ใกล้เข้าไปทุกที กับงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ - จุฬาฯ ครั้งที่ 71 ก็ถือเป็นธรรมเนียมประเพณีของ "ไทยรัฐออนไลน์" เช่นกัน ที่จะนำสาวสวยหนุ่มหล่อผู้มีหน้าที่ต่างๆ มานำเสนอกัน โดย "สวัสดีแคมปัส" ขอเปิดตัว "จุฬาฯ คทากร" ทั้ง 9 คน งานนี้สเปเชียลกว่าเดิม มีงานเปิดใจมาเพิ่มเติมด้วย เราไปรู้จักพวกเขาทีละคน มีว่าทีเด็ดไม้เด็ดอย่างไร


...
เริ่มกันที่ไม้หนึ่ง หรือที่เรียกว่า ผู้ถือไม้สัญญาณประจำงานฟุตบอลประเพณีฯ ประจำปีนี้ คือ "สุทพงษ์ ไตรภพภูมิ" หรือเสก นิสิตปีที่ 1 จากคณะแพทยศาสตร์

"เสก" จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทย์-คณิต จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ด้วยเกรดเฉลี่ยสะสม 3.89 และในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เสกยังสามารถทำคะแนนสอบได้ 100 คะแนนเต็ม ใน 3 วิชา ได้แก่ วิชาเคมี วิชาฟิสิกส์ในการสอบ 7 วิชาสามัญ และวิชาคณิตศาสตร์ในการสอบ O-Net ด้วย (โห…พระเจ้า กินอะไรถึงได้เก่งขนาดนี้)

"ผมว่าทุกคนก็ทำได้ถ้ามีเป้าหมาย ช่วงนั้นผมตั้งใจมาก ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยครั้งเดียวในชีวิตของผม ผมจะทำให้มันดีที่สุด และผลก็ค่อนข้างจะดีเกินคาดไป ผมรู้สึกว่า ผมใช้เวลาอ่านหนังสือมาเยอะขนาดนี้ กับผลลัพท์ที่ออกมา มันคือสิ่งตอบแทนที่ผมทุ่มเทลงไป"
ต่อกันที่หนุ่มคนที่ 2 "จิรัฐ สุวรรณวัฒนะ" หรือต้น นิสิตปี 3 จากคณะแพทยศาสตร์เช่นกัน ถ่อมตนว่า ตอนเข้ามาเรียนที่จุฬาฯ ผมไม่ได้เก่งแบบน้องเสกนะครับ 555 ก่อนจะเล่าถึงเรื่องเรียนว่า

"ตอนนี้ปี 3 แล้วก็เรียนยากเหมือนกันครับ เพราะเนื้อหามันเยอะ แต่ที่ตื่นเต้นก็เป็นช่วงปี 2 ตอนที่เรียนกับอาจารย์ใหญ่ แรกๆ ก็กลัวครับ แต่พอผ่าไปเรื่อยๆ ก็เริ่มชินครับ ซึ่งจริงๆ แล้วการได้เรียนรู้จากอาจารย์ใหญ่เป็นอะไรที่ดีมาก เพราะการเรียนรู้จากในหนังสือ มันก็ไม่เหมือนกับการผ่าจริงๆ"

...
จุฬาฯ คทากรคนที่ 3 คือ นายปลื้ม พงษ์พิศาล ที่มีชื่อเล่นว่า "ปลื้ม" เช่นกัน หนุ่มสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปี 1 ที่ชีวิตเปลี่ยนเพราะโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน ASF สหรัฐอเมริกา

"ผมรู้สึกชอบมากเลย ได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ตอนแรกผมเป็นเด็กเฉยๆ พอได้ไปเห็นประสบการณ์ใหม่ เจอสิ่งต่างๆ ผมได้นำสิ่งที่ผมเห็น ผมเจอ ประสบการณ์ต่างๆ มารวมๆ เป็นตัวเรา มันทำให้ผมเปลี่ยนความคิดไปเลย ตอนก่อนไปผมยังไม่รู้เลยว่าอยากเป็นอะไร เมื่อผมกลับมา ผมรู้ว่าตัวเองอยากเข้าสถาปัตย์ ผมก็เลือกเรียนเลย"

...
มาคุยกับสาวๆ กันบ้างดีกว่า นิสิตปี 3 น้องแตว นางสาวธนวรรณ กิตติไพศาลศิลป์ จากคณะจิตวิทยา สาวพูดเร็วชื่อแปลก เธอแอบเล่าว่า ในบ้านทุกคนชื่อ ต.เต่าหมดเลย และชื่อว่าแตว แม่บอกมันแปลกดี ไม่เคยเห็นใครชื่อนี้เลย ก็เลยตั้งชื่อหนูว่า แตว

"หนูภูมิใจชื่อนี้นะ หนูชอบ เพราะไม่มีใครชื่อนี้เลย ตั้งแต่เด็กๆ จะมีคนถามว่าชื่ออะไรนะ หนูก็ตอบว่าชื่อแตวค่ะ เขาก็จะ...แต้วเหรอคะ แต้มเหรอ แอ๋วเหรอ สุดท้ายหนูก็ต้องบอก แต้วก็ได้ค่ะ 555 แต่ยังไงหนูก็ชอบชื่อนี้นะ มันแปลกดีค่ะ หนูก็พยายามตามหาคนชื่อนี้ทุกวัน แต่ก็ยังไม่เจอค่ะ"

...
คนที่ 5 เป็นสาวเศรษฐศาสตร์ ปี 2 มีนามว่า "จีจี้" หรือนางสาวณัฏฐิกา ชื่นชมลดา เธอเล่าถึงเรื่องเรียนว่า ก็เรียนเรื่อยๆ นะคะ สนุกดี ถ้าเรียนจบไป ก็อาจจะไปทำธุรกิจต่อจากที่บ้านค่ะ

"สมัยปี 1 หนูเคยไปสมัครลีดของคณะเศรษฐศาสตร์ ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะหนัก แต่พอได้ทำกิจกรรม ก็รู้สึกว่าหนักเหมือนกันนะคะ แต่นั่นคือประสบการณ์ใหม่ และสำคัญคือได้เพื่อน ถือว่าเป็นอะไรที่ดีมากๆสำหรับการเรียนมหาวิทยาลัยของหนูเลยคะ"

สาวถัดไปนางเอกน้องใหม่ในซีรีส์ชุด Ugly Duckling รักนะเป็ดโง่ ตอน Pretty (Pity) Girl ส่งรักทักทายหัวใจยัยขี้ลืม คือ น้องนีร หรือ น.ส.นีร สุวรรณมาศ เฟรชชี่ปี 1 จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาวพูดเก่งไฮเปอร์ ไปฟังเธอเล่า

"หนูรู้สึกเหมือนตัวเองไม่เคยอยู่นิ่งๆ เลย ไปเรียนซัมเมอร์ เป็นลีด ทำกิจกรรมโน่นนี่ตลอดเวลา พอเข้ามาเรียนมหา'ลัย หนูอยู่คณะสถาปัตย์ซึ่งกิจกรรมเยอะมาก และก็เรียนหนักมาก แต่หนูก็ยังมาทำกิจกรรมเรื่อยๆ สุดท้ายตอนนี้ได้มาเป็นจุฬาฯ คทากร หนูดีใจมากกกกก"

ต่อที่นิสิตเศรษฐศาสตร์ ปี 2 น.ส.พัชรนันท์ พิพัฒนานนท์ หรือ "แพท" ส่วนตัวสาวแพทเป็นคนชอบทำกิจกรรมมาตั้งแต่ชั้นมัธยม และชอบเล่นกีฬา

"หนูชอบมากๆ กับการทำกิจกรรม เพราะจะได้เจอคนโน้นคนนี้ ได้ทำอะไรใหม่ๆ พอได้เข้ามาเรียนที่นี่ ได้มีโอกาสเป็นลีดคณะตอนปีที่ 1 พอขึ้นปี 2 จึงมาสมัครเป็นจุฬาฯ คทากร เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ แบบที่เธอตั้งใจไว้"

ตามด้วยเด็กเศรษฐศาสตร์อีกคน นายทยาวัต ศรอินทร์ ที่มีชื่อเล่นว่า เต้น นิสิตปี 3 เล่าว่า ตัวเองมาจากต่างจังหวัด เป็นหนุ่มหาดใหญ่ ที่มีความตั้งใจจะมาเรียนเศรษฐศาสตร์ที่นี่ เพราะตอนเรียน ม.ปลายเป็นเด็กสายวิทย์ แต่พอได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ตอน ม.6 เริ่มรู้สึกชอบ และเริ่มรู้สึกไม่ชอบสายวิทยาศาสตร์แล้ว จึงตัดสินใจเลือกเรียนในคณะที่ตัวเองชอบ เนื่องจากมันได้ใช้ความคิดดี

"สิ่งที่ผมประทับใจ คือ ผมได้เป็นทีมบอลของคณะ ผมรู้สึกดีนะ ได้เข้าใจคำว่าพี่จุฬาฯ น้องจุฬาฯ จริงๆ คือเวลาที่รุ่นพี่ปี 2 และปี 3 มาช่วยซ้อมน้องปี 1 และเวลาที่ซ้อมบอลจะต้องวิ่งเยอะมาก แต่รุ่นพี่จะมาวิ่งด้วยตลอด จนครบตามที่สั่ง ถ้าน้องโดนลงโทษอะไร พี่จุฬาฯ ก็โดนด้วยเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่ผมประทับใจมาก"

สุดท้ายเป็นเรื่องราวของหนุ่มบอส นายปพน ไพศาลเจริญวงศ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี 3 ที่พาตัวเองมาสมัครจุฬาฯ คทากรเป็นปีที่ 2 แล้ว เพื่อให้มีวันนี้ บอสบอกว่า

"นั่นคือความพยายามของผม ผมมาสมัครเป็นจุฬาฯ คทากรเป็นครั้ง 2 เนื่องจากปีที่แล้ว ไม่ผ่านการคัดเลือก ปีนี้ผมตั้งใจว่า ผมจะทำให้ได้ เพราะผมอยากจะทำอะไรให้มันน่าจดจำในชีวิตมหาวิทยาลัย นอกเหนือจากการเรียน นั่นคือ จุฬาฯ คทากร"





ชมข่าวอื่นๆ เกี่ยวกับงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ - จุฬาฯ ครั้งที่ 71