(ภาพจาก : AFP)
เมืองไทย มีหน้าร้อนที่ยาวนานกว่าหน้าฝนและหน้าหนาว
คนไทยเราจึงชอบดื่มน้ำและเครื่องดื่มที่ผสมน้ำแข็งเพื่อดับกระหาย คลายร้อน ทั้งน้ำแข็งหลอด น้ำแข็งก้อน และน้ำแข็งบด ที่ร้านอาหารทุกร้านต้องมีไว้บริการลูกค้า
ทว่าอากาศที่ร้อนอบอ้าว นับเป็นสภาวะที่เชื้อก่อโรคหลายชนิดชื่นชอบ และเจริญเติบโตได้ดี เช่น เชื้อ อี.โคไล, สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส,ซาลโมเนลลา
เชื้อเหล่านี้ จะปนเปื้อนเข้าสู่น้ำแข็งได้ ทั้งในระหว่างการผลิตน้ำแข็งในโรงงานน้ำแข็ง ในขั้นตอนการเก็บรักษาขณะขนส่ง และระหว่างรอขาย
หากคนงานที่ต้องสัมผัสกับน้ำแข็งไม่รักษาสุขลักษณะส่วนบุคคลให้ดีเพียงพอ เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต และภาชนะที่ใช้ในการผลิตและสัมผัสกับน้ำแข็งไม่สะอาด หรือหากสถานที่เก็บรักษาเพื่อรอขาย และร้านขายน้ำแข็ง ไม่รักษาสุขลักษณะและความสะอาดของบริเวณที่ใช้ผลิต หรือขายให้ดีเพียงพอ อาจทำให้เชื้อก่อโรคปนเปื้อนอยู่ในน้ำแข็งที่เราซื้อมาทานได้
โดยเฉพาะเชื้อ อี.โคไล ที่มีชื่อเต็มว่า เอสเชอริเชีย โคไล เป็นเชื้อที่พบทั่วไปในลำไส้คนและสัตว์เลือดอุ่น จึงมักตรวจพบในอุจจาระ เมื่อเราได้รับ อี.โคไล เข้าสู่ร่างกายจากอาหารและน้ำดื่มจะทำให้เกิดโรคท้องร่วง อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียนร่วมด้วย
วันนี้ สถาบันอาหาร ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำแข็งบดจากร้านขายน้ำแข็ง และโรงงานทำน้ำแข็ง จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้าใน กทม.และ จ.สมุทรปราการ เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื้อ อี. โคไล ปนเปื้อน
ผลวิเคราะห์พบว่ามีน้ำแข็งบด 3 ตัวอย่างที่ตรวจพบเชื้อ อี.โคไล ปนเปื้อน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ. 2527) กำหนดให้น้ำแข็งต้องตรวจไม่พบเชื้อ อี. โคไล ปนเปื้อนเลย
เห็นอย่างนี้แล้ว ขอแนะว่าควรเลือกซื้อน้ำแข็ง จากร้านที่ใช้ถังน้ำแข็งที่สะอาด ไม่มีของอย่างอื่นแช่รวมอยู่ด้วย และไม่มีเศษผงหรือสิ่งแปลกปลอมปะปน
...
แต่หากทำน้ำแข็งทานเอง โดยนำน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกมาใส่ช่องทำน้ำแข็งในตู้เย็นที่บ้านได้ น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการลดความเสี่ยงจากเชื้อก่อโรคที่ปนเปื้อนในน้ำแข็ง.