ป่าชายเลนอ่าวทุ่งคาที่ได้รับการเรียกขานว่า “ป่าพูดได้” แห่งแรกของประเทศไทย กำลังถูกท้าทายและเป็นที่จับตามองของหลายฝ่าย สืบเนื่องมาจากกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน บ้านบางใหญ่ หมู่ 4 ต.ทุ่งคา อ.เมืองชุมพร เข้าร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชุมพร เนื่องจากเดือดร้อนถูกนายทุนเจ้าของร้านอาหารทะเลชื่อดังอ้างเอกสารสิทธิ น.ส.3 ในป่าชายเลน อ่าวทุ่งคา-สวี เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพรฟ้องขับไล่ที่และรื้อทุบทำลายบ้านเรือน ท่ามกลางความคาใจของสาธารณชนทั่วไปที่มีที่ดิน น.ส.3 ไปโผล่อยู่กลางป่าชายเลน มิหนำซ้ำนายทุนรายนี้ยังได้ไปยื่นขอออกโฉนดเพื่อครอบครองผืนป่าชายเลนอย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่ทางจังหวัดชุมพร โดยนายไมตรี ไตรติลานันท์ รอง ผวจ.ชุมพร ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการได้มาของ น.ส.3 ดังกล่าวแล้ว ล่าสุดชาวบ้านที่เดือดร้อนได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เพื่อให้ตรวจสอบนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 24 ธ.ค. ทีมข่าวเฉพาะกิจภูมิภาค “ไทยรัฐ” ได้รับการเปิดเผยจากนางเรณู มีอินทร์ อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 43/4 หมู่ 9 ต.ตากแดด อ. เมืองชุมพร ที่ได้ติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยนางเรณูตั้งข้อสังเกตว่ากรณีนี้คล้ายกับเรื่องของตนคือเมื่อเดือน ม.ค.2553 ได้ไปซื้อที่ดิน จำนวน 39 ไร่ 2 งาน ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ต.วิสัยเหนือ อ.เมืองชุมพร จากชาวบ้านคนหนึ่ง มีแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) โดยไม่รู้ว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ต่อมาเดือน ก.พ.2553 รัฐบาลได้ประกาศว่าใครมี ส.ค.1 ให้ไปขอออกโฉนดได้ จึงนำที่ดินแปลงนี้ไปขอออกโฉนดที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร มีใบแจ้งนัดการรังวัดที่ดินตามระเบียบทุกอย่าง แต่พอเข้าไปแผ้วถางป่าเพื่อความสะดวกในการรังวัดแนวเขต กลับถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพรเข้าจับกุมดำเนินคดี จนเป็นคดีความขึ้นศาลต่อสู้คดีกัน สุดท้ายคดีบุกรุกแผ้วถางอัยการสั่งไม่ฟ้อง

...

นางเรณูเปิดเผยอีกว่า ที่เจ็บช้ำน้ำใจที่สุด เนื่องจากที่ดินที่ซื้อมาถูกอธิบดีกรมที่ดินสั่งเพิกถอนและจำหน่าย ส.ค.1 ออกจากสารบบ โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อนและที่ดินแปลงนี้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนอ่าวทุ่งคา-สวี ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 186 พ.ศ.2509 ออกตามความใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 อยู่ในเขตป่าถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี และเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร การเข้าครอบครองที่ดินจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 สำนักพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 (โดยอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร)

“กรณีเจ้าของที่ดิน หมู่ที่ 4 ต.ทุ่งคา อ.เมือง ชุมพรอ้างสิทธิครอบครองเหมือนกับตน แต่ทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีความเห็นว่าได้มาโดยชอบและกำลังอยู่ระหว่างการขอออกโฉนดได้ ขณะที่ดินของตนเองกลับถูกอธิบดีกรมที่ดินเพิกถอน ส.ค.1 เรื่องนี้อยากถามว่าเป็นการทำงานแบบสองมาตรฐานหรือเปล่า ทั้งๆที่ที่ดินก็อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพรเหมือนกัน จึงอยากขอความเป็นธรรมกับสื่อมวลชนขอให้นำเสนอข่าวนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องต่อไป เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้กับชาวบ้านใน จ.ชุมพรที่มีที่ดินลักษณะเดียวกัน ใครผิดใครถูกก็ขอให้ปฏิบัติเหมือนๆกัน ที่ดินก็เหมือนกัน กฎหมายก็ฉบับเดียวกัน ทำไมถึงเลือกปฏิบัติ ความยุติธรรมอยู่ตรงไหน” นางเรณูกล่าวในที่สุด

ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามผู้เกี่ยวข้อง แต่ไม่สามารถติดต่อได้ซึ่งข่าวคืบหน้าจะนำเสนอต่อไป.