เรียกได้ว่า “เก้าอี้ร้อน” สุดในรอบปี สำหรับกรณีการจัดซื้อเปียโน มอบให้กับโรงเรียนในสังกัด กทม. รวม 438 แห่ง ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังจากชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนนับล้านเสียง ก็หายเข้ากลีบเมฆ นานๆ จะโผล่มาเปิดงาน ดูน้ำท่วมสักที ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้นสังกัดเอง ยังอยากจะเจอหน้าเจอตา...!!?

วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้เจาะลึก ปมเปียโน ร้อน โดยได้สอบถามเรื่องนี้ไปยัง โฆษกประจำตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ รวมไปถึง ผอ.สำนักการศึกษา รวมไปถึง ผอ.โรงเรียนในสังกัด กทม.

ย้อนเหตุการณ์ อดีต ส.ส.ปชป. ซัดแหลก ปม “เปียโน” ผู้ว่าฯ ชายหมู

...

หลังจากมีกระแสข่าวเรื่องนี้ไม่นาน นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถือว่าเป็นคนกันเอง เพราะมาจากพรรคเดียวกัน กลับได้ออกมาแถลงข่าวด้วยท่าทีดุเดือด โดยมีรายละเอียดสังเขปดังนี้

โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2551 นำร่อง 10 โรงเรียน ใช้งบฯ 14 ล้านบาทเศษ ในปี 2552 ก็อ้างโครงการเดิมของบฯ อีก 250 ล้านบาท ซื้อให้อีก 90 โรงเรียน ต่อมาปี 55 ได้ขยายเพิ่มอีก 150 โรงเรียน ใช้งบฯ เพิ่มอีก 480 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดหาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง อุปกรณ์การเรียนดนตรี พร้อมติดตั้งเครื่องดนตรีคือ เปียโน 1 หลัง คีย์บอร์ด 15 ตัว กีตาร์อะคูสติก 10 ตัว กีตาร์ไฟฟ้าพร้อมแอมป์ 10 ชุด กีตาร์เบสพร้อมแอมป์ 10 ชุด กลองชุด 2 ชุด และอุปกรณ์สำหรับสอนขับร้อง 1 ชุด และเป็นค่าอบรมครูผู้สอน และจัดกิจกรรมดนตรีในโรงเรียนด้วย ส่วนปี 2557 ซื้อให้แจกอีก 187 โรงเรียนที่เหลือ และซื้อให้กับ 10 โรงเรียนนำร่องเดิม รวมเป็น 197 โรงเรียน ใช้งบฯ อีก 585 ล้านบาท ซึ่งทุกโรงเรียนต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ในตำราสอนดนตรีอีกโรงเรียนละ 3.3 แสนบาท รวมเป็นเงิน 144 ล้านบาท โดยไม่ได้ใช้งาน รวมใช้งบทั้งสิ้น 1.3 พันล้านบาท

"โครงการนี้ซื้อเครื่องดนตรีแจก โดยไม่สอบถามคนใช้ ซ้ำยังต้องเสียงบฯ ดูแลรักษาปีละ 20,000 บาทต่อโรงเรียนทุกปี รวม 8.7 ล้านเศษ เครื่องดนตรีส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ แต่กลับมีอนุมัติเบิกจ่ายให้ซ่อมบำรุงทุกปี ยังตั้งงบฯ ต่างหาก อ้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยจัดอบรบครูดนตรีโรงเรียนละ 2 คน อีก 114 ล้านบาท เท่ากับเป็นการยอมรับว่าที่ผ่านมา กทม.ไม่มีความพร้อม และไม่มีครูสอนดนตรี ไม่มีห้องสอนดนตรี แล้วจะซื้ออุปกรณ์ดนตรีล่วงหน้าไปเก็บไว้ทำไม” อดีต ส.ส.ปชป. ตั้งข้อสังเกต


โฆษกฯ ‘ชายหมู’ ลั่นนโยบายการศึกษา ต้องเท่าเทียม!

ขณะที่ นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกประจำตัว ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า โครงการนี้เริ่มทำมา 7 ปีแล้ว โดยเป็นนโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ที่ต้องการใช้ดนตรีทำให้เด็กมีสมาธิ มีพัฒนาการที่ดี ที่สำคัญ กทม. ต้องการให้ลูกหลานของคน กทม. ที่มีรายได้น้อย ได้โอกาสที่เท่าเทียมเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ ส่วนเรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้น หากใครสงสัย ก็สามารถยื่นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบได้ ทั้งนี้ อยากให้แยกเรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง กับ นโยบายออกจากกัน เมื่อมีข่าวออกมาก็พยายามจะโยงทั้ง 2 เรื่องเข้าหากัน กล่าวหาว่า เป็นการกำหนดนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ทำร้ายพี่น้องประชาชน และที่ผ่านมา มีจดหมายมาให้กำลังใจผู้ว่าฯ เยอะมาก โดยถามมาทางโซเชียลมีเดียด้วย...

“ทำไมลูกคนจนไม่มีโอกาสจะเล่นเปียโน...เข้าถึงเครื่องดนตรีพวกนี้หรือ...?” นายวสันต์ กล่าว 

เปียโนราคาเหมาะสม ส่งมอบครบทุกโรงเรียน ไม่กลัวการตรวจสอบ

โฆษกประจำตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยืนยันว่า ปัจจุบัน มีการส่งมอบเปียโนและเครื่องดนตรีอื่นๆ ตามโครงการนี้ให้กับโรงเรียนในสังกัด 438 แห่ง จนครบหมดแล้ว เมื่อถามว่า ก่อนจะจัดซื้อได้มีการสำรวจความต้องการของแต่ละโรงเรียนหรือไม่ มีครูที่พร้อมจะสอนหรือไม่ นายวสันต์กล่าวว่า ได้มีการจัดส่งวิทยากรเข้าไปสอนอยู่แล้ว ส่วนครูเปียโน ไม่มีอยู่แล้ว แต่ที่มาโครงการนี้ที่จัดทำขึ้นเพื่อให้เด็กเข้าถึงนั้น จะมีวิทยากรมาสอน

“เรื่องการตรวจสอบถือเป็นเรื่องที่ดี เมื่อมีการยื่นแล้ว หน่วยงานที่รับก็ทำหน้าที่ของเขาไป เรื่องนี้ผู้ว่าฯ ได้สั่งลงมา คือให้หน่วยงานของ กทม.ให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายใน ที่ผ่านมา โครงการนี้ก็ผ่านการตรวจสอบโดยสภากรุงเทพมหานครอยู่แล้ว”

เปียโน เป็นสิ่งที่โรงเรียนอยากได้หรือไม่...ถ้าไปถามความเห็นของ ผอ.โรงเรียน 438 แห่ง บางโรงเรียนอาจจะอยากได้ แต่บางแห่งอาจจะไม่อยากได้ แต่ถามว่าความเห็นของ ผอ.มีความเห็นตรงกันกับครูทั้งโรงเรียนหรือไม่ แต่อะไรที่เป็นนโยบาย ก็ต้อง “เสมอภาค และเท่าเทียม” อยู่ในบรรทัดฐานเดียวกัน โรงเรียนในเมืองได้ โรงเรียนนอกเมืองไม่ได้ แบบนี้จะเป็นนโยบายได้อย่างไร เพราะมันขาดความเสมอภาค

เปียโนตัวนี้ ไม่ใช่แกรนเปียโน ที่ราคา 5-6 ล้านบาท แต่เปียโนที่ซื้อมา ก็เป็นราคาปกติ ถ้าจำไม่ผิดจะอยู่ที่ราคา 160,000-170,000 บาท โดยซื้อมอบให้โรงเรียนละ 1 ตัว

หากพบความผิด เชื่อ “ชายหมู” ไม่นิ่งเฉย แย้มถึงวันนั้นให้รอดูท่าที..

“วันนี้หน่วยงานประกาศชัด ว่าพร้อมที่จะให้ตรวจสอบ ทั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง” เมื่อถามว่าการันตีหรือไม่ว่าการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้โปร่งใส นายวสันต์กล่าวว่า ไม่รู้...แต่ก็พร้อมให้ตรวจสอบ หากพบว่ามีการทุจริตในขั้นตอนไหน ตรงนั้นค่อยมาว่ากัน หากวันหนึ่ง ป.ป.ช. หรือ สตง. ตรวจสอบพบว่ามีการทุจริต วันนั้นก็มาดูกันว่า ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ จะรับผิดชอบอย่างไร หรือจะดำเนินการอย่างไรกับผู้เกี่ยวข้องกับผู้ที่กระทำความผิด แต่วันนี้ยังไม่มีอะไรเลย มีเพียงข่าวที่โหมกระแสให้เกิดขึ้น ที่ห่วงคือราชการที่ตั้งใจทำงาน เราควรจะให้ความเป็นธรรมกับเขา มีนักข่าวไปถามว่ามีการข่มขู่จากฝ่ายการเมือง ผมบอกเลยว่า เอาชื่อมา หากได้ชื่อแล้ว จะดูว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะทำอย่างไร เพราะไม่เคยบีบคั้นข้าราชการ...ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ของผู้ว่าฯ ​สุขุมพันธุ์ เราเห็นวัตรปฏิบัติเป็นอย่างไรกับข้าราชการ

ปัดวิจารณ์ปมร้าว ปชป.- ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เชื่อสังคมน่าจะรู้คำตอบ

ช่วงที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ไม่มีการพูดคุยกับ นายอภิสิทธิ์ หน.พรรคประชาธิปัตย์ โฆษกประจำตัว “ชายหมู” กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบ เป็นเรื่องระหว่างท่านผู้ว่าฯ กับท่านหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

จะมีการทำความเข้าใจกับพรรคฯ หรือไม่...นายวสันต์กล่าวว่า เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่สังคมเขาสงสัย เพราะนโยบายนี้ดำเนินมาแล้ว 7 ปี ทำไมเพิ่งมากล่าวถึง เมื่อถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความแตกแยกหรือไม่ โฆษกประจำตัว “ชายหมู” กล่าวว่า สังคมมอง ผมคิดว่าสังคมน่าจะรู้ แต่เรื่องนี้ผมขอไม่ก้าวล่วงให้ความเห็นในส่วนนั้น

ยอมรับ ครูจบเอกดนตรี ขาดแคลน ระบุ 141 โรงเรียน ใช้ครูวิชาอื่นสอน

ด้าน นายจรูญ มีธนาถาวร ผอ.สำนักการศึกษา สังกัด กทม. กล่าวว่า หลักสูตรดนตรี เป็นหลักสูตรที่เป็นพื้นฐาน ส่วนโครงการทักษะดนตรีนี้ เป็นโครงการที่เพิ่มขึ้นมา เพื่อเป็น e-learning โดยจะมีคู่มือการเรียนการสอนแยกออกมาต่างหาก โดยจะมี กลอง กีตาร์ คีย์บอร์ด และเปียโน เป็นเรื่องที่ ผอ.โรงเรียนทุกแห่งที่จะจัดมาสอน โรงเรียนใดไม่มีครูก็ต้องจัดอบรม และจะมีครูผู้ช่วย ซึ่งเป็นครูที่ส่งมาจากบริษัทคู่สัญญา โดยมีการเรียนไปตามกำหนดกันไว้

“หลักสูตรที่สอนจะเหมือนกัน เพราะเป็นหลักสูตรเสริมทักษะ ซึ่ง ผอ.โรงเรียนก็จะเสนอเข้ามาว่าจะร่วมโครงการ หลังมีการประกวดราคาและส่งมอบเสร็จ ก็จะมีการจัดอบรม มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยมีการจัดซื้อไปตามนั้น”

ครูที่สามารถในการสอนดนตรี มีครบทุกโรงเรียน แต่ครูที่จบเอกดนตรีโดยตรง ยังขาดอยู่ 141 แห่ง แต่ใน 141 แห่งนี้จะมีครูที่มีความรู้ความสามารถด้านดนตรีอยู่ จากนั้น ทาง ผอ.โรงเรียน ก็ได้มอบหมายให้มีการเรียนการสอน ควบคู่ไปกับทางบริษัท ซึ่งครูในโรงเรียนก็สามารถสอนเปียโนได้หมด แต่ถามว่าเก่งจริงมีมากน้อยแค่ไหน อันนี้ยังไม่ได้สำรวจ และจากการลงพื้นที่โรงเรียนหลายๆ แห่ง ก็พบว่าเด็กหลายคนก็เล่นคีย์บอร์ดเป็นกันเยอะ

ผอ.สำนักการศึกษา กล่าวต่อว่า คนที่จบเอกดนตรีมีทั้งหมด 460 คน จากครูทั้งหมดประมาณ 15,000 คน ในจำนวนนี้ก็มีครูหลากหลายวิชา เช่น วิทยาศาสตร์ อังกฤษ​คณิตศาสตร์ สังคม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เราก็ยังรับสมัครครูด้านนี้อยู่ แต่ถามว่าขาดแคลนหรือไม่ เราสามารถให้ครูที่สอนสาขาอื่นช่วยสอนได้

“การทำงานราชการ ต้องอิงตามระเบียบ เรื่องการจัดซื้อ จะมีการตั้ง TOR กำหนดสเป็ก เพื่อให้ผู้ที่ต้องการแข่งขันไปตรวจสอบ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ทำมา 4 สัญญา ยืนยันว่าไม่ได้มีการล็อกสเป็ก เขาก็สู้ราคา ส่วนจำนวนที่สู้และที่เคาะราคา ก็เป็นเรื่องของบริษัทต่างๆ เราไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมเขาถึงเข้ามาแข่ง ไม่เข้ามาแข่ง หรือถอนตัวออก แต่บังเอิญว่าบริษัทที่ได้เป็นบริษัทเดียวกัน แต่เมื่อเราทำหน้าที่ของเราแล้ว ผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับกัน”

ลุยถาม ผอ.ร.ร.ในสังกัด กทม. เผยได้รับเครื่องดนตรีครบแล้ว ยันได้ใช้สอยจริง

นายนเรศ เดชผดุง ผอ.ร.ร.เคหะชุมชนลาดกระบัง กล่าวว่า โรงเรียนมีนักเรียน 2,061 คน โดยได้รับเครื่องดนตรีมาแล้ว 1 ชุด โดยมีเปียโน 1 หลัง คีย์บอร์ด กีตาร์ หลายตัว และกลองชุด รวมๆ แล้วน่าจะ 10 ชิ้นขึ้นไป โดยเป็นโครงการของ กทม. ได้รับมอบเมื่อปี 2557

“ตอนนี้โรงเรียนได้มีการจัดสอนอย่างเต็มที่ เนื่องจากทางโรงเรียนมีครูดนตรีอยู่แล้ว โดยได้นำมาใช้กับกิจกรรมกับทางโรงเรียนด้วย นอกจากนี้ ยังเอาไปใช้ในเรื่องนาฏศิลป์ด้วย โดยมีครูโรงเรียน 2 คน และก็มีทางเจ้าหน้าที่จากบริษัทมาสอนด้วย ใน 1 สัปดาห์ จะเรียน 1 คาบ โดยจะเรียนทุกระดับชั้น ป.1-ป.6 สัปดาห์ละ 1 ชม. และตอนเย็นๆ ก็จะมีการจัดฝึกซ้อมกัน หากมีกิจกรรม เช่น วันเด็ก วันพ่อ หรือ วันแม่ ก็จะมีการโชว์ดนตรี ซึ่งของผมนี่ใช้คุ้มค่าครับ” ผอ.ร.ร.เคหะชุมชนลาดกระบัง กล่าว

ส่วน นายสี่ชัย เกศวหงส์ ผอ.ร.ร.คลองกลันตัน เขตสวนหลวง กล่าวว่า โรงเรียนมีนักเรียนทั้งหมด 620 คน ได้รับเครื่องดนตรีทั้งหมดนานแล้ว โดยได้รับก่อนที่ตนจะเข้ามาดำรงตำแหน่งในปี 2557 โดยมี คีย์บอร์ด ออแกน กีตาร์โปร่ง กีตาร์ไฟฟ้า กลองชุด เปียโน 1 หลัง โดยใน 1 สัปดาห์ นักเรียนตั้งแต่ ป.1-ป.6 จะมีเรียน 1 คาบเรียน

“อุปกรณ์เหล่านี้จะอยู่ในห้องดนตรีทั้งหมด เวลาสอนดนตรี ก็จะมีการนำอุปกรณ์เหล่านั้นมาใช้ โดยมีครูที่สอนดนตรี 1 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ทางบริษัทเข้ามาช่วยอีก 1 คน โดยครูของทางโรงเรียนเองก็สามารถเล่นเปียโนได้ และคิดว่าเพียงพอกับนักเรียน 620 คน การสอนดนตรี ใช่ว่าจะสอนในชั่วโมงอย่างเดียว แต่เรายังมีชมรมดนตรี หากมีกิจกรรมอะไรก็จะใช้วงดนตรีเหล่านี้ หากมีกิจกรรมใหญ่ๆ ก็จะมีเจ้าหน้าที่บริษัทมาช่วย

นายวิรัตน์ ตรงแก้ว ผอ.ร.ร.วัดหนองจอก ระบุว่า มีนักเรียน 1,700 คน วิชาดนตรี เรียนสัปดาห์ละ 1 คาบ มีครูที่สอน 1 คน โดยมีคนจากบริษัทมาช่วยสอน 1 คน ส่วนจะมีอุปกรณ์อะไรบ้างนั้น ตนจำไม่ได้ เพราะเพิ่งย้ายมาประจำที่โรงเรียนนี้ได้เพียง 1 เดือน

กรณีการจัดซื้อเปียโนครั้งนี้ ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่ฝ่ายการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้จุดพลุขึ้น ซึ่งฝ่ายตรวจสอบอย่าง ป.ป.ช. และ สตง. คงจะต้องหาคำตอบกันต่อไปว่า มีการคอร์รัปชัน จริงหรือไม่!?!