(ภาพ: AP)
ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในกรุงปารีส เห็นชอบร่างข้อตกลงลดโลกร้อนฉบับสมบูรณ์แล้ว แต่ยังมีอุปสรรคอีกมาก ก่อนจะสามารถบังคับใช้ข้อตกลงนี้ได้...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ ซีโอพี 21 (COP21) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีมติเห็นชอบร่างข้อตกลงว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก ฉบับสมบูรณ์แล้วในวันเสาร์ (12 ธ.ค.) หลังจากประชุมต่อเนื่องมานานถึง 2 สัปดาห์
ที่ประชุมบรรลุร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ดังกล่าวซึ่งถูกเรียกว่า ข้อตกลงปารีส เมื่อช่วงเช้าวันเสาร์ ก่อนที่ผู้แทนส่วนใหญ่จาก 196 ประเทศในที่ประชุมจะลงมติเห็นชอบในช่วงบ่าย โดยข้อตกลงดังกล่าว ตั้งเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเฉลี่ยไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และจะจำกัดไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสหากเป็นไปได้, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ และจะมีการทบทวนความคืบหน้าทุกๆ 5 ปี
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเห็นชอบข้อตกลงฉบับนี้แล้ว แต่ยังมีเรื่องต้องทำอีกมากก่อนที่ข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ โดยหลังจากนี้แต่ละประเทศจะต้องมีรัฐสภาเห็นชอบข้อตกลงปารีส จากนั้นจึงให้สัตยาบัน ซึ่งต้องมีอย่างน้อย 55 ประเทศให้สัตยาบัน และประเทศเหล่านั้นต้องมีอัตราปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันคิดเป็น 55% ของโลกขึ้นไป ข้อตกลงจึงจะมีผลบังคับใช้
เรื่องนี้หมายความว่า หากประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดอย่างเช่นจีนและสหรัฐฯ ซึ่งมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 24% และ 14% ของโลกตามลำดับ ไม่ร่วมลงนาม การบังคับใช้ข้อตกลงปารีสก็จะกลายเป็นเรื่องยาก
ขณะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวขององค์กร 'โกลบอล จัสติซ นาว' ของอังกฤษ ออกมาโจมตีข้อตกลงล่าสุดว่า แทบไม่มีข้อผูกมัดเพื่อรับประกันว่าสภาพอากาศจะมีความปลอยภัยสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไปเลย โดยข้อตกลงปารีสมีข้อผูกมัดทางกฎหมายบางส่วนเช่น การส่งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการทบทวนเป้าหมายดังกล่าวเป็นประจำ แต่ไม่กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แต่ละประเทศจะต้องทำให้ได้
...