ไม่มีวงการไหนจะแข่งขันกันดุเดือดเท่ากับธุรกิจค้าปลีก ใครหยุดนิ่งไม่พัฒนาตัวเอง ก็มีแต่จะโดนทิ้งไว้เบื้องหลัง ในฐานะเอ็มดีรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค “พิมพ์ผกา หวั่งหลี” มองทุกอุปสรรคเป็นความท้าทาย และมันส์สุดๆกับการค้นหาสิ่งแปลกใหม่มาเซอร์ไพรส์นักช็อปอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เรียกเสียงว้าวๆๆด้วยการเนรมิตโซนใหม่ล้ำจินตนาการ “สเปล แอท ฟิวเจอร์” เป็นของขวัญส่งท้ายปีแก่ชาวรังสิต หวังเป็นอาวุธลับสุดชิค ช่วยทวงบัลลังก์ความเป็นศูนย์การค้าใหญ่ที่สุดในเมืองไทยกลับคืนมาอีกครั้ง

คุณพลอยเข้ามาบริหารฟิวเจอร์พาร์คตั้งแต่เมื่อไหร่

ที่จริงทำมาตั้งแต่เริ่มสร้างศูนย์การค้าเลยนะคะ เมื่อปี 1992 เราเปิดบริษัทรังสิตพลาซ่า เพื่อเข้าไปพีชงานสร้างศูนย์การค้าบนที่ดินย่านรังสิต ขนาด 600 กว่าไร่ ซึ่งเป็นของตระกูลหวั่งหลี เราเป็นเจ้าของที่ดิน แต่ไม่มีประสบการณ์เรื่องการทำศูนย์การค้ามาก่อน คุณพ่อ (สุกิจ หวั่งหลี) ทำตลาดรังสิตร่วมกับคุณอา บนพื้นที่ 70 กว่าไร่ จนบูมมาก เป็นที่นิยมของคนย่านนี้ เมื่อมีคนมาชวนให้ทำศูนย์การค้า คุณพ่ออยากพัฒนาที่ดินอยู่แล้ว ก็เลยเชิญพันธมิตรทางธุรกิจ มาพีชงาน มีทั้งกลุ่มเซ็นทรัล, โรบินสัน และเดอะมอลล์ กรุ๊ป ตอนแรกทางหวั่งหลี กรุ๊ป ถือหุ้นอยู่ 51% จับมือกับห้างฯโรบินสันทำฟิวเจอร์พาร์คขึ้นมา พอเริ่มโฆษณาปุ๊บยังไม่ทันได้เปิดศูนย์ ก็เจอเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทางห้างฯโรบินสันเลยขอถอนหุ้นออกไป ทำให้ทางกลุ่มหวั่งหลีถือหุ้นอยู่ 80% พลอยก็เข้ามาทำงานตั้งแต่ วันแรกเลย โดยเริ่มจากงานแอดมินทั่วไปและฝ่ายบุคคล แล้วก็มาช่วยเรื่องการขายพื้นที่ในศูนย์การค้า

บริหารแบบ 360 องศา สไตล์ ‘พิมพ์ผกา หวั่งหลี’ วิกฤติคือความท้าท้าย คู่แข่งมีไว้ลับสมอง

...

ถามจริงช็อกไหมคะ เริ่มงานแรกก็เจอวิกฤติใหญ่เลย

ไม่มีเวลาให้ช็อก (หัวเราะ) ต้องเร่งขายพื้นที่!! หลังจบปริญญาโทด้านการบริหาร พลอยทำงานฟินวันได้ปีหนึ่ง คุณพ่อก็ตามให้มาดูการพีชงานสร้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เราไม่ได้ตั้งใจจะมีธุรกิจนี้เลย ตระกูลหวั่งหลีมีหลายสาย สายเราทำกลุ่มพูนผล เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรโดยตรง ก็มีน้ำมันพืชกุ๊ก, วุ้นเส้นตราต้นสน-ต้นไผ่ และทำแป้งโมดิฟายด์สตาร์ช แล้วก็มีที่ดินผืนใหญ่ๆ แต่ผืนใหญ่ที่สุดคือฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เราตั้งใจสร้างให้เป็นฟิวเจอร์ซิตี้ ทำให้ที่นี่เป็นเมืองใหม่ ภายในศูนย์มีกลุ่มค้าปลีกใหญ่ๆ มารวมกันอยู่ที่เดียว ตอนเปิดตัวศูนย์เราได้รับการขนานนามเป็นศูนย์การค้าใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เป็นอะไรที่ฮือฮามากในสมัยนั้น เพราะยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน

ตอนทำศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คใหม่ๆ แถวนี้มีแต่ทุ่งนา หนักใจไหมจะพัฒนาให้เจริญยังไง

(ยิ้ม) สมัยก่อนบ้านพลอยอยู่รัชดา คิดดูว่าใช้เวลา 3 ชั่วโมง กว่าจะมาถึงรังสิต เพราะยุคนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวก ไม่มีโทลล์เวย์ ปัจจุบันใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที จำได้เลยว่าตอนตระเวนขายพื้นที่ เราเพิ่งอายุ 23-24 ปี ไปเสนอขายพื้นที่ใคร ก็โดนถามว่าจะเปิดร้านไปขายควายที่ไหน!! เราฝังใจกับคำนี้มาก พลอยเลยมุมานะศึกษาข้อมูลทุกอย่าง ศึกษาความต้องการของลูกค้า ตั้งใจว่าต้องทำให้สำเร็จให้ได้ เพราะบ้านเราก็ลงทุนไปเยอะถึง 4 พันล้านบาท เราใช้เวลาสร้างศูนย์อยู่ 3 ปี วันที่เปิดศูนย์ก็ได้ผู้เช่าพื้นที่เต็ม 80% ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ จากช่วงแรกมีคนมาเดินห้างฯวันละ 5 หมื่นคน ปัจจุบันยอดเพิ่มเป็นวันละ 150,000 คน

บริหารแบบ 360 องศา สไตล์ ‘พิมพ์ผกา หวั่งหลี’ วิกฤติคือความท้าท้าย คู่แข่งมีไว้ลับสมอง

คุณพลอยพิสูจน์ฝีมือยังไง ถึงได้รับความไว้วางใจให้รั้งตำแหน่งเอ็มดี

พลอยเป็นคนทำอะไรทำจริง ถ้าจับอะไรแล้วก็จะลุยเองทุกอย่าง คิดว่าการขายพื้นที่ได้ 80% ทำให้ผู้ใหญ่ ไว้วางใจเรา ตอนนั้น เราลุยไปคุยกับลูกค้าทุกราย เกิน 90% ยังเป็นพันธมิตรที่ดีของเรามาถึงทุกวันนี้ สำหรับพลอยผู้เช่าพื้นที่ทุกรายคือผู้มีพระคุณของเรา เป็นเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน ทำศูนย์การค้ามีปัญหาจุกจิกทุกวัน แต่พลอยจะมองว่าเป็นความท้าทาย เพราะเป็นคนสนุก-สนาน ไม่ชอบเก็บ ปัญหามาคิด ถ้าตรงไหนมีปัญหาก็แก้ไขซะ มันก็จบ

ฟิวเจอร์พาร์คผ่านวิกฤติมาเยอะ ครั้งไหนสาหัส สากรรจ์ที่สุด

ผ่านมาเยอะ (ยิ้ม) หลังพฤษภาทมิฬ เราก็ไปกู้เงินนอกมา 1 พันล้านบาท เพื่อใช้สร้างศูนย์การค้า เรากู้เงิน เดือน ม.ค.2540 ปรากฏว่าเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เงินบาทลดค่าตอนเดือน ก.ค. จากหนี้พันล้านก็เพิ่มเป็น 2 พันล้านบาททันที เราต้องไปขอทำแผนประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ เป็นวิกฤติใหญ่มากที่ทำให้บริษัทเกือบล้ม!! คุณพ่อบอกว่าชื่อเสียงและเครดิตของเราสำคัญที่สุด จะยังไงก็ตามเราต้องจ่ายหนี้ให้ครบทุกบาททุกสตางค์ ใช้เวลา 10 กว่าปียังเคลียร์หนี้ไม่หมดเลย แต่เราต้องทำทุกอย่างเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ อีกครั้งก็เจอวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ แถวนี้ท่วมสูง 3 เมตร 50 แต่ของเราท่วมเข้ามาได้แค่ 30 ซม. เพราะสูบน้ำออกตลอด ต้องปิดศูนย์การค้า 1 เดือนเต็มๆ เราขอให้บิ๊กซีเปิดให้บริการ เพราะเป็นห่วงลูกค้า เราทำศูนย์การค้าต้องถือคติว่าอะไรที่เราสร้างให้ชุมชนมีความสุขได้ เราก็ต้องทำ พลอยอยู่ที่ฟิวเจอร์พาร์คตลอด กินอยู่ที่นี่เลยไม่เคยทิ้ง เพื่อคอยดูแลสถานการณ์ โชคดีที่ได้ทหารมาช่วยอีกแรง มีเรือ 5 ลำ คอยให้บริการคนย่านนี้ เราทำฟิวเจอร์พาร์คมา บอกลูกห้องตลอดว่าจะไม่มีวันทิ้งกัน เราต้องทำทุกอย่างเพื่อให้พวกเขาเสียหายน้อยที่สุด และพยายามช่วยเหลือทุกทาง ค่าเช่าก็ไม่เก็บเลย ส่วนช่วงที่เกิดม็อบใจกลางเมือง เราโชคดีหน่อยที่อยู่ห่างไกลจุดชุมนุม เลยไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่ ยอดขายลดลงไม่ถึง 10% คุณพ่อเน้นว่าคนทำการค้าต้องซื่อสัตย์ คำพูดต้องเชื่อถือได้ กับร้านค้าต่างๆก็ไม่ต้องเซ็นสัญญา ขอแค่เราคุยกันรู้เรื่องและมีความไว้วางใจกัน แค่คำตกลงก็โอเค

...

บริหารแบบ 360 องศา สไตล์ ‘พิมพ์ผกา หวั่งหลี’ วิกฤติคือความท้าท้าย คู่แข่งมีไว้ลับสมอง

ปีนี้ครบรอบ 2 ทศวรรษ คุณพลอยมีแผนจะสร้างเซอร์ไพรส์อะไรให้แฟนๆฟิวเจอร์พาร์ค

เราตั้งเป้าไว้ว่าจะกลับมาทวงคืนตำแหน่งศูนย์การค้าใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยใช้ “สเปล แอท ฟิวเจอร์” เป็นแม่เหล็กใหม่ ตั้งอยู่บนพื้นที่แสนตารางเมตรมีพื้นที่ ขายประมาณ 4 หมื่นตารางเมตร เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้เป็นสวนและที่จอดรถส่วนหนึ่ง

“สเปล แอท ฟิวเจอร์” จะพลิกโฉมหน้าฟิวเจอร์พาร์คให้ล้ำทันสมัยขนาดไหน

ทำไมถึงลุกขึ้นมาทำสเปล เพราะลูกค้าของเรามีความต้องการสูง อัพเดตขึ้นมาเรื่อยๆ คนที่อยู่แถวนี้เมื่อก่อนบ้านอาจจะหลักแสน แต่ทุกวันนี้อยู่บ้านหลังละเป็นล้าน ไลฟ์สไตล์ของคนย่านนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก หน้าที่ของเราคือต้องไปก่อนพวกเขา คือพัฒนาให้เกิดอะไรที่พวกเขาอยากได้ ก่อนรู้ตัวว่าอยากได้ ซึ่งสเปลจะตอบโจทย์ตรงนี้ เรายกทุกอย่างที่ป๊อปปูล่าร์ที่สุดจากในเมืองมาไว้ที่ฟิวเจอร์พาร์ค ร้านไหนดังก็จะหารับประทานได้ที่นี่ แฟชั่นแบรนด์ไหนเดิร์นก็จะคัดสรรมาให้ช็อปปิ้งที่นี่ โดยไม่ต้องเดินทางเข้าไปในเมือง นอกจากนี้ เรายังเปิด โอกาสให้ร้านใหม่ๆได้แจ้งเกิดที่นี่ ในฟิวเจอร์พาร์คมีร้านค้าหลากหลายถึง 1,200 ร้านค้า เรามีพนักงานกว่า 2 หมื่นคน บรรยากาศของสเปลจะเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นจุดยืนของฟิว-เจอร์พาร์คตั้งแต่ต้น สเปล ยังมีทีเด็ดเซอร์ไพรส์อีกเยอะ เราจะเป็นศูนย์รวมของกีฬา โดยเป็นเจ้าแรกในไทยที่มีสนามหัดเล่นสกี “สกี 365 องศา” ยังมีลานไอซ์สเกต และสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน ลูกค้าของเราจะได้แฮงก์เอาต์ในโซนสวนดอกไม้ อยากให้สเปลเป็นที่พักผ่อนจริงๆ

...

บริหารแบบ 360 องศา สไตล์ ‘พิมพ์ผกา หวั่งหลี’ วิกฤติคือความท้าท้าย คู่แข่งมีไว้ลับสมอง

สเปลลงทุนสูงพอสมควร คุ้มไหมกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

ลงทุน 4 พันล้านบาท พลอยเชื่อว่าคุ้ม ต้องมองอนาคตไกลๆ เป้าหมายของเราคือ สร้างความสุขให้ลูกค้าในย่านนี้ มีทุกสิ่งที่พวกเขาต้องการ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ไหนเลย

บริหารแบบ 360 องศา สไตล์ ‘พิมพ์ผกา หวั่งหลี’ วิกฤติคือความท้าท้าย คู่แข่งมีไว้ลับสมอง

วงการค้าปลีกแข่งขันรุนแรงมาก ทำยังไงให้ฟิวเจอร์พาร์คเป็นหนึ่งในใจคนไทย

เราเอาความต้องการของลูกค้าคนเดินเป็นหลัก จะหาอะไรที่แปลกใหม่มาให้ลูกค้าเสมอ มาที่นี่ชีวิตต้องไม่ธรรมดา และสำคัญที่สุดคือต้องสะดวกสบาย ทำยังไงให้ลูกค้าเดินทางเข้าออกสะดวกที่สุด

...

บริหารแบบ 360 องศา สไตล์ ‘พิมพ์ผกา หวั่งหลี’ วิกฤติคือความท้าท้าย คู่แข่งมีไว้ลับสมอง

วงการนี้หยุดนิ่งไม่ได้ คุณพลอยหาแรงบันดาลใจใหม่ๆจากไหน

จากการเดินทางท่องเที่ยว ปีหนึ่งเดินทางเยอะมาก เห็นอะไรประทับใจก็จะถ่ายรูปมาเป็นแรงบันดาลใจ คุณแม่ปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เราใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ ซึ่งฟิวเจอร์พาร์คก็จับเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้น พลอยใส่ความเป็นตัวเองตรงนี้เข้ามาตลอด.

ทีมข่าวหน้าสตรี