นับแต่เกิดเหตุก่อการร้าย 9/11 ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาด้วยการนำเครื่องบินโดยสารชนตึกคู่ “เวิลด์เทรด” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ด้านการเงินของโลก จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมากเป็นเหตุการณ์ที่สยองขวัญชาวโลกมาแล้ว
ศุกร์ 13 พ.ย.2015 ได้เกิดเหตุการณ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อกลุ่มก่อการร้ายได้เปิดปฏิบัติการรุนแรงใจกลางกรุงปารีส ฝรั่งเศสต้องเรียกว่าเป็น “ศุกร์สยองอาถรรพณ์วันที่ 13”
กลุ่มคนร้ายได้เข้าโจมตีด้วยการใช้ระเบิดพลีชีพและกราดยิงอย่างไร้ปรานีที่ช็อกกันไปทั้งโลกไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้นมาอีก
เหตุการณ์เกิดขึ้น 3 พื้นที่ 7 ชุดทำให้มีผู้เสียชีวิตเบื้องต้น 140 ศพและบาดเจ็บกว่า 200 คนเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของฝรั่งเศส
จุดแรกที่หน้าสนามฟุตบอลสต๊าด เดอ ฟร็อง ซึ่งกำลังมีการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรระหว่างฝรั่งเศส-เยอรมันโดยประธานาธิบดีฟร็องซัว ออล็องด์ของฝรั่งเศสเข้าชมด้วย หลังเกิดระเบิดที่หน้าสนามเจ้าหน้าที่ได้นำออกจากสนามทันที
จุดต่อมาได้มีการกราดยิงใส่ร้านอาหารชื่อดังหลายร้าน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
แต่จุดที่รุนแรงที่สุด ก็คือการเข้าโจมตีที่โรงละครบาตากล็องระหว่างที่มีการแสดงคอนเสิร์ตโดยคนร้ายได้ใช้การระเบิดพลีชีพและกราดยิงเป็นรายตัวพร้อมกับจับตัวประกันนับ 100 คน จนเจ้าหน้าที่ต้องบุกเข้าไปจัดการทำให้ผู้ก่อการร้ายเสียชีวิต 7 คน
นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สยองขวัญอีกครั้งหนึ่ง
ประธานาธิบดีฟร็องซัว ออล็องด์ได้ประกาศทันทีว่าจากนี้ไปรัฐบาลจะจัดการอย่างไร้ความเมตตาเพื่อเป็นการตอบโต้
ขณะที่ผู้นำหลายประเทศได้ส่งสารแสดงความเสียใจและประชาชนในประเทศต่างๆได้แสดงความเสียใจและขอยืนข้างชาวฝรั่งเศสทุกคน
...
ก่อนหน้าที่จะถึงเหตุการณ์นี้ได้มีเหตุก่อการร้ายที่ฝรั่งเศสมาแล้ว เช่น กลุ่มก่อการร้ายได้ยิงกราดใส่สำนักงานหนังสือพิมพ์ “ชาร์ลี เอ็บโด” ที่ได้เขียนการ์ตูนล้อเลียนด้านศาสนา จนทำให้เกิดความไม่พอใจ
เป็นปฏิกิริยาที่เกิดมุมมองว่า “ใครผิด-ถูก” กันแน่
หลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่มีกลุ่มก่อการร้ายได้แสดงความรับผิดชอบ มีเพียงแค่กลุ่มไอเอสได้โพสต์ความชื่นชมการปฏิบัติการครั้งนี้
จึงยังไม่สามารถระบุว่าเป็นการกระทำของกลุ่มไหนกันแน่ คงต้องรอให้มีการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงว่าเป็นฝีมือของใครกลุ่มไหน
ฝรั่งเศสนั้นเป็นประเทศที่ค่อนข้างเปิดกว้าง จึงมีผู้คนหลายชาติพันธุ์ หลายศาสนาเข้าไปอยู่อาศัย แต่ที่มีปัญหาก็คือการที่มีการกีดกันหรือไม่ยอมรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามทั้งที่เป็นชาวฝรั่งเศสเองและที่มาจากชาติพันธุ์อื่นๆ
มีชาวฝรั่งเศสที่นับถือศาสนาอิสลามได้เดินทางไปร่วมรบกับพวกไอเอสและกลุ่มหัวรุนแรงในตะวันออกกลาง จากนั้นก็เดินทางกลับประเทศจำนวนหนึ่ง
นั่นเป็นข้อสันนิษฐานหนึ่งที่มองว่าอาจจะเป็นผู้ลงมือ
แต่เรื่องนี้ต้องมองด้วยเหตุและปัจจัยที่ลึกไปกว่านั้น โดยเฉพาะนโยบายในเรื่องก่อการร้ายและปัญหาในตะวันออกกลางที่กำลังต่อสู้กันอย่างเข้มข้น
“ฝรั่งเศส” เองแม้จะจัดอยู่กลุ่มประเทศตะวันตกยุโรป-สหรัฐฯ แต่ก็มีแนวทางที่ต่างกับสหรัฐฯบางเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาในซีเรีย มันจึงสลับซับซ้อนยากที่จะคาดเดาได้ง่ายๆ
เพราะ “ผลประโยชน์” ของแต่ละชาติเป็นเดิมพันสำคัญ.
“สายล่อฟ้า”