"สามารถ" เผยแผนร่วมลงทุนรถไฟไทย-จีน ทำไทยเสี่ยงลงทุนโครงสร้างโยธาทั้งระบบ หวั่นจีนหยิบชิ้นปลามัน จี้ รมว.คมนาคม เจรจาใหม่ให้จีนร่วมลงทุนมากกว่า10%

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.58 นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ว่า รัฐบาลนี้กำลังเดินหน้าทำรถไฟไทย-จีน แต่การเจรจาสัดส่วนการลงทุนระหว่างไทยและจีนยังไม่ลงตัว โดยการลงทุนในโครงการนี้แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การลงทุนก่อสร้างงานโยธา ระยะที่ 2 การลงทุนระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถซึ่งคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่า จีนจะร่วมลงทุนตั้งแต่เริ่มก่อสร้างงานโยธาจนถึงการเดินรถ แต่ผลจากการเจรจาระหว่างไทยกับจีนครั้งที่ 5 ได้ข้อยุติว่า จีนจะไม่ร่วมลงทุนก่อสร้างงานโยธา แต่ไทยต้องลงทุนก่อสร้างงานโยธาเองทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วน 80% ของวงเงินโครงการ หากใช้เงินตามที่เป็นข่าวจำนวน 530,000 ล้านบาท งานโยธาจะมีวงเงิน 424,000 ล้านบาท ที่ไทยจะต้องลงทุนเองทั้งหมด ปูดแผนร่วมลงทุน ไทยควักจ่ายเอง จีนร่วมลงทุนแค่ 10%

นายสามารถ กล่าวต่อว่า ขณะที่จีนจะได้รับเหมาก่อสร้างงานโยธาที่ผู้รับเหมาไทยไม่ถนัด ส่วนวงเงินที่เหลืออีก 20% หรือราว 106,000 ล้านบาทจะเป็นค่าจัดหารถไฟฟ้า ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบโทรคมนาคม ระบบตั๋ว และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจีนจะร่วมลงทุนด้วย แต่ยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องสัดส่วนการลงทุนระหว่างไทยและจีนที่แน่นอน แต่ที่แน่ๆ คือ จีนจะขายรถไฟฟ้า และระบบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้แก่ไทย โดยในช่วงการจัดหารถไฟฟ้า ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบโทรคมนาคม และระบบตั๋ว รวมทั้งการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษานั้น จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-จีน พร้อมได้กำหนดความรับผิดชอบในการดำเนินงานเดินรถรวมทั้งการซ่อมบำรุงรักษาไว้ดังนี้ 1. ช่วงปีที่ 1 – ปีที่ 3 จีนจะรับผิดชอบเป็นหลัก 2. ช่วงปีที่ 4 – ปีที่ 7 ไทยและจีนจะรับผิดชอบเท่าๆ กัน 3. ช่วงตั้งแต่ปีที่ 7 เป็นต้นไป ไทยจะรับผิดชอบเป็นหลัก โดยมีจีนเป็นที่ปรึกษา ทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบสัดส่วนการลงทุนระหว่างไทย-จีนที่แน่นอนชี้ความเสี่ยงขาดทุนสูง ผู้โดยสาร-ขนส่งสินค้าน้อย

...

นายสามารถ กล่าวต่อว่า ดังนั้น หากการลงทุนทั้งสองระยะเป็นจริง ไทยจะเป็นผู้ลงทุนหลัก ส่วนจีนแค่ร่วมลงทุนบางส่วนเท่านั้น และคาดว่าไม่เกิน 10% ของวงเงินโครงการ หากการลงทุนในลักษณะนี้ ทำให้ไทยต้องแบกภาระความเสี่ยงในการลงทุนที่หนัก เพราะมีโอกาสขาดทุนสูงมาก จีนเองก็รู้ดีว่าโครงการนี้จะขาดทุน ตามผลการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย (เส้นทางเดียวกับรถไฟไทย-จีน) โดยจีนได้ทำการศึกษาไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2555 ในนามของ The Third Railway Survey and Design Institute Group Corporation ซึ่งในรายงานการศึกษามีข้อความที่เกี่ยวข้องว่า

"โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย ใช้เงินลงทุนสูงมาก ในขณะที่จะมีปริมาณผู้โดยสารและสินค้า (ต้องการใช้รถไฟความเร็วสูงขนสินค้าด้วย) น้อย แต่ใช้ต้นทุนการเดินรถสูง ดังนั้น โครงการนี้จะมีโอกาสได้กำไรน้อยมาก" นายสามารถ กล่าว

นายสามารถ ระบุต่อว่า จากผลการศึกษาของจีนในครั้งนั้นชี้ให้เห็นว่า แม้ไม่นำเงินลงทุนในช่วงการก่อสร้างงานโยธามาคำนวณ หรือคิดเฉพาะเงินลงทุนในช่วงการเดินรถเท่านั้นก็ตาม โครงการรถไฟไทย-จีนก็มีโอกาสขาดทุนสูงมาก ด้วยเหตุนี้ ตนจึงขอเรียกร้องให้ รมว.คมนาคมควรเจรจาต่อรองกับจีนใหม่ โดยยื่นเงื่อนไขให้จีนร่วมลงทุนในช่วงการก่อสร้างงานโยธาด้วย ไทยจะต้องไม่ลงทุนก่อสร้างงานโยธาเองทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการ "ผู้ได้รับประโยชน์ต้องเป็นผู้จ่าย (Beneficiaries Pay Principle)" ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า จีนจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างมาก ดังนั้น จีนจะต้องลงทุนเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ 10% ของวงเงินโครงการเท่านั้น