านให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งออกไป 5 ปี เป็นสิ่งที่นายบัน คี มูน ควรจะได้รับทราบด้วย และขอเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ควรเชิญผู้สังเกตการณ์จากประชาคมโลกทั้งยูเอ็นและอียูเข้ามาดูการที่ท่านจะส่งนักศึกษาวิชาทหารและกำลังพลทหารลงพื้นที่ให้ความรู้ประชาชนในเรื่องรัฐธรรมนูญและให้เขาเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ตอนทำประชามติทั่วประเทศในครั้งนี้ด้วย คณะผู้แทนสหประชาชาติก็พร้อมที่จะมาร่วมได้หากรัฐบาลไทยเชิญ

ค้านขยักใช้ รธน.-ห้ามแปรญัตติงบฯ

นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอแนะการร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาล โดยเฉพาะข้อ 16 ว่า ไม่เห็นด้วยกับการเขียนรัฐธรรมนูญให้มีการบังคับใช้แบ่งเป็น 2 ช่วง เนื่องจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2 ช่วง จะสร้างความสับสนให้ประชาชน หากจะบังคับใช้ก็ควรเป็นแบบเดียวเพื่อให้เกิดความชัดเจน รวมถึงวิธีการนี้จะขาดการยอมรับจากนานาชาติ ส่วนการไม่ให้ ส.ส. รัฐมนตรี แปรญัตติงบประมาณนั้น ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเหมือนกับทำอะไรไม่ได้เลย ส.ส.ถูกคนในพื้นที่เลือกมา แต่กลับไม่สามารถทำประโยชน์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ ผิดเจตนารมณ์ของผู้แทนปวงชน ตรรกะแบบนี้ใช้ไม่ได้

“คณิน” ตอก “วิษณุ” พูดเอาแต่ได้