"สุรพงษ์" แนะ คสช.เร่งหาแผนรองรับ หากประชามติไม่ผ่านชี้ขาด เชื่อมุกใหม่เปิดช่องนายกฯ คนนอก เรียกแขก ประชาชนไม่เอาด้วย ชี้หากยืดเลือกตั้งออก ต่างชาติบอยคอตหมดความเชื่อมั่นแน่

เมื่อวันที่ 12 พ.ย.58 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม และเปิดทางให้มีนายกฯ คนนอกนั้น ตนเชื่อว่าจะกลายเป็นปัญหาเรียกแขกแน่ๆ เพราะคนส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการเห็นนายกฯ เป็นคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คงจะไม่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ ในการทำประชามติอย่างแน่นอน จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่าหากรัฐธรรมนูญที่ กรธ.กำลังยกร่างอยู่ในขณะนี้ไม่ผ่านการทำประชามติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะทำอย่างไร คสช.ได้เตรียมการเอาไว้ล่วงหน้าอย่างไรบ้าง จึงอยากเสนอแนะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ประกาศแนวทางให้ได้รับทราบกันล่วงหน้าให้ชัดเจน เพราะหากต้องยืดอายุรัฐบาลให้อยู่ต่อไปอีก ก็จะทำให้ต่างชาติหมดความเชื่อมั่น การค้าขายและการลงทุน จะได้รับผลกระทบในทางลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า คสช.อาจจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อรองรับหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ควรมีความชัดเจนว่าจะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาประกาศใช้ เพื่อให้มีการเลือกตั้งได้เลย เช่น ปี 40 หรือ ปี 50 เป็นต้น เราจะได้มีการเลือกตั้งตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ว่า จะก้าวออกจากตำแหน่งในเดือน ก.ค.ปี 60 ตามที่นายกฯ ได้พูดไว้อยู่ทุกวัน นอกจากนี้ควรยุติบทบาทของ กรธ. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ทันทีหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะได้ไม่เปลืองค่าใช้จ่าย เพราะถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการยกร่างและการปฏิรูปใดๆ อีกต่อไป เพราะเราจะกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิมๆ ที่เคยใช้ไปแล้วปี 40 หรือ 50 วันนี้ คสช.น่าจะประเมินตัวเองได้แล้วว่า ที่ทำกันมาประเทศชาติดีขึ้นหรือแย่ลง อย่าหลอกตัวเอง หรือไปเชื่อโพลที่ทำเอาใจนาย แล้วพวกท่านจะได้กำหนดทิศทางประเทศได้อย่างถูกต้อง ถ้าไปไม่ไหวจริงๆ ก็จะได้หาวิธีอื่นเพื่อนำพาประเทศให้ก้าวต่อไปให้ได้

...

ด้าน นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การที่ กรธ.ให้พรรคการเมืองแจ้งชื่อคนที่จะเป็นนายกฯแก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) อย่างน้อย 1 ชื่อ แต่ไม่เกิน 5 ชื่อนั้น ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมต้องไปเปลี่ยนแปลงจากระบบเดิม และยิ่งให้พรรคการเมืองหลายพรรค เสนอชื่อซ้ำกันได้ ยิ่งเป็นเรื่องตลก กรธ.อยากทราบก่อนใช่หรือไม่ว่าพรรคใดจะร่วมกันเป็นรัฐบาลหลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว ส่วนคนที่จะมาเป็นนายกฯ พรรคต้องพิจารณาว่าคนนั้นเป็นคนที่ประชาชนรับได้ มีความรู้ ความสามารถ ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิพรรคการเมือง ก้าวล่วงกิจกรรมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เหมือนไปคิดแทนประชาชน อีกทั้งยืนยันว่านายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. เพราะจะมีความยึดโยงกับประชาชน และ ส.ส.จะต้องยึดโยงพรรค

นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า โดยหลักการแล้วทุกพรรคการเมืองจะส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยหัวหน้าพรรคจะอยู่ในลำดับที่ 1 ซึ่งหมายความว่าหากพรรคนั้นๆ ชนะการเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคนั้น ๆ ก็จะเป็นนายกฯ พรรคเพื่อไทยเองแม้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค แต่ก็ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อในลำดับที่ 1 ซึ่งเท่ากับเป็นการบอกให้กับประชาชนรู้ว่าผู้สมัครเบอร์ 1 ของพรรคจะเป็นผู้ที่จะเป็นนายกฯ นั่นเอง ดังนั้นแนวคิดนี้จึงไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะคงไม่มีใครส่งชื่อ 1-5 แล้วเลือกคนลำดับที่ 5 เป็นนายกฯอยู่แล้ว