เชื่อเหลือเกินว่า หลายคนคงเคยได้ยินผ่านหูมาบ้างว่า การวางโทรศัพท์มือถือไว้ใกล้ศีรษะขณะนอนหลับ หรือแม้แต่การคุยโทรศัพท์ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือ ส่งผลต่อระบบประสาท และเมื่อสะสมไปในระยะยาว อาจถึงขั้นเป็นมะเร็งสมอง 

แต่นั่นก็เป็นข้อสงสัยที่ยังไม่มีคำตอบ...เพราะทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือ เป็นเสมือนส่วนหนึ่งของชีวิตใครหลายๆ คน ไม่ว่าจะตื่นนอน กินข้าว หรือก่อนจะนอนก็ไม่เว้นที่จะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู ทำให้หลายคนก็อดกังวลใจไม่ได้ว่า ความเชื่อเรื่องคลื่นมือถือส่งผลให้กระทบกับสุขภาพนั้น จริงหรือไม่ อย่างไร? วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขออาสาพาไปหาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาคลุกคลีในเรื่องนี้มานานหลายปี...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ ดร.สุเมธ วงศ์พานิชเลิศ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้า โทรคมนาคม โดยเริ่มเปิดประเด็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการติดโทรศัพท์มือถือ ที่มักจะวางไว้ข้างศีรษะ หรือซุกไว้ใต้หมอน ขณะนอนหลับ จะส่งผลต่อระบบประสาท สมอง หรือสุขภาพอย่างไรบ้าง...?

...

วางมือถือใกล้หัว เสี่ยงเป็นคนหลับยาก-ความจำเสื่อม ใส่ในกางเกงส่งผลต่อ...?

ดร.สุเมธ อธิบายให้ฟังง่ายๆ ว่า การเปิดสัญญาณโทรศัพท์มือถือไว้ แม้ไม่ได้มีการใช้งานอยู่ โทรศัพท์มือถือจะส่งคลื่นสัญญาณไปยังเสาหรือสถานีฐานที่ใกล้ที่สุด เพื่อบ่งบอกถึงตำแหน่งของเบอร์โทรศัพท์เครื่องนี้ว่าอยู่จุดไหน เพราะฉะนั้นหากมีการโทรเข้า สัญญาณคลื่นก็จะรับ-ส่ง จากเสานั้นๆ ทำให้การสื่อสารเกิดขึ้นได้ ดังนั้น จะมีการส่งคลื่นสัญญาณอ่อนจากโทรศัพท์มือถือต่อเนื่องกันนาทีละหลายๆ ครั้ง ไปยังสถานีฐาน ซึ่งทำให้ร่างกายของคนเราดูดซับคลื่นเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา และเมื่อสะสมเป็นระยะเวลานานเข้าก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

โดยในระยะยาวจะเกิดอาการข้างเคียง เช่น การซุกไว้ใต้หมอนขณะนอนหลับ อาจส่งผลต่อการนอนหลับ ทำให้รู้สึกว่าหลับยากขึ้น และความจำเสื่อมได้ ซึ่งถ้าเกิดกับเด็ก จะส่งผลต่อการเรียนรู้ให้ด้อยลง เนื่องจากคลื่นสัญญาณกระทบต่อระบบประสาทและสมอง โดยยกตัวอย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐฯ เริ่มพบมะเร็งเต้านมในกลุ่มสตรีที่มีพฤติกรรมซุกโทรศัพท์ไว้ในยกทรง และในกลุ่มผู้ชายหากพกโทรศัพท์ไว้ในกระเป๋ากางเกง อาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่อระบบสืบพันธุ์

ดังนั้น การไม่ได้ปิดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ หรือสัญญาณ Wi-Fi นั้น มีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เนื่องจากเมื่อไรที่มีสายโทรเข้ามา สัญญาณคลื่นที่อ่อนจะแรงทันที สังเกตได้จากการวางโทรศัพท์มือถือไว้ใกล้ลำโพงหรือทีวี จะมีสัญญาณแทรกเข้าทุกครั้ง เช่นเดียวกัน การวางโทรศัพท์ไว้ใกล้ตัว ก็มีโอกาสที่จะเกิดผลกระทบจากการสะสมของพลังงานคลื่นได้ตลอดเวลา โดยพลังงานที่ร่างกายเราดูดซับมากหรือน้อย จะขึ้นอยู่กับความแรงส่งของคลื่นและระยะเวลาที่สัมผัสรังสีคลื่น เช่นเดียวกับการต้มน้ำ ถ้าใช้ไฟแรง น้ำก็เดือดเร็ว แต่ถ้าเมื่อไรที่ใช้ไฟอ่อน แม้ว่าต้องใช้เวลานานกว่า แต่เมื่อเวลาผ่านไปน้ำก็เดือดเช่นกัน

คุยโทรศัพท์นาน มีโอกาสเป็นมะเร็งสมอง แต่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรม 

ถามว่าเมื่อสะสมรังสีคลื่นโทรศัพท์เป็นระยะเวลานาน จะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้หรือไม่นั้น...? ดร.สุเมธ ไขข้อข้องใจให้ฟังว่า การพกโทรศัพท์มือถือติดตัวไว้ โดยที่ไม่ได้ใช้ โอกาสเสี่ยงที่จะให้เกิดมะเร็งสมองก็น้อย แต่ถ้าพกใส่กระเป๋ากางเกงก็มีความเสี่ยงที่จะมีลูกยากขึ้น ส่วนการใช้โทรศัพท์มือถือบ่อย หรือคุยโทรศัพท์เป็นเวลานานเป็นประจำ ขณะที่คุยนั้น สัญญาณคลื่นที่ถูกส่งมายังโทรศัพท์จะแรง ทำให้ศีรษะด้านที่ใช้โทรศัพท์รับพลังงานจากคลื่นสะสมมาก เพราะฉะนั้นเมื่อคลื่นสะสมเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เส้นประสาทหูไม่ดี หรือถึงขั้นเป็นมะเร็งในสมองได้ แต่อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ร่วมด้วย เช่น พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ ระยะเวลา และอวัยวะส่วนที่ถูกคลื่นสัมผัสมากที่สุด

...

ด้วยเหตุนี้ ดร.สุเมธ จึงได้ยกผลวิจัยจากองค์การอนามัยโลก WHO เมื่อ 30 พฤษภาคม 2011 ขึ้นทะเบียนให้คลื่นในย่านความถี่วิทยุ ซึ่งเป็นคลื่นเดียวกับสัญญาณโทรศัพท์มือถือและเสาสัญญาณ รวมถึงอุปกรณ์ไร้สายต่างๆ เช่น Wi-Fi เป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ดังนั้น เนื่องจากมีข้อสงสัยและตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น ทำให้องค์การอนามัยโลกได้ตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญชุดหนึ่ง ร่วมกันศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่การสัมผัสคลื่นสัญญาณจากโทรศัพท์มือถือและเสาสัญญาณ ที่อาจจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว โดยเฉพาะความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน เนื่องจากจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่มีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่นและเด็ก

ทั้งนี้ จากการประเมินผลโดยรวมได้พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ ของผู้ใช้โทรศัพท์ไร้สายที่จะเกิดโรคมะเร็งสมอง ชนิด glioma และเกิดโรคเนื้องอกของเส้นประสาทหู (acoustic neuroma) แต่หลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะสรุปผลการเกิดโรคมะเร็งประเภทอื่นๆ หรือไม่ โดยผลการศึกษาจากการใช้โทรศัพท์มือถือที่ผ่านมา (จนถึงปี 2547) แสดงให้เห็นว่า ในกลุ่มผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 40% โดยรายงานค่าเฉลี่ยการใช้อยู่ที่ 30 นาทีต่อวัน และใช้มานานกว่า 10 ปี จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ที่เกิดโรคเนื้องอกในสมอง ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของมะเร็งสมอง 

"จากข้อมูลและงานวิจัยที่รวบรวมมา มีจำนวนเพียงพอที่จะสนับสนุนข้อสรุปที่ว่า สนามแม่เหล็กไฟฟ้าคลื่นวิทยุ อาจจะ เป็นสารก่อมะเร็งในคน (กลุ่ม 2B) หมายความว่า เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงบางอย่าง ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อดูความเชื่อมโยงระหว่างคลื่นโทรศัพท์มือถือและความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง" ดร.สุเมธ กล่าว

...

นอกจากนี้ ดร.สุเมธ ได้ยกตัวอย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้น เกี่ยวกับการแพ้คลื่นสัญญาณ Wi-Fi อย่างหนัก จนไม่สามารถทนได้ ซึ่งเกิดขึ้นกับเด็กสาวชาวอังกฤษวัย 15 ปี ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย เนื่องจากไม่สามารถทนอาการแพ้สัญญาณ Wi-Fi ในห้องเรียนอย่างหนักได้ ซึ่งถือว่าเด็กสาวเป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่เรียกว่า โรคไวต่อการรับสัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเรียกสั้นๆ ว่า แพ้คลื่น (Electromagnetic Hypersensitivity Syndrome/EHS) ซึ่งอาการลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน ขึ้นอยู่กับอาการแพ้เฉพาะบุคคล เช่นเดียวกับการแพ้ควันบุหรี่ หรือแพ้สารพิษเคมีต่างๆ ที่แม้จะอยู่ในสถานที่เดียวกัน คนหนึ่งอาจจะมีอาการแพ้ แต่คนอื่นๆ กลับไม่มีอาการแพ้เลย เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรบ่งบอกหรือระบุได้ว่าใครบ้างที่จะมีอาการแพ้คลื่น

คลื่นมือถือ กับ สัญญาณ Wi-Fi คลื่นไหนแรงกว่ากัน...?

โดยทั่วไปแล้วสัญญาณ Wi-Fi ที่แผ่ออกจากแต่ละอุปกรณ์จะแรงกว่าคลื่นสัญญาณที่แผ่ออกจากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งหากเปรียบเทียบจะเห็นว่า ปัจจุบันแทบทุกบ้านจะติดเครื่อง Wireless-Router ไว้ในบริเวณบ้าน หรือใกล้กับโต๊ะทำงาน เนื่องจากต้องการให้คลื่นสัญญาณแรง จะได้ใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างทันใจ แต่หารู้ไม่ว่ายิ่งอยู่ใกล้เครื่อง Wireless-Router มากแค่ไหน ก็จะยิ่งได้รับคลื่นที่มีกำลังส่งแรง ขณะที่โทรศัพท์มือถือ ส่วนใหญ่มีกำลังส่งไม่ถึง 1 วัตต์ แต่ถ้ามีการคุยโทรศัพท์แนบหู คลื่นสัญญาณจากโทรศัพท์มือถือที่สัมผัสบริเวณศีรษะ อาจจะแรงกว่าสัญญาณ Wi-Fi ที่ร่างกายจะได้รับ เนื่องจากเมื่อระยะยิ่งห่างจากตัวเรา ความแรงจะยิ่งลดลงในอัตรากำลังสองของระยะห่าง เพราะฉะนั้นคลื่นสัญญาณจะแรงมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ กำลังส่งของอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งแผ่คลื่นสัญญาณ และระยะทางระหว่างผู้ใช้กับสถานีแผ่คลื่น

...

วางโทรศัพท์มือถือไว้ใกล้ศีรษะ ขณะนอนหลับ ส่งผลต่อการนอนหลับ?

ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า การวางโทรศัพท์ไว้ใกล้ตัว หรือวางไว้ใกล้ศีรษะขณะนอนหลับ คลื่นสัญญาณแม้จะอ่อน แต่เมื่อสะสมไปในระยะยาว อาจส่งผลต่อระบบประสาทคือ ทำให้มีอาการหลับไม่สนิทหรือหลับยากขึ้น ซึ่งก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับเฉพาะบางคนเท่านั้น ส่วนถามว่าจะมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งสมองได้หรือไม่นั้น จะต้องเป็นคลื่นสัญญาณแรง มีการดูดซับพลังงานสูง โดยพลังงานจะขึ้นอยู่กับกำลังส่งของคลื่นและระยะเวลาสะสม เพราะฉะนั้นไม่สามารถยืนยันได้ แต่ในกรณีกลุ่มวัยรุ่นและเด็ก ไม่ควรที่จะวางไว้ใกล้ศีรษะขณะนอนหลับเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสมองยังอยู่ในช่วงพัฒนา 

กล่าวโดยสรุป คลื่นวิทยุที่แผ่จากโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งแหล่งแผ่คลื่นวิทยุอื่นๆ เช่น เสาสัญญาณโทรศัพท์ อุปกรณ์ทุกชนิดที่ใช้ Wi-Fi และอุปกรณ์อื่นที่สื่อสารด้วยความถี่ในย่านความถี่วิทยุ มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก

กลุ่มที่ 1 คือ “กลุ่มที่มีความเสี่ยง อาจก่อให้เกิดมะเร็ง” แต่จะเป็นมะเร็งส่วนไหนก็จะขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ถูกสัมผัสรังสีคลื่นมากและบ่อยที่สุด เช่น คุยโทรศัพท์แนบหูเป็นเวลานานบ่อยครั้ง ก็อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งสมองหรือมะเร็งเส้นประสาทหูได้ หรือผู้หญิงที่ชอบซุกโทรศัพท์ไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือยกทรงเป็นประจำ ก็อาจจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้ หรือแม้แต่ผู้ชายที่มักจะใส่โทรศัพท์ไว้ในกระเป๋ากางเกงก็อาจจะเสี่ยงต่อการเป็นหมันได้ เป็นต้น แต่สำหรับคลื่นสัญญาณจากเสาหรือสถานีฐาน ก็จะส่งผลต่อทุกส่วนของร่างกาย จากการได้รับคลื่นทั้งตัว เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว

กลุ่มที่ 2 คือ “กลุ่มที่มีอาการแพ้คลื่น” สะสมในระยะยาว จะส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ เช่น นอนไม่หลับ ฉุนเฉียว สมาธิสั้น ความจำเสื่อม อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย เสียงดังในหูตลอดเวลา ชักกระตุก อาเจียน สายตาพร่ามัว เป็นต้น

ดังนั้น พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือตลอดเวลาหรือทั้งวัน บวกกับการวางโทรศัพท์มือถือไว้ใกล้ศีรษะหรือซุกไว้ใต้หมอนขณะนอนหลับด้วย จะยิ่งเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น กล่าวคือ ยิ่งมีระยะห่างจากแหล่งคลื่นเพียงใด ความปลอดภัยจะยิ่งมากขึ้นเพียงนั้น 

“เพราะฉะนั้น จึงสรุปหรือยืนยันไม่ได้ว่า คลื่นมือถือจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้โทรศัพท์ทุกคนหรือไม่ เนื่องจากขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งการอยู่ใกล้เสาสัญญาณหรือสถานีฐาน พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ รวมถึงระยะทางและกำลังส่งของคลื่น ดังนั้น จึงไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทันที แต่จะมีความเสี่ยง ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทันที แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ ควรจะระมัดระวังและป้องกันให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด” ดร.สุเมธ ระบุ 

ขณะที่ ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยนวัตกรรมไร้สายและความมั่นคง กล่าวถึงการวางโทรศัพท์ไว้ใกล้ศีรษะขณะหลับ ว่า จะมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือสมอง หรือไม่นั้น ยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจนออกมายืนยัน เนื่องจากผลวิจัยจากองค์การอนามัยโลก WHO ระบุว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงในกลุ่ม 2B อาจเป็นกลุ่มที่เรียกว่า มีความเสี่ยง แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า คลื่นมือถือส่งผลกระทบต่อสุขภาพจริงหรือไม่ และในระยะยาวจะส่งผลให้เป็นมะเร็งสมองหรือไม่

ทั้งนี้ ดร.กิตติ อธิบายเพิ่มเติมว่า ขณะนอนหลับ ไม่ได้มีการใช้โทรศัพท์ คลื่นที่ออกมาจะเป็นคลื่นอ่อน ส่วนคลื่นแรง จะต้องเป็นคลื่นที่มีกำลังส่งมาก ที่มาจากตัวสถานีฐาน ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพโดยตรง 

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่ความเสี่ยงจากตัวคลื่นสัญญาณเท่านั้น ยังมีอีกปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม นั่นก็คือ ความปลอดภัยของแบตเตอรี่ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการระเบิด การช็อตหรือลัดวงจรได้ เพราะฉะนั้นการวางโทรศัพท์ไว้ใต้หมอนที่เป็นผ้า อาจเป็นพาหะให้ติดไฟได้ ในขณะที่เรานอนหลับอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นอีกความเสี่ยงที่เป็นอันตรายได้ทันท่วงที 

ดังนั้น วิธีแก้ง่ายที่สุดคือ การป้องกัน โดยการวางโทรศัพท์ให้ห่างจากตัวหรือศีรษะ อย่างน้อย 1 เมตร เพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งระยะห่าง 1 เมตร สัญญาณคลื่นแทบจะไม่มีผลต่อสุขภาพ ถือว่าเป็นระยะที่ปลอดภัยในระดับหนึ่ง 

ภัยคลื่นมือถือ ป้องกันได้ เพื่อไม่ให้ทำลายสุขภาพ

นอกจากนี้ ดร.สุเมธ ได้เสนอแนะวิธีป้องกันภัยจากคลื่นมือถือมาให้ทำความเข้าใจง่ายๆ ดังนี้

1. ควรวางโทรศัพท์มือถือที่เปิดสัญญาณคลื่นมือถือและสัญญาณ Wi-Fi ให้ห่างจากตัว หรือศีรษะประมาณ 1 เมตร หรือในระยะที่มือเอื้อมถึง หรือวิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือ ปิดโทรศัพท์ทุกครั้ง ขณะนอนหลับ 
2. ควรติดตั้ง Wireless-Router ให้ห่างจากบริเวณที่นั่งทำงาน และไม่ควรติดตั้งในห้องนอน หรือปิดสัญญาณ Wi-Fi ทุกครั้งที่ไม่ใช้ หรือไม่จำเป็น โดยเฉพาะขณะนอนหลับ 
3.ไม่ควรคุยโทรศัพท์มือถือโดยการแนบหูเป็นระยะเวลานาน หรือถ้าหากจำเป็นต้องคุยนาน ควรใช้หูฟังทุกครั้ง หรือเปิดลำโพง หรือไม่ควรคุยโทรศัพท์มือถือนานในบริเวณที่มีสัญญาณต่ำ เช่น ในรถไฟฟ้า รถยนต์ เป็นต้น
4.สำหรับคนที่ไม่อยากปิดเครื่อง เพราะต้องการตั้งนาฬิกาปลุก ขณะนอนหลับ สามารถตั้งเป็นโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) ได้ เนื่องจากโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) จะทำให้ปลอดจากคลื่นสัญญาณที่แผ่จากเครื่องโทรศัพท์