(ภาพ: AFP)

นักวิทยาศาสตร์ในภารกิจสำรวจดาวหาง ประกาศยุติความพยายามติดต่อกับหุ่นยนต์สำรวจ ฟิเล ซึ่งถูกส่งไปลงจอดบนดาวหาง 67พี ตั้งแต่ปลายปี 2014 แล้ว หลังติดต่อไม่ได้เลยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ในภารกิจ 'โรเซตตา' ขององค์การอวกาศยุโรป (อีซา) ซึ่งส่งหุ่นยนต์ 'ฟิเล' ลงบนดาวหาง '67พี' หรือ 'ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโก' เมื่อเดือน พ.ย. 2014 ตัดสินใจยอมแพ้ เลิกพยายามติดต่อกับหุ่นตัวนี้แล้ว หลังจากขาดการติดต่อกับหุ่นตัวนี้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2015 เนื่องจากหุ่นลงจอดในจุดอับแสงของดาวหาง ทำให้แบตเตอรี่สะสมพลังแสงอาทิตย์ได้ไม่มากพอ

ศูนย์อวกาศเยอรมนี (ดีแอลอาร์) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรวิทยาศาสตร์เบื้องหลังหุ่นฟิเล คาดการณ์ว่า ตอนนี้ ฟิเล อาจถูกปกคลุมด้วยฝุ่นและเย็นเกินกว่าที่จะทำงานได้แล้ว "น่าเสียดาย ที่โอกาสที่ฟิเลจะติดต่อกับทีมของเราที่ศูนย์ควบคุมยานดีแอลอาร์ได้อีกครั้งนั้น เกือบเป็นศูนย์ และเราจะไม่ส่งคำสั่งใดๆ ไปอีก" ดร. สเตฟาน อูลาเมค ผู้จัดการโครงการของดีแอลอาร์กล่าว

ทั้งนี้ หุ่นยนต์ ฟิเล ออกปฏิบัติการภายใต้ภารกิจ 'โรเซตตา' ซึ่งเป็นโครงการที่นำโดย อีซา ติดไปกับด้านข้างของยานอวกาศ โรเซตตา เดินทางข้ามระบบสุริยะเป็นเวลาถึง 10 ปี จนกระทั่งโรเซตตาเดินทางถึงดาวหาง 67พี และยานฟิเล ก็แยกตัวออกจากยานแม่จอดบนดาวหางดวงนี้สำเร็จในวันที่ 12 พ.ย. นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการนำยานลงจอดบนดาวหางแบบนุ่มนวล ไม่ใช่การกระแทก

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ว่าหุ่นตัวนี้ลงจอด ณ จุดใดของดาวหาง แต่เมื่อดูจากภาพที่มันส่งกลับมาทำให้เชื่อว่า ฟิเล ลงจอดในจุดอับแสงและทำมุมแปลกๆ ส่งผลให้ฟิเลไม่สามารถชาร์จแบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์ได้ และปฏิบัติภารกิจได้เพียง 110 นาที และส่งข้อมูลทุกอย่างเท่าที่รวบรวมได้กลับมายังโลกทัน ก่อนที่พลังงานของมันจะลดต่ำลงจนต้องเข้าสู่โหมดเตรียมพร้อม (สแตนด์บาย)

...

ถึงกระนั้น เจ้าหน้าที่ยังพยายามติดต่อกับหุ่นตัวนี้ผ่านยานโรเซตตา ซึ่งยังโคจรอยู่รอบดาวหาง 67P หลายครั้ง และได้รับการตอบสนองครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2015 แต่ตอนนี้ ดาวหางโคจรออกห่างจากดวงอาทิตย์ ทำให้อุณหภูมิบนพื้นผิวลดต่ำลงสู่ -180 องศาเซลเซียส ซึ่ง ฟิเล ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ปฏิบัติการในภาวะเช่นนี้ได้ "คงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก หากเราได้รับสัญญาณตอนนี้" ดร. อูลาเมค กล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์ มาร์ค แมคคอรีน ที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์อาวุโสของอีซา เผยต่อสถานีวิทยุ 'Radio 5 Live' ของสำนักข่าวบีบีซีว่า นี่ถือเป็นข่าวเศร้าแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ "แน่นอน มันเป็นวันที่น่าเศร้า เมื่อปี 2014 ฟิเลยังสามารถจับภาพรอบโลกได้ แต่เรื่องดีทั้งหมดต้องมีจุดจบ ที่จริง หากมันลงจอดอย่างเหมาะสมตั้งแต่แรก ภารกิจของมันคงยุติตั้งแต่เดือน มี.ค.ปีก่อนแล้ว เพราะฟิเลจะทำงานจนร้อนเกินไป" ศ.แมคคอรีน เสริมด้วยว่า ยานโรเซตตาจะยังทำภารกิจของมันต่อไป