"เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต" คำขวัญเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2559
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
“เด็กเอ๋ย เด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน” ท่อนคลาสสิกที่เราต่างคุ้นชินกันดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเทศกาลวันเด็กแห่งชาติ ทุกหน่วยงานล้วนจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย เป็นของขวัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ...
แม้ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา จะให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ผ่านนโยบายต่างๆ มากมาย แต่ทว่าปัญหาหนึ่งของการศึกษาไทย ที่กลายเป็นเรื่องน่าตกใจเป็นอย่างมาก เมื่อมีการสำรวจค่าเฉลี่ยการอ่านหนังสือของเด็กไทย พบว่า มีค่าเฉลี่ยการอ่านออกเขียนได้น้อยลงจนน่าใจหาย
วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอพาผู้อ่านไปเจาะลึกปัญหาการอ่านของเด็กไทย จากหลากหลายแง่มุม เพื่อเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึงความต่างระหว่างอดีตและปัจจุบันว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จุดที่เด็กไทยอ่านออก เขียนได้ น้อยลง? ฉะนั้นปัญหาอ่านไม่ออก อ่านไม่คล่อง เขียนไม่ได้ ต้องเริ่มแก้จากสิ่งใด? ติดตามได้ในรายงานพิเศษชิ้นนี้....

...
เลียนแบบเมืองนอก ทิ้งสอนสะกดคำ มาเป็นอ่านเป็นคำ หลงลืมไปภาษาไทยมีวรรณยุกต์?
ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา อธิบายถึงเหตุผลที่เด็กไทยอ่านออกเขียนได้ลดลง สาเหตุหลักคือรูปแบบการเรียนการสอน โดยเฉพาะวิชาภาษาไทย เนื่องจากถอยหลังไปก่อนหน้านี้ ประมาณ 10 ปี กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนวิชาภาษาไทย ในช่วงระดับประถมศึกษา จากการสอนแบบแจกลูกสะกดคำมาเป็นการสอนแบบอ่านเป็นคำๆ แทน

ซึ่งหากเปรียบให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างรูปแบบการสอน 2 รูปแบบ จะมีความต่างกัน คือ...
รูปแบบที่ 1 การสอนแบบแจกลูกสะกดคำ เช่น กา สะกดว่า กอ - อา - กา , ไป สะกดว่า ปอ - ไอ - ไป เป็นต้น วิธีนี้เป็นการสอนแบบเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่ในอดีต โดยจะสอนให้เด็กรู้จักการสะกดคำ และมีทักษะการผสมผสานคำได้หลากหลาย ซึ่งวิธีนี้หากเด็กมีทักษะการสะกดคำเป็นพื้นฐานแล้ว จะทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ง่ายขึ้น
รูปแบบที่ 2 การสอนแบบอ่านเป็นคำ เป็นรูปแบบการสอนที่ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปรับเปลี่ยนมาใช้ในการสอนเด็กระดับชั้นประถมศึกษาในระยะหลัง โดยวิธีการสอน จะไม่สอนให้เด็กสะกดคำ แต่จะเน้นให้เด็กอ่านเป็นคำๆ แทน เช่น พ่อ แม่ กิน นอน นั่ง เดิน เป็นต้น เพราะฉะนั้นเมื่อเด็กเจอคำศัพท์เหล่านี้ จะสามารถอ่านได้ทันที โดยไม่ต้องสะกด ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศก็ใช้วิธีการสอนอ่านลักษณะนี้
แต่ข้อเสียของการสอนอ่านเป็นคำๆ คือ ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับภาษาไทย เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาเดียวที่มีวรรณยุกต์ ฉะนั้นหากเปลี่ยนวรรณยุกต์ ความหมายจะเปลี่ยนทันที เช่น เมื่อเด็กเจอ คำว่า "ข้าว" เด็กสามารถอ่านได้และรู้ความหมาย แต่เมื่อเจอ คำที่เขียนใกล้เคียงกัน เช่น "ข่าว" หรือ "ขาว" เด็กจะเริ่มสับสนทันทีว่า จะอ่านว่าอย่างไร ซึ่งแตกต่างจากภาษาอังกฤษ ที่แม้จะอ่านต่างกัน แต่ความหมายยังคงเดิม รวมถึงภาษาไทยเป็นภาษาที่เมื่ออยู่ในรูปประโยค ตัวอักษรจะติดกัน ไม่ได้อยู่ในรูปแบบคำ เหมือนเช่นภาษาอังกฤษ ฉะนั้น การที่เด็กไม่มีทักษะการสะกดคำ หากเจอประโยคยาว ตัวอักษรติดกันเป็นพืด เด็กจะเริ่มสับสนและอ่านได้ช้ากว่าเดิม ดังนั้น จะเห็นว่าภาษาไทยเป็นภาษาเดียวที่มีเสียงวรรณยุกต์ จึงไม่สามารถใช้วิธีการสอนอ่านเป็นคำๆ เหมือนกับภาษาอื่นๆ ในโลกได้

นอกจากนี้ สาเหตุที่ทำให้ค่าเฉลี่ยการอ่านออก เขียนได้ ของเด็กไทยน้อยลงไปนั้น อีกปัจจัยคือ ยุคของเทคโนโลยี โทรทัศน์ หรือแม้แต่สื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทกับชีวิตมนุษย์มากขึ้น ส่งผลให้ความสนใจในการอ่านหนังสือของเด็กในปัจจุบันลดน้อยลง รวมถึงต้องเข้าใจด้วยว่า สังคมไทยไม่ได้มีเพียงเด็กปกติเท่านั้น แต่ละโรงเรียนต่างมีทั้งเด็กพิเศษที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD : Learning Disability) และเด็กออทิสติกปะปนอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อสำรวจกลุ่มตัวอย่าง หาค่าเฉลี่ยของเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จึงเหมารวมกลุ่มนี้ไปด้วย
เจาะสถิติค่าเฉลี่ยการอ่าน เด็กไทยอ่านออกเขียนได้น้อยลง
ดร.กมล กล่าวอีกว่า หลังจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใช้วิธีการสอนแบบอ่านเป็นคำมาใช้กับการอ่านของเด็ก มีการสำรวจตัวเลขการอ่านออกไม่ออกเขียนไม่ได้ โดยคัดเลือกโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,020 โรงเรียน โดยการสำรวจครั้งที่ 1 ในเดือนมิถุนายน 2558 พบว่า นักเรียนชั้น ป.1 มีเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออก จำนวน 26,000 คน คิดเป็นร้อยละ 11.5 และเขียนไม่ได้ คิดเป็นร้อยละ 8.7 การสำรวจครั้งที่ 2 เดือนกรกฎาคม 2558 พบว่า มีนักเรียนที่อ่านไม่ออกลดลง เหลือเพียงร้อยละ 5.6 และเขียนไม่ได้ คิดเป็นร้อยละ 5.0
...

ส่วนการสำรวจนักเรียน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2-6 พบว่า จำนวนนักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ รวมถึงอ่านและเขียนไม่คล่องลดลงทุกระดับชั้นเช่นกัน
โดยการสำรวจครั้งที่ 1 พบว่า มีนักเรียนระดับชั้น ป.2 อ่านไม่ออก คิดเป็นร้อยละ 8.2 และเขียนไม่ได้ คิดเป็นร้อยละ 11.2 ครั้งที่ 2 เหลือเด็กที่อ่านไม่ออก คิดเป็นร้อยละ 5.0 และเขียนไม่ได้ คิดเป็นร้อยละ 7.0
ระดับชั้น ป.3 การสำรวจครั้งที่ 1 พบว่า มีเด็กอ่านไม่ออก คิดเป็นร้อยละ 5.0 และเขียนไม่ได้ คิดเป็นร้อยละ 7.6 ครั้งที่ 2 เหลือเด็กที่อ่านไม่ออก คิดเป็นร้อยละ 2.8 และเขียนไม่ได้ คิดเป็นร้อยละ 5.3
ระดับชั้น ป.4 สำรวจครั้งที่ 1 พบว่า มีนักเรียนอ่านไม่คล่อง คิดเป็นร้อยละ 4.4 และเขียนไม่คล่อง คิดเป็นร้อยละ 11.3 ครั้งที่ 2 เหลือเด็กที่อ่านไม่คล่อง คิดเป็นร้อยละ 2.5 และเขียนไม่คล่อง คิดเป็นร้อยละ 8.1
ส่วนระดับชั้น ป.5 สำรวจครั้งที่ 1 พบว่า มีนักเรียนอ่านไม่คล่อง คิดเป็นร้อยละ 3.5 และเขียนไม่คล่อง คิดเป็นร้อยละ 9.7 ครั้งที่ 2 เหลือเด็กที่อ่านไม่คล่อง คิดเป็นร้อยละ 1.9 และเขียนไม่คล่อง คิดเป็นร้อยละ 6.6
...
และนักเรียนระดับชั้น ป.6 สำรวจครั้งที่ 1 พบว่า มีนักเรียนที่อ่านไม่คล่องคิดเป็นร้อยละ 2.6 และเขียนไม่คล่อง คิดเป็นร้อยละ 7.0 ครั้งที่ 2 เหลือเด็กที่อ่านไม่คล่อง คิดเป็นร้อยละ 1.4 และเขียนไม่คล่องร้อยละ 4.7
มานะ มานี ปิติ ชูใจ รีเทิร์น ช่วยเด็กไทยอ่านออกเขียนได้
โดยที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แก้ไขปัญหาโดยการจัดพิมพ์แบบเรียนเร็วใหม่ ตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลาย ของหลวงดรุณกิจวิฑูร และนายฉันท์ ขำวิไล ที่ใช้สอนในระดับ ชั้น ป.1-3 หนังสือเรียนวิชาภาษาไทยชุดมานะ มานี มานะ ปิติ ชูใจ รวมถึงจัดพิมพ์คู่มือการสอนอ่านออก เขียนได้ อ่านคล่อง เขียนคล่อง และสื่อสารได้ แจกโรงเรียนทั่วประเทศ รวมทั้งประกาศเป็นนโยบายการให้ทุกโรงเรียนปรับรูปแบบการสอนมาเป็นการสอนแบบแจกลูกสะกดคำทั้งหมด ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับสั่งให้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปพิจารณากลับไปใช้วิธีการสอนแบบแจกลูกสะกดคำแบบเดิม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศนโยบายว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2559 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จะต้องอ่านออกเขียนได้ 100% ยกเว้น เด็กพิการ ต่างด้าว หรือมีปัญหาทางการเรียนรู้จริงๆ

...
ทั้งนี้ โครงการปรับเปลี่ยนมาใช้วิธีการสอนแบบแจกลูกสะกดคำแบบเดิม มาประมาณ 2 ปีแล้ว ซึ่งวิธีที่จะแก้ไขปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ นอกจากเรื่องของรูปแบบการสอนและหนังสือหรือตำราเรียนแล้ว อาจจะต้องมีการอบรมพัฒนาครู เนื่องจากครูส่วนหนึ่งถูกพัฒนามาในระบบการสอนแบบคำๆ ฉะนั้นจึงต้องมีการศึกษานิเทศก์ครู เพื่อช่วยแนะแนววิธีการสอนแบบแจกลูกสะกดคำ รวมถึงอาจจะมีการต้องกำชับแต่ละเขตพื้นที่ให้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะการเรียนรู้เพิ่มเติม เช่น การฝึกสอนการร้องเพลงคาราโอเกะ มีบัตรคำศัพท์ บันทึกการอ่าน สอนเล่านิทานหรือการแสดงละคร เป็นต้น เพราะฉะนั้นรูปแบบการสอนวิชาภาษาไทยจะหลากหลาย ขึ้นอยู่กับวิธีการสอนของแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม วิธีการสอนต้องเป็นไปตามการสอนแบบแจกลูกสะกดคำเป็นหลัก
ครูแบกภาระงานอื่นเยอะ เด็กเอาแต่ก้มหน้าส่งสติ๊กเกอร์ไลน์ อีกหนึ่งสาเหตุ
ขณะที่ นายสมยศ ศิริบรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสาเหตุที่เด็กไทยอ่านออกเขียนได้น้อยลงว่า ปัจจุบันสื่อเทคโนโลยีเข้ามา ทำให้ความสนใจที่จะหยิบจับสื่อกระดาษน้อยลง รวมถึงการส่งสติกเกอร์ในแอพพลิเคชั่นไลน์ แทนการสื่อสารด้วยภาษาเขียน ยิ่งเป็นค่านิยมที่ทำให้คนอ่านและเขียนน้อยลง รวมถึงปัญหาของครูผู้สอน เนื่องจากครูเป็นอาชีพที่มีภาระงานค่อนข้างมาก จนแทบไม่มีเวลาทำหน้าที่ครูได้อย่างเต็มที่ หรือไม่ใส่ใจเด็กเท่าที่ควร ก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ อ่านไม่คล่อง และเขียนไม่คล่อง

ดังนั้น สิ่งที่ สพฐ. กำลังดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องการลดภาระงานของครูให้น้อยลง เพื่อให้ครูได้มีเวลามากพอที่จะเอาใจใส่เด็กได้อย่างเต็มที่ จะทำให้ครูได้รู้ถึงความบกพร่องของเด็กแต่ละคน รวมถึงครูต้องช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้เด็กเป็นรายบุคคล หรือมีการจัดกิจกรรมประกอบการสอน เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากเรียนรู้และสนใจที่จะอ่านมากขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจุบัน พบว่า เด็กไทยโดยส่วนใหญ่เริ่มอ่านออก เขียนได้ ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งอ่านออกเขียนได้ ณ ที่นี้ คือ เด็กแต่ละระดับชั้นต้องสามารถอ่านบัญชีคำศัพท์ในแต่ละระดับชั้นตามที่กำหนดได้ทุกคำ เช่น ชั้น ป.1 กำหนดคำศัพท์ที่เด็กจะต้องรู้ จำนวน 2,000 คำ หมายความว่า เด็กนักเรียนจะเลื่อนขึ้นไประดับชั้น ป.2 ได้ จะต้องสามารถอ่านคำศัพท์ของระดับชั้น ป.1 ได้ทุกคำ เพราะในระดับชั้น ป.2 จะมีคำศัพท์ที่ยากขึ้น มีคำควบกล้ำ หรือผันวรรณยุกต์เข้ามา เพราะฉะนั้นเด็กระดับชั้น ป.3 จะต้องสามารถอ่านคล่อง เขียนคล่อง เข้าใจความหมาย และสื่อสารได้คล่องทั้งภาษาพูดและเขียน

“จากการสำรวจโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร พบว่า ปัจจุบันการสอนวิชาภาษาไทยในระดับชั้นประถมศึกษา มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เช่น บันทึกการอ่าน การให้เด็กเลือกอ่านในสิ่งที่ชอบ แล้วมาเล่าให้ครูหรือเพื่อนๆ ฟัง เพื่อเป็นการฝึกทักษะการจับใจความของเรื่อง และในระดับชั้นที่สูงขึ้น จะมีการให้เด็กได้ฝึกอ่านหนังสือพิมพ์ มาเล่าให้ครูฟังว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร และหากเขาต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับในข่าว เขาจะทำอย่างไร ซึ่งเป็นการฝึกทักษะให้เด็กได้คิดและแก้ปัญหาไปด้วย ไม่ใช่ให้เด็กอ่านคล่องเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นวิธีการที่ทำให้เด็กรักการอ่าน ครูและผู้ปกครองเอง ก็ต้องสร้างแรงจูงใจทางบวกให้เด็กมีความรู้สึกว่าอยากรู้ด้วยตัวเอง เพราะหากเป็นการบังคับ อาจทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่สนุกและส่งผลต่อทัศนคติต่อการไม่ชอบอ่านหนังสือ” ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร กล่าว

ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาเด็กอ่านหนังสือน้อยลง สิ่งสำคัญคือ ครูทุกคนควรช่วยกัน ใส่ใจการเรียนการสอนและการอ่านเขียนของเด็กให้มากขึ้น อย่ามองว่าทักษะการอ่านเขียนเป็นหน้าที่ของครูภาษาไทยอย่างเดียว เพราะทักษะการอ่านของเด็กถือเป็นกลไกสำคัญให้เกิดการเรียนรู้ ฉะนั้นทุกภาคส่วนในโรงเรียนต้องช่วยกัน
อย่าเพิ่งปลื้ม เด็กเล่นมือถือได้ไม่ใช่เก่ง แถมอาจทำให้อ่าน เขียน ไม่คล่อง
ด้าน รศ.พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากที่เคยศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับการอ่านเขียนของเด็ก ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศก็ดี พบว่า การสอนให้เด็กฝึกทักษะการอ่านได้อย่างคล่อง จะต้องเข้าใจถึงพัฒนาการของเด็ก สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับสมอง ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก พบว่า สมองคนเรามีการเชื่อมโยงระหว่างภาษาพูดและภาษาอ่านเขียนอยู่แล้ว

ดังนั้น หากถามว่า ทำไมเด็กไทยอ่านออกเขียนได้น้อยลง? จะต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็น คือ 1. บริบททางสังคม เนื่องจากสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับสังคมตะวันตกหรือสังคมทั่วโลก มนุษย์ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทำให้การเรียนรู้ของเด็กเปลี่ยนไป จะเห็นว่า เด็กที่ยังไม่รู้ภาษาพูด อ่าน เขียน แต่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือเล่นเกมได้ เป็นเพราะเด็กมีการจดจำสัญลักษณ์ ซึ่งการจดจำสัญลักษณ์ของเด็กถือเป็นการเรียนรู้ของเขา อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจสถิติเรื่องพัฒนาการทางภาษาของเด็กไทย จากกรมอนามัย มาแล้วหลายครั้งและหลายปี พบว่า เด็กไทยมีพัฒนาการด้านภาษาช้าที่สุด หากเทียบกับพัฒนาการด้านอื่นๆ ซึ่งภาษาพูดและภาษาอ่านเขียนจะมาเชื่อมโยงกันเมื่อเด็กเริ่มเรียนหนังสือ
“ส่วนตัวมองว่าเด็กทุกคนมีความต้องการที่จะอ่านออกเขียนได้ แต่เนื่องจากตัวเด็กเองก็ไม่รู้สาเหตุว่าทำไมเขาถึงอ่านหนังสือได้ไม่คล่องเหมือนกับเพื่อนๆ ในระดับเดียวกัน ขณะที่ครูรุ่นใหม่ก็ไม่สามารถช่วยเด็กได้ ส่งผลให้เด็กมีทัศนคติเชิงลบต่อการอ่านหนังสือไปเลย เพราะฉะนั้นบริบทของเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้น วิธีที่ครูจะสามารถช่วยเด็กแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ คือ การฝึกให้เด็กอ่านออกเสียง เพราะการอ่านหนังสือออกเสียงให้ครูฟัง จะสามารถรู้ได้ว่าเด็กคนไหนอ่านได้หรือไม่ได้ อ่านคล่องหรือไม่” รศ.พญ.นิชรา กล่าว

