การเปิดจุดรับซื้อของรัฐบาลถือว่าไม่ตรงเป้า นายกสมาคมยางแห่งประเทศไทยเรียกร้อง รบ. นำยางในสต๊อกมาทำถนนทั้งหมด ขณะที่ชาวสวนยางพาราไม่นำยางพาราขายกับจุดรับซื้อ เพราะขายได้แค่ 150 กก. ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมโครงการน้อยมาก...

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 59 เกษตรกรชาวสวนยางพารา ตำบลทับปริก อำเภอเมืองกระบี่ นำยางก้นถ้วยมาขายให้กับร้านรับซื้อของเอกชนในชุมชนราคากิโลกรัมละ 17 บาท เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีจุดรับซื้อยางพาราของรัฐบาลตามโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ และชาวบ้านไม่ได้ทำยางแผ่น โดยรับซื้อยางพาราจากชาวสวนยางพาราโดยตรง ในราคาชี้นำตลาดราคากิโลกรัมละ 45 บาท รายละไม่เกิน 150 กิโลกรัม ยางก้นถ้วยรับซื้อกิโลกรัมละประมาณ 28 บาท แต่ในจังหวัดกระบี่ ไม่มีจุดสำหรับยางก้นถ้วย ซึ่ง 3 วันที่ผ่านมา มีเกษตรกรนำยางมาขายไม่ถึง 50 คน จากจำนวน 3 หมื่นรายที่ขึ้นทะเบียนไว้

ด้าน เจ้าหน้าที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย อำเภอเมืองกระบี่ เร่งออกหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการเกษตรกรชาวสวนยางพารา ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ในพื้นที่เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเพื่อขอรับการสนับสนุนตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพารา ครอบครัวละ 1,500 บาท แต่ไม่เกิน 15 ไร่ โดยเจ้าของสวนยางพาราได้รับการช่วยเหลือไร่ละ 900 บาท ส่วนคนรับจ้างกรีดยางจะได้รับไร่ละ 600 บาท ล่าสุด มีชาวสวนยางพาราจังหวัดกระบี่ ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 3 หมื่นราย

...

ทั้งนี้ นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสมพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้การเปิดจุดรับซื้อของรัฐบาลถือว่าไม่ตรงเป้า และไม่ตรงกับความต้องการของเกษตรกร เพราะขายได้แค่รายละ 150 กิโลกรัม และขายได้เพียงครั้งเดียว ส่งผลให้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการน้อยมาก ไม่คุ้มกับการนำยางไปขาย ทำให้ราคายางในขณะนี้ไม่ได้กระเตื้องขึ้นมามากนัก เกษตรกรยังเดือดร้อนจากยางที่ราคาตกต่ำ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลนำยางในสต๊อกที่ยังไม่ได้มีการเจรจาขายกว่า 1 แสนตัน นำออกมาทำถนนในทันที ส่วนที่รับซื้อก็รับซื้อต่อไปและนำมาทำถนนเช่นกัน เพราะเมื่อยางในสต๊อกหมดราคายางก็จะปรับขึ้นตามความต้องการ.