วันที่ 17 พ.ย.58 ที่ ร.ร.มณีจันท์รีสอร์ท อ.เมือง จันทบุรี สำนักงานโครงการ CATSPA โดยกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก GEF และสำนักงานโครงการพัฒนา สหประชาชาติ หรือ UNPD ร่วมกับ สนง.บริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ศรีราชา ส่วนศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติ คณะสงฆ์ จ.จันทบุรี และส่วนราชการในจังหวัดจัดการ ประชุมเชิงปฏิบัติการ และเสวนาการจัดการและการอนุรักษ์เขาคิชฌกูฏอย่างยั่งยืน โดยมี นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผวจ.จันทบุรี เป็นประธานเปิดการเสวนา ร่วมด้วย ผู้แทนคณะสงฆ์จาก 8 วัด ผู้แทนจากวัดกระทิง ซึ่งเป็นคณะกรรมการ ร่วมจัดงานเทศกาล นมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์และพันธุ์พืช ตลอดจนส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น เข้าร่วมการเสวนา

นายทวี หนูทอง ที่ปรึกษาโครงการ เร่งส่งเสริมความยั่งยืนของระบบการจัดการพื้นที่คุ้มครองกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ในการจัดเสวนาครั้งนี้ สืบเนื่องจากสำนักงานโครงการ CATSPA ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก หรือ GEF และสำนักงานโครงการพัฒนาสหประชาชาติ หรือ UNPD ในการวางแผนสร้างแนวทาง การบริหารจัดการพื้นป่ารอยต่อภาคตะวันออก โดยเฉพาะเขาคิชฌกูฏ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานเทศกาล นมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง งานประจำปีของ จ.จันทบุรี และยังเป็นพื้นป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งการจัดงานตลอดช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการสุขาภิบาล การยืนต้นตายของต้นไม้ ในเส้นทางเดินนมัสการรอยพระพุทธบาท โดยทางสำนักงานโครงการ CATSPA กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการใช้พื้นป่าอนุรักษ์ในด้านส่งเสริมพระพุทธศาสนา และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ควบคู่กันไป จึงจัดการเสวนาการจัดการ และการอนุรักษ์เขาคิชฌกูฏ อย่างยั่งยืน เพื่อให้การจัดงาน เทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาท ไม่กระทบกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

...

ด้านนายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผวจ.จันทบุรี กล่าวว่า ทั้งนี้ ได้ที่มุ่งเน้นให้ทุกภาค ส่วนยึดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก บูรณาการความร่วมมือตามแนวทาง บวร คือ บ้าน วัด และราชการ รับฟังความคิดเห็น เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ช่วยกันดูแล รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และชื่อเสียงของ จ.จันทบุรี โดยเฉพาะการจัดงานเทศกาล นมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง อ.เขาคิชฌกูฏ ที่ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังทุกภาคส่วนโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง สร้างชื่อเสียงแก่จังหวัดและประเทศชาติ ซึ่งจันทบุรี ถือว่ามีโอกาสดีที่ประชาชน จะหลั่งไหลเข้ามากราบไหว้ ขอพร รอยพระพุทธบาทพลวงที่ตั้งอยู่บนยอดเขาคิชฌกูฏ ช่วงเทศกาลตรุษจีนที่เปิดให้ขึ้นไปบนยอดเขา 60 วันเป็นจำนวนมาก ซึ่งข้อสรุปจากการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อบริหารจัดการและอนุรักษ์เขาคิชฌกูฏอย่างยั่งยืนต่อไป รวมทั้งปัญหาขยะ ที่ต้องประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนที่จะขึ้นไปบนยอดเขาให้ช่วยกันอนุรักษ์และดูแล ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ.