“ขยะ” ภัยร้ายก่อโรค!
ขยะจึงถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด เพราะนอกจากจะสร้างปัญหามลพิษ ขยะยังเป็นตัวการสำคัญที่จะนำไปสู่หลากหลายปัญหาด้านสุขภาพสุขภาวะ เพราะขยะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคร้ายจำนวนมาก ส่วนขยะแบบไหนเป็นต้นตอของโรคอะไร ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของขยะ
เริ่มกันที่ ขยะมูลฝอย หากไม่รู้วิธีการแยกหรือเก็บทำความสะอาดก็จะกลายเป็นแหล่งสะสมของ เชื้อแบคทีเรีย หากจัดการไม่ดีเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ก็จะเป็นตัวการก่อ โรคระบบทางเดินอาหาร ลำไส้ ทั้งท้องร่วง ท้องเสีย โดยจะมีสัตว์จำพวก หนู แมลงสาบ แมลงวันเป็นพาหะนำโรค
กลุ่ม “ขยะติดเชื้อ” ไม่ว่าจะเป็น เข็มฉีดยา ไซริงค์ แม้ส่วนใหญ่จะอยู่ตามโรงพยาบาลและมีการทำลายอย่างเป็นระบบ แต่ที่น่าเป็นห่วงและต้องเฝ้าระวังคือ หมอเถื่อน เนื่องจากขยะติดเชื้อที่เกิดจากหมอเถื่อนจะไม่มีระบบการทำลาย และอีกส่วนที่ไม่ควรมองข้ามคือ กลุ่มผู้ป่วยบางโรคที่สามารถใช้เข็มฉีดยา ไซริงค์ เองที่บ้านได้ กลุ่มนี้ควรสอนวิธีการกำจัดเพราะหากทำลายไม่ดีก็จะเกิดโรคได้
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะกลุ่มที่นับวันยิ่งมีมากแซงขยะประเภทอื่นๆ เนื่องจากวิถีชีวิตของผู้คนในโลกยุคดิจิตอล เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ กลายเป็นที่นิยมถึงขั้นมีการเปรียบเปรยเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เป็นต้น และสิ่งที่น่าห่วงคืออุปกรณ์เหล่านี้จะมีสารเคมีสะสมอยู่ อาทิ ตะกั่ว ที่ถือเป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งในระยะเฉียบพลันและระยะยาว
...
กรมอนามัย หนึ่งในหน่วยงานที่รับหน้าเสื่อดูแลสุขภาพและสุขภาวะของสังคมไทย จึงตระหนักถึงหัวใจสำคัญในการลดมลพิษและสกัดโรค ว่าคงหนีไม่พ้นการต้องกำจัดขยะ โดยเฉพาะต้องจัดการขยะทั้งระบบอย่างถูกวิธี ตลอดจนการทำลายขยะต้องทำให้มีมาตรฐานเป็นระบบ แต่ประเด็นหลักคือต้องลดการใช้สิ่งของที่ไปเพิ่มประมาณขยะด้วย
“การจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบขณะนี้ จ.น่าน ถือเป็นจังหวัดต้นแบบเพราะหลังจากรัฐบาลยกให้เป็น 1 ใน 12 เมืองที่ต้องห้ามพลาด ส่งผลให้ประชาชนหลั่งไหลไปท่องเที่ยว และสิ่งที่เป็นผลพวงตามมาเหมือนเงาตามตัวคือปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเทศบาล ต.ท่าวังผา มีขยะเพิ่มขึ้นจากวันละ 2 ตัน เป็น 5 ตัน แต่สามารถจัดการจนเหลือทิ้งด้วยการฝังกลบที่มีระบบป้องกันการหลุดออกสู่สิ่งแวดล้อมเพียง 25-30% เท่านั้น โดยใช้การ “คัดแยกขยะ” แบ่งออกเป็นขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป ขยะอันตราย มูลฝอยติดเชื้อ จากนั้นจะมีอาสาสมัครสาธารณสุขมารับซื้อในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเพื่อนำไปเข้ากระบวนการคัดแยก และดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป” นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย ขยายภาพการกำจัดขยะ
คุณหมอวชิระ เล่าด้วยว่า ขยะที่ท่าวังผามาจากหลายแหล่ง ทั้งตลาดสด สถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาด เดิมมีกองขยะทิ้งจนส่งกลิ่นเน่าเหม็น มีแมลงวันตอม แม้จะฝังกลบแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง จึงมีการพัฒนาการจัดการอย่างครบวงจร ขั้นตอนคือเมื่อได้ขยะมาแล้วจะชั่งน้ำหนักเพื่อประเมินว่าขยะ 100% จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง จากนั้นจะนำเข้าสายพาน และมีคนคอยแยกขยะอีกครั้ง หากเป็นถุงพลาสติกจะนำมาล้างทำความสะอาดและปั่นแห้งก่อนจะนำเข้าเครื่องบีบอัดให้มีขนาดเล็ก และส่งขายที่ จ.พิจิตร เพื่อทำเป็นเม็ดพลาสติกต่อไป
“ที่เหลือจะถูกนำเข้าเครื่องสับให้ละเอียดและใช้วิธีเชิงพล-ชีวภาพ กวนด้วยสว่านคู่ เติมอากาศเข้าไปเพื่อเสริมให้จุลินทรีย์ช่วยย่อยขยะเอง ใช้เวลาประมาณ 30 วันจะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์แจกจ่ายให้ชาวบ้าน ใช้ในแปลงปลูกพืชวิจัย ส่วนที่เหลือจากปุ๋ยจะกลายเป็นเชื้อเพลิงส่งขายที่บริษัทเอกชนใน จ.ลำปาง ล่าสุด จ.น่าน ถูกคัดเลือกให้เป็นเมืองต้นแบบในการจัดการปัญหาขยะขนาดไม่เกิน 50 ตัน โดยในปี 2559 ได้รับงบสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรี 54 ล้านบาท” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวปิดท้าย
ทีมข่าวสาธารณสุข เห็นด้วยกับนโยบายการพัฒนามาตรฐานการกำจัดขยะอย่างครบวงจร ทั้งขอชื่นชมและส่งกำลังใจให้พี่น้องชาวจังหวัดน่านที่ได้รับเลือกให้เป็นจังหวัดต้นแบบในการกำจัดขยะ เพราะการกำจัดขยะได้อย่างถูกวิธีคือการช่วยลดโรคภัยไข้เจ็บที่จะมาพร้อมกับภัยร้ายที่แฝงตัวอยู่ในขยะ
แต่สิ่งหนึ่งที่เราอดห่วงไม่ได้ และคงต้องฝากทุกภาคส่วนรวมไปถึงทุกคนในสังคม โดยเฉพาะที่จังหวัดน่านคือ การสานต่อนโยบายนี้อย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อนำไปสู่การกำจัดและรักษามาตรฐานการพัฒนาระบบการจัดการขยะแบบครบวงจร เพราะหากขาดซึ่งความเอาจริงแล้วในอนาคต ปัญหาขยะ ก็จะกลับมาสร้าง ปัญหาทางสุขภาพ กับประชากรแน่นอน
...
การกำจัดขยะอย่างถูกวิธีและครบวงจรถือเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ในการสกัดพาหะนำโรคร้ายได้อีกทางหนึ่ง.
ทีมข่าวสาธารณสุข