พรุ่งนี้ (พฤหัสบดีที่ 28 มกราคม 2559) จะมีการเสวนาที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง แต่ดูเหมือนข่าวคราวจะเงียบฉี่ ทั้งๆที่คณะผู้จัดได้เผยแพร่ข่าวสารว่าจะจัดสัมมนาเรื่องนี้มาหลายเดือนแล้ว

ความเงียบที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ตีความได้ 2 สถาน...สถานแรกคือสื่อต่างๆ ไม่ค่อยเห็นความสำคัญ จึงไม่มีการลงข่าวเท่าที่ควร

ส่วนสถานที่สองนั้น สื่อก็เห็นความสำคัญอยู่แต่เรื่องมันเข้าใจยาก อ่านแล้วไม่รู้จะหยิบมาบอกต่อได้อย่างไรว่าเรื่องนี้น่าสนใจ

สำหรับผมเชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุผลข้อสอง เพราะแม้แต่ผมเองที่เก็บเรื่องดองเอาไว้เสียนาน ยอมรับเลยว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจยากมาก พยายามอ่าน พยายามทำความเข้าใจ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เข้าใจลึกซึ้งพอที่จะนำมาเขียนเชิญชวนท่านผู้อ่านให้หันมาสนใจเรื่องนี้ได้

แต่วันนี้จะขออนุญาตเขียนทั้งๆที่ยังไม่รู้ลึกซึ้งละครับ เพราะผมมีความเชื่อมาตลอดว่า สิ่งที่เขาจะพูดกัน จะเสวนากันในวันพรุ่งนี้นั้น มีความสำคัญอย่างมากต่อการกำหนดอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศ

เราคงได้ยินนักเศรษฐศาสตร์พูดกันอยู่เสมอว่า ประเทศไทยเราพัฒนากันมานาน จนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูงแล้วในขณะนี้ แต่เราก็คงจะติดกับดักอยู่ตรงนี้แหละ ยากที่จะทะยานขึ้นไปเป็นประเทศรายได้สูงขั้นต้นได้

เหตุเพราะเรายังเวียนวนอยู่กับแนวทางพัฒนาเก่าๆ สิ่งที่เขียนไว้ในแผนพัฒนาก็ดี ในนโยบายของรัฐบาลต่างๆก็ดี ล้วนเป็นเรื่องของเศรษฐกิจเก่าที่นับวันจะอิ่มตัว ไม่มีวันที่จะเจริญงอกงามไปได้มากกว่าที่เคยเป็น

หนทางที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดพอสมควร จนสามารถข้ามขั้นไปเป็นประเทศรายได้สูงได้นั้น จะต้องเน้นไปที่ “เศรษฐกิจกระแสใหม่” ที่กำลังเป็นกระแสคลื่นลูกใหม่ของโลก

...

นักวิชาการเริ่มหันมาให้ความสนใจมากขึ้น และแผนพัฒนาฉบับหลังๆ รวมทั้งล่าสุดคือแผนฉบับที่ 12 ก็ให้นํ้าหนักแก่เรื่องนี้เป็นการเฉพาะ

ในเอกสารเชิญชวนให้ไปฟังเสวนาที่ส่งมาถึงผมระบุว่า “เศรษฐกิจกระแสใหม่” หรือ New Economy เกิดจากการปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบอินเตอร์เน็ตที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมในทุกๆด้าน

มีส่วนประกอบหลักๆ ใน 3 ประการด้วยกัน...ได้แก่

1.เศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) 2.เศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio Economy) 3.เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม (Creative and Cultural Economy)

ส่วนรายละเอียดมากกว่านี้ท่านที่สนใจใคร่รู้คงต้องไปหาความรู้เพิ่มเติมกันเอาเอง ในการประชุมเสวนาที่จะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ (พฤหัสบดีที่ 28 มกราคม ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป) ในหัวข้อเรื่อง “เศรษฐกิจใหม่บนความท้าทาย : New World, New Economy, New challenge”

วิทยากรที่จะร่วมในการอภิปราย ได้แก่ ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ประณิธาน พรประภา ฯลฯ

ส่วนสถานที่ก็คือ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ถนนเจริญกรุง อาคารเก่าแก่ที่มีการปรับปรุงใหม่ และปัจจุบันนำมาใช้ประโยชน์หลายอย่าง ทั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ของไปรษณีย์ ห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง และส่วนหนึ่งจะเป็นที่ทำการใหม่ของ ศูนย์การสร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC ด้วย

ท่านผู้อ่านคงจะได้ยินข่าวคราวมาบ้างว่า ศูนย์การสร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC ที่ว่านี้เดิมตั้งอยู่ที่ชั้นบนของห้างสรรพสินค้า เอ็มโพเรียม สุขุมวิท บัดนี้จะโยกย้ายมายังสถานที่ใหม่อย่างเต็มตัว ณ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก นี่เอง

โดยที่ TCDC เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ ภายใต้กรอบของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 1 ใน 3 ประเภทที่กล่าวไว้ในตอนต้น คุณ อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์ฯ จึงเห็นเป็นโอกาสดีที่จะจัดงานเสวนาครั้งนี้ขึ้น พร้อมกับแนะนำภารกิจหลักของศูนย์ที่จะร่วมขบวนการขับเคลื่อนประเทศไทยตามนัยของเศรษฐกิจใหม่ให้ผู้เข้าฟังเสวนาได้รับทราบควบคู่ไปด้วย

เสียหน่อยเดียวที่สถานที่เสวนา เรื่องเศรษฐกิจใหม่ครั้งนี้ไปอยู่ในบริเวณเขตเศรษฐกิจเก่าของเมืองหลวงที่มีการเดินทางค่อนข้างจะยุ่งยากอยู่สักหน่อย ใช้วิธีการคมนาคมสมัยใหม่ ไม่ค่อยสะดวก เพราะรถติดมาก

มีข้อแนะนำว่าไปหาท่าเรือที่ไหนสักแห่ง แล้วใช้วิธีคมนาคมตามแบบเศรษฐกิจเก่า คือนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาไปลงท่าเรือด่วนสี่พระยา อาจจะสะดวกที่สุดและไปได้เร็วกว่าขับรถไปเอง.

“ซูม”