นักวิชาการด้านปฐพีวิทยา ม.เกษตรฯ ชี้ “การใช้น้ำบาดาล” ทำแผ่นดินชายฝั่งทรุดต่อเนื่องปีละ 1-2 เซนติเมตรเป็นอีกหนึ่งสาเหตุก่อปัญหาพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยถูกน้ำทะเลกัดเซาะเสียหาย ผนวกกับอัตราเพิ่มสูงของน้ำทะเลปีละ 4 มิลลิเมตร ส่งผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่งของน้ำทะเลให้รุนแรงขึ้น แนะรัฐบาลออกกฎหมายห้ามใช้น้ำบาดาลถาวร พร้อมเร่งสร้างระบบประปาริมชายฝั่งทดแทน ขณะที่ชาวบ้านชุมชนบางบ่อ หนึ่งในหลายชุมชนริมชายฝั่ง โอดที่ยังต้องใช้น้ำบาดาลเพราะประปาภูมิภาคเข้าไม่ถึง ได้แต่ช่วยกันเองทำแนวกั้นไม้ไผ่ชะลอคลื่น รวมถึงปลูกป่าชายเลนเพิ่ม
จากปัญหาพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านตามแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยเกิดการทรุดตัวและชายฝั่งถูกน้ำทะเลกัดเซาะหายไปอย่างต่อเนื่อง สร้างความสูญเสียทั้งของชาวบ้านและระบบนิเวศชายฝั่งคิดเป็นมูลค่ามหาศาล ทำให้มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังถึงสาเหตุและแนวทางแก้ไข โดยเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า จากการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มก. ศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา มาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปี 2558 พบว่าปัญหาการหายไปของพื้นดินชายฝั่งทะเลในพื้นที่จังหวัดตอนบนของอ่าวไทย นอกจากปัญหาปริมาณตะกอนที่เคยไหลออกสู่ทะเล มีปริมาณลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการสร้างเขื่อน ฝาย ประตูระบายน้ำต่างๆ ที่ทำหน้าที่แบ่งกั้นน้ำจืดและน้ำเค็มบริเวณตามแนวชายฝั่ง และปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นปีละ 4 มิลลิเมตรแล้ว ยังพบว่ามีปัญหาแผ่นดินชายฝั่งทะเลทรุดจากการใช้น้ำบาดาล ในอัตรา 1-2 เซนติเมตร/ปี เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้น้ำทะเลท่วมพื้นดินชายฝั่งได้รวดเร็วและรุนแรงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะบริเวณชุมชนวัดขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ, ชุมชนบ้านชายทะเลรางจันทร์ ต.นาโคก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และชุมชนบ้านบ่อล่าง ต.บางแก้ว อ.เมืองสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่มีการใช้น้ำบาดาลมากว่า 50 ปี
...
ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยเป็นพื้นที่ควบคุมการใช้น้ำบาดาล แต่ในบางพื้นที่ที่การประปาส่วนภูมิภาคยังเข้าไม่ถึง การใช้น้ำบาดาลก็เป็นเรื่องจำเป็นที่มิอาจเลี่ยงได้ เช่น ชุมชนบ้านชายทะเลรางจันทร์ เป็นอีกชุมชนที่มีการใช้น้ำบาดาลมากว่า 50 ปี เคยมีบ่อสูบน้ำบาดาลกระจายอยู่ทั่วชุมชนกว่า 30 หลังคาเรือน และในปี 2531 มีการลดการใช้น้ำบาดาลในชุมชน ให้เหลือเพียงแห่งเดียว บริเวณวัดรางจันทร์ โดยก่อสร้างถังสูงเก็บน้ำเพื่อจำหน่ายในราคาถูกให้กับชาวบ้านในชุมชนใช้งานเป็นประปาหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน เพราะหมู่บ้านชายทะเลรางจันทร์ อยู่นอกพื้นที่การให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาค ทำให้การใช้น้ำบาดาลในพื้นที่มีความจำเป็นต่อชาวบ้านในชุมชน และเนื่องจากไม่สามารถยกเลิกการใช้น้ำบาดาลได้อย่างสิ้นเชิง จึงทำให้การทรุดตัวจากการสูบน้ำบาดาลยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในอัตราทรุดตัวอยู่ที่ 14 มิลลิเมตร/ปี ขณะเดียวกัน บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยส่วนใหญ่ มีการทำเกษตรกรรมขุดบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงทำให้ต้องแปรสภาพป่าชายเลนเป็นบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งป่าชายเลนเป็นปราการป้องกันคลื่นตามธรรมชาติ ยิ่งกว่านั้นยังมีการขุดคลองเพื่อนำน้ำจากทะเลไปใช้ในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ มีผลทำให้ชายทะเลอ่อนแอไม่สามารถต่อสู้กับคลื่นลม พายุ และเป็นการเร่งการกัดเซาะชายฝั่งให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น
หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มก. กล่าวอีกว่า แนวทางและมาตรการลดผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและการทรุดตัวของแผ่นดิน ในเบื้องต้น รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ปัญหาปัจจัยการทรุดตัวของแผ่นดินจากการใช้น้ำบาดาลด้วยการออกกฎหมายยกเลิกการใช้น้ำบาดาลอย่างถาวร โดยเฉพาะในพื้นที่รัศมี 10 กิโลเมตรจากชายฝั่งอ่าวไทย และเพิ่มการให้บริการน้ำประปาอย่างทั่วถึง ครอบคลุมพื้นที่ริมชายฝั่ง รวมทั้งติดตั้งหมุดตรวจวัดการทรุดตัวของพื้นดินและบ่อตรวจวัดน้ำบาดาลตลอดพื้นที่ริมชายฝั่ง พร้อมเร่งฟื้นฟูป่าชายเลนให้กลับสู่สภาพที่เหมาะสม โดยการร่วมมือกันในชุมชน เช่น การป้องกันรักษาป่าชายเลนที่มีอยู่เดิม และการเพิ่มปริมาณป่าชายเลนด้วยการปลูกป่าเพิ่มเติม ที่สำคัญต้องปรับทัศนคติ และทำความเข้าใจกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งชาวบ้านในชุมชน นักอนุรักษ์ และนักพัฒนา โดยยึดหลักความจริงเพื่อรณรงค์และช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ลดการกระทำที่เร่งให้เกิดปัญหาในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเลที่ไม่เหมาะสม เช่น การทำลายป่าชายเลนเพื่อขุดทำนากุ้ง
ด้านนายวิสูตร นวมศิริ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ชุมชนบางบ่อ ต.บางแก้ว อ.เมืองสมุทรสงคราม หนึ่งในหมู่บ้านริมชายฝั่ง ที่พื้นดินกว่า 30 ไร่ ถูกกัดเซาะจมหายไปใต้ทะเล กล่าวว่า ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะมีมานานนับ 20 ปี จนชายฝั่งพังบ้านเรือนที่อยู่ในหมู่ 10 ต้องรื้อหนีถึง 11 หลัง ตนและชาวบ้านในชุมชนพยายามต่อสู้ป้องกันมาตั้งแต่ปี 2551 ด้วยการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น เป็นแนวกั้นที่มีความยาวกว่า 1,800 เมตร และปลูกป่าชายเลนเพิ่ม ซึ่งประสบความสำเร็จได้ระดับหนึ่ง ทำให้ตอนนี้มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มมากขึ้น และบ้านเรือนภายในชุมชนบางบ่อ หมู่ที่ 10 ก็ไม่ได้รื้อหนีอีกต่อไป ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการระบุว่า การใช้น้ำบาดาลทำให้แผ่นดินทรุดตัวเพิ่มนี้ อันนี้ตนไม่มีความรู้ แต่ตนและชาวบ้านจะพยายามรักษาและขยายพื้นดินชายฝั่งให้มากที่สุด ด้วยการปลูกป่าชายเลนกับขยายแนวไม้ไผ่กันคลื่น แต่จะให้ชาวบ้านเลิกใช้น้ำบาดาลทั้งหมดในทันทีคงเป็นเรื่องยาก เพราะน้ำประปาส่วนภูมิภาคยังเข้ามาไม่ทั่วถึง และราคาก็แพงกว่าน้ำบาดาล ซึ่งเป็นระบบประปาหมู่บ้านเดิมถึงหน่วยละ 2 บาท