หลังจากขบคิดหาทางลดปัญหาขยะมานาน จนตกผลึกได้ข้อสรุปออกมา ทำให้อินโดนีเซีย ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนได้ทีเข็นนโยบายเด็ดออกมาใช้แล้ว
โดยตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้ประกาศบังคับใช้มาตรการลดขยะ (แบบทดลอง) ใน 22 เมืองใหญ่ทั่วประเทศ รวมทั้ง กรุงจาการ์ตา บันดุง บาลิกปาปัน มากัสซาร์และ สุราบายา เป็นต้น เมื่อผู้จับจ่ายซื้อของต้องจ่ายตังค์ถ้าอยากได้ถุงพลาสติกใส่ของกลับบ้าน
ซิติ นูร์บายา รมว.สิ่งแวดล้อมและป่าไม้ ของอินโดนีเซีย พูดถึงมาตรการใหม่นี้ว่า รัฐบาลกลางจะช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนรัฐบาล หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกด้วยการบังคับทดลองใช้ “ระบบถุงพลาสติกเติมเงิน” (pre-paid) ที่ว่านี้
กระทรวงสิ่งแวดล้อมฯแนะนำด้วยว่า ใครที่อยากได้ถุงใส่ของควรถูกชาร์จเก็บเงินขั้นต่ำ 200 รูเปีย หรือราวๆ 53 สตางค์ แต่จะเก็บเงิน มากกว่านี้ก็ได้เพื่อจะเป็นกุศโลบายให้คนหิ้วถุงพลาสติกมาจากบ้านเอง
ส่วนที่ว่าแต่ละเมืองจะเก็บเงินเท่าไหร่กันบ้าง ก็พอมีรายละเอียดมาบ้างแล้ว เช่น กรุง จาการ์ตา จะเก็บเงินลูกค้า 5,000 รูเปีย (ราว 13.17 บาท) ต่อถุงพลาสติก 1 ถุงในทุกๆร้านค้า รวมทั้ง ตลาดขนาดเล็กและตลาดชุมชน
นาย ริดวัน คามิล นายกเทศมนตรีเมือง บันดุง บอกว่า นโยบายถุงพลาสติกเติมเงินจะสร้างผลกำไรทางเศรษฐกิจให้เมืองบันดุงมากถึง วันละ 1,000 ล้านรูเปีย (ราว 2.66 ล้านบาท) หรือตกปีละ 360,000 ล้านรูเปีย (ราว 957.86 ล้านบาท) เลยทีเดียว
ความพยายามลดขยะถุงพลาสติกยังเป็นส่วนหนึ่งใน “แผนพัฒนาครึ่งเทอมแห่งชาติ” ของรัฐบาล ที่มีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะทั่วประเทศที่มีมากถึงปีละ 64 ล้านตัน (ซึ่งในขยะ ปริมาณมหาศาลนี้มีที่เป็นพลาสติกราวร้อยละ 14) ไห้ได้ราวร้อยละ 11 ภายในปีนี้
...
มาตรการหรือระบบนี้จะทดลองดำเนินการนาน 6 เดือน และจะประเมินผลลัพธ์ทุกสามเดือน ถ้าประสบความสำเร็จด้วยดี ปริมาณขยะถุงพลาสติกลดลงชัดเจน รัฐบาลกลางจะออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ต่อไป
ขณะที่ดอกผลที่ได้จากมาตรการนี้จะเก็บสะสม เพื่อนำไปใช้ทำหรือสนับสนุนโครงการเพื่อสวัสดิการชุมชนนั่นเอง.
เกรียงศักดิ์ จุนโนนยางค์