นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย ระบุ ช่วยรัฐบาลดันยาง 4–8 แสนตัน ออกจากตลาด ตั้งเป้า ราคายางฯ กก.ละ 60 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงาน 19 ม.ค. 2559 ที่ จ.นครศรีธรรมราช นายอภิชาติ พันธุ์พิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท นาบอนรับเบอร์ หนึ่งในกลุ่มบริษัทส่งออกยางพารารายสำคัญของไทย ในฐานะนายกสมาคมน้ำยางข้นไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า สถานการณ์ราคายางในประเทศขณะนี้ ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายด้าน ทุกฝ่ายต้องหันมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางฯ ของประเทศ สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้
รวมทั้งหลังจากที่รัฐได้ช่วยรับซื้อยางโดยตรงจากเกษตรกรแล้ว เกษตรกรก็ควรจะได้รับราคายางฯ ที่นำไปขายได้ไม่ต่ำกว่าราคาที่รัฐรับซื้อโดยตรง หรือสูงกว่าในการนำยางฯ ไปขายในตลาด หลังจากเกิดวิกฤติราคายางพาราครั้งล่าสุด ทางสมาคมได้ประชุมคณะกรรมการสมาชิกทั่วประเทศ มีความเห็นร่วมกันที่จะเสนอต่อรัฐบาลเพื่อเข้ามาช่วยกันผลักดันให้ราคายางพาราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อเสนอที่จะมีถึงรัฐบาลมีสาระสำคัญหลักๆ คือ
1. ให้ผู้รับซื้อยางทุกประเภทของไทย เข้ามาร่วมในการดูดซับยางออกจากระบบ ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ถึง 20 หรือ 4 แสน ถึง 8 แสนตัน
2. ในจำนวนยาง 4 แสน ถึง 8 แสนตัน ตามข้อ 1 ซึ่งใช้วงเงินประมาณ 2 หมื่น 4 พันล้าน หรือ สูงสุดไม่เกิน 5 หมื่นล้าน ราคายางตั้งไว้ที่กิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งผู้ประกอบการต่างๆ มีวงเงินกับธนาคารอยู่แล้ว รัฐบาลเพียงเข้ามาดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ยในส่วนต่าง เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ใช้เงินกู้ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ระยะเวลาในการดูดซับยาง 2 ปี
3.การรับผิดชอบการเก็บสต๊อก หากเป็นเรื่องของผู้ประกอบการ ให้รัฐบาลติดตามตรวจสอบสต๊อก ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
...
4.ทางสมาคมคาดว่า เมื่ออุปทานยางพาราถูกดูดซับออกไปจากระบบจำนวนมาก จะมีผลทางจิตวิทยา ทำให้ราคายางในตลาดขยับสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรและชาวสวนยาง ขายยางพาราได้ในราคาสูงขึ้น
นายอภิชาติกล่าวว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ประกอบการต้นน้ำ คือ ผลิตน้ำยางสด น้ำยางข้น ได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร เพราะราคายางตกต่ำมาก ได้ประชุมปรึกษาหารือเข้าร่วมโครงการกับภาครัฐ ช่วยกันซับยางออกจากตลาด โดยเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 2557 มีการนำเรื่องเข้า ครม. รัฐอนุมัติโครงการ เป็นโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน ให้ผู้ประกอบการ 1 หมื่นล้าน
ซึ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนทางภาคเอกชนโดยตรง หรือเป็นเงินผู้ประกอบการเอกชนที่มีอยู่แล้ว ซึ่งคนทำธุรกิจมีวงเงินอยู่แล้ว รัฐเพียงช่วยส่วนต่างของดอกเบี้ย ปกติเราใช้วงเงินของธนาคารดอกเบี้ย 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในคราวที่แล้ว เราเสนอให้รัฐบาลช่วยส่วนต่างดอกเบี้ย 3 เปอร์เซ็นต์ ผู้ประกอบการรับผิดชอบรับภาระ 1 เปอร์เซ็นต์ สามารถซับยางออกจากตลาดได้มากกว่า 2 แสนตัน
จากการซับยางไว้ในมือผู้ประกอบการทั้งระบบ ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ราคายางปรับตัวขึ้น จากการที่เริ่มซับยางในเดือนพฤศจิกายน 2557 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ราคายางก็ค่อยๆ กระเตื้องขึ้น
โดยในช่วงเวลานั้นสมาคมฯ เราร่วมกับรัฐบาลที่มีนโยบายแทรกแซงราคายาง คือ โครงการสร้างเสถียรภาพราคายาง เป็นการทำหรือดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐกับภาคเอกชน ทำให้ราคายางขยับตัวขึ้น จาก 3 กิโลร้อย หรือ กก.ละ 34 บาท ในช่วงนั้น สูงขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคายางสูงขึ้นมาราว 24 บาทต่อกิโลกรัม แต่พอสิ้นสุดฤดูกาล รัฐบาลยกเลิกการแทรกแซงราคา ทำให้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ราคายางฯ ก็อยู่ในช่วงขาลงมาจนถึงทุกวันนี้
นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย กล่าวว่า การเสนอเข้าร่วมรับซื้อยางฯ กับภาครัฐในครั้งนี้ เนื่องจากเล็งเห็นว่า หากรัฐดำเนินการเพียงลำพังอาจจะไม่สามารถตรึงราคายางฯ ให้สูงขึ้นตามที่ควรจะเป็นในระยะยาวได้ การร่วมกันของทุกฝ่ายจะสามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และเป็นการช่วยชาติ ช่วยลดภาระของรัฐบาล ที่มีปัญหา ทั้งปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัญหาอื่นๆ ให้ต้องแก้ไขอยู่ในเกือบทุกด้าน ประการสำคัญ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ สามารถดำรงชีพอยู่อย่างปกติสุข ไม่เดือดร้อน หรือผ่อนคลายปัญหาค่าครองชีพที่ฝืดเคืองลงไป.