สปท.เห็นชอบแผนปฏิรูปท่องเที่ยว โอน "สสปน.-อพท.-พิงคนคร" สังกัด ก.ท่องเที่ยว "วิทยา" เสนอรัฐเลิกทุบทิ้งรีสอร์ตรุกป่า อ้าง "อช.สิรินาถ" มีคนลงทุนให้แล้วหมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 15 ก.พ.59 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มี น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธาน สปท.คนที่ 2 เป็นประธาน พิจารณารายงานเรื่องการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว

โดย นายสถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน กมธ.กล่าวรายงานว่า ทาง กมธ.เห็นสมควรเร่งดำเนินการปฏิรูปการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดความสัมฤทธิ์ผลภายใต้กรอบระยะเวลาที่มีอยู่ คือ ปฏิรูปโครงสร้างองค์กรด้านการท่องเที่ยวทั้งระบบ และบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการปรับปรุงกฎหมายและ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงการบังคับใช้กฎมาย การบริหารขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว การบริหารการจัดเก็บรายได้และการกระจายงบประมาณให้เหมาะสมสอดคล้องกัน รวมถึงการปฏิรูปมาตรฐานการจัดการแหล่งท่องเที่ยวของไทยให้อยู่ในระดับสากล และส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านการท่องเที่ยวของคนในท้องถิ่น

นายสถิต กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กมธ.ได้เสนอแนวทางแก้ไขที่สามารถดำเนินการแก้ไขภายใต้ระยะเวลา 6 เดือน คือ ปรับให้หน่วยงานหลักด้านท่องเที่ยวทั้งหมด มาอยู่ภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสังกัดสำนักนายกฯ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) องค์กรการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (อพท.) และสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ที่สังกัดสำนักนายกฯ ทำให้ขาดการบูรณาการตามสายงานบังคับบัญชา ดังนั้นจึงต้องปรับโครงสร้างให้ชัดเจนเพื่อให้การทำงานในอนาคตสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น นอกจากนั้นเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการท่องเที่ยว และคณะกรรมการบูรณาการท่องเที่ยวจังหวัดขึ้นในทุกจังหวัด รวมทั้งจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ ภายใต้การดูแลของปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จากนั้นสมาชิก สปท. ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง

...

โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิก สปท. กล่าวว่า ในเรื่องการทำงานของหน่วยงานท่องเที่ยวที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยังมีความซ้ำซ้อนในการทำหน้าที่กันอยู่ ทั้งนี้ในส่วนของสวนสัตว์ไนท์ซาฟารีที่ให้ขึ้นกับสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ตนคิดว่ายังไม่ถูกต้องนัก เพราะไนท์ซาฟารีควรอยู่ภายใต้การบริหารขององค์การสวนสัตว์ฯ ให้เหมือนกับสวนสัตว์ทั่วไป เพื่อให้บูรณาการการทำงานทั้งในเรื่องงบประมาณและบุคลากรร่วมกันได้

ด้าน นายวิทยา แก้วภราดัย สมาชิก สปท. กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการรักษาป่า แต่ขณะนี้มีการก่อสร้างรีสอร์ตในพื้นที่ป่าจำนวนมาก ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับการไปรื้อถอนทุบทิ้งทั้งหมด แต่ควรให้นำมาเป็นของรัฐ แล้วให้เอกชนทำเรื่องเช่าเพื่อหารายได้เข้ารัฐ โดยมีเงื่อนไข หากผิดเงื่อนไขก็สามารถยกเลิกสัญญาได้ ดังนั้นขอฝากให้ กมธ.ไปพิจารณา เพราะยังมีรีสอร์ตอีกหลายแห่งที่รอการทุบทิ้งในเวลานี้ โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานฯ สิรินาถ จ.ภูเก็ต ซึ่งมีพื้นที่ป่า 6,000 ไร่ หายไป 4,000 ไร่ เหลือป่าอยู่ 2,000 ไร่ ที่ยังเป็นสีเทาๆ แต่ที่แน่ๆ 1,000 ไร่ ผิดกฎหมายแน่ๆ ดังนั้นควรเปิดกฎหมายยึดรีสอร์ตให้ตกเป็นของรัฐ เพราะมีคนไปลงทุนให้รัฐแล้วหลายหมื่นล้านบาท ท่านยังจะกล้าทุบทิ้งแล้วปลูกต้นไม้แทนหรือ ซึ่งไม่รู้ว่าปลูกต้นไม้ฟื้นฟูทำได้สำเร็จหรือไม่ แต่อยู่เฉยๆ ก็มีรีสอร์ตหลายหมื่นล้านบาทมาเป็นของรัฐ ส่วนเอกชนถ้าสู้กับรัฐก็มีแต่คุก ดังนั้นถ้าตกลงกันได้รัฐก็ได้ประโยชน์มาก คนก็อยู่ร่วมกับป่าได้ ภายหลังการอภิปรายที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในรายงานดังกล่าวด้วยคะแนน 171 ต่อ 1 งดออกเสียง 3 เสียง โดย กมธ.จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะไปปรับปรุง ก่อนเสนอให้ประธาน สปท.และ ครม.ต่อไป.