"มีชัย" แจง 7 ข้อดี "ระบบจัดสรรปันส่วนผสม" อ้างช่วยปรองดอง เฉลี่ยคะแนนให้ทุกพรรค ยันไม่คิดใครได้เปรียบเสียเปรียบ วอนพรรคการเมืองคิดถึง ปชช. อัดกลับนักวิชาการอย่าเอาแต่ลอกตำราเมืองนอก คนไทยมีสิทธิ์คิดระบบเอง มั่นใจทำให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย ยอมรับอาจเกิดช่องโหว่โผล่พรรคนอมินี
เมื่อวันที่ 2 พ.ย.58 ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีข้อท้วงติงเรื่องระบบการเลือกตั้งที่มีการเสนอแนวทางไว้ แต่ยังไม่มีข้อสรุป แต่มีพรรคการเมืองหลายพรรค ออกมากล่าวว่าเป็นการตัดตอนพรรคการเมืองนั้นว่า เรื่องนี้ตนขออธิบายว่า 1.การจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ต้องเริ่มต้นที่เราจะยอมเคารพเสียงของประชาชนมากน้อยแค่ไหน ที่จะไม่ให้คะแนนของประชาชนสูญหายไปโดยเปล่าประโยชน์ ที่ผ่านมาเราใช้บัตร 2 ใบ ถึงแม้ใบหนึ่งจะเอามานับหมด ส่วนอีกใบนับเพียงส่วนเดียว ส่วนของคนที่ได้คะแนนน้อยกว่าคนที่หนึ่งก็จะถูกทิ้งไปหมด ทำให้ไม่ได้นับในส่วนนั้น
2.เวลาที่กรรมการคิดเรื่องนี้ ไม่ได้คิดถึงพรรคหนึ่งพรรคใดโดยเฉพาะ และไม่คิดว่าประโยชน์หรือโทษที่เกิดขึ้นกับพรรค คิดแต่เพียงว่าทำอย่างไรจะให้คะแนนของประชาชนมีน้ำหนัก นำไปใช้ในการออกเสียงเลือกตั้งให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ 3.วิธีที่เราคิดเราคิดว่าเป็นวิธีการปรองดองอย่างหนึ่ง คือ ให้คะแนนเฉลี่ยออกไปทุกพรรคจะได้รับคะแนนเหล่านั้นตามสมควร
4.สำหรับนักวิชาการและสื่อที่ชอบอ้างว่าไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน ก็อยากจะบอกว่า ต้องเข้าใจว่า คนไทยก็มีสติปัญญาที่จะคิดอะไรออกได้เอง ที่เหมาะสมกับประเทศ การไปเรียนหนังสือจากเมืองนอก ไม่ใช่ไปจำตำราเขามาใช้อย่างเดียว ต้องเรียนรู้แล้วนำมาปรับใช้ให้เข้ากับประเทศของเรา ยกตัวอย่างในอดีตใครเคยกินต้มยำกุ้งกับส้มตำไหม ก็ไม่มี มีแต่คนไทยที่กินต้มยำกุ้งกับส้มตำ จนคนทั้งโลกเขารับรู้แล้ว เดี๋ยวนี้ก็ดูเหมือนจะชอบกันทั้งโลก ก็ดูเหมือนไม่มีปัญหาอะไร 5.ถ้าเราจะเอาโลกมาเป็นตัวอย่างเราก็ต้องถามว่า ในโลกนี้เคยมีรัฐบาลไหนบ้างที่ออกมาพูดในที่สาธารณะว่า คนในภาคหรือจังหวัดนี้ไม่เลือกพรรคของตน จึงไม่จัดสรรงบประมาณให้ หรือเอาโครงการจากจังหวัดย้ายไปอีกจังหวัด เพียงเพราะจังหวัดแรกไม่ได้เลือกพรรครัฐบาล แต่ประเทศไทยมี ซึ่งเรากำลังจะแก้ปัญหาไม่ให้มันเกิดขึ้น
"การเลือกแบบใหม่ทุกจังหวัดจะมีคะแนนที่เอื้อต่อทุกพรรคการเมือง มากบ้างน้อยบ้างจนสามารถพูดได้ว่า คนทั้งประเทศสนับสนุนพรรคการเมืองแต่ละพรรคมากน้อยสุด แต่กำลังศรัทธาของแต่ละคนในแต่ละจังหวัดหรือในแต่ละเขต" นายมีชัยกล่าว
นายมีชัย กล่าวต่อว่า 6.แต่ละวิธีที่ กรธ.เสนอมานั้น จะทำให้พรรคการเมืองคัดเลือกคนดีที่สุดไปลงสมัคร แม้จะรู้ว่าในเขตนั้นคะแนนสู้พรรคอื่นไม่ได้ แต่ก็ยังมีความหวังว่าจะให้ได้คะแนนมากที่สุดเท่าที่มากได้ เพื่อนำไปคำนวณในการคิดสัดส่วน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 7.ในการเลือกตั้งปี 2554 มีเขตการเลือกตั้ง 375 เขต มี 120 เขต ที่คนได้รับเลือกได้คะแนนน้อยกว่าคนอื่น โดยยังไม่นับโหวตโน ถ้านับโหวตโน จะมีจำนวนมากกว่า 120 เขต นั่นแสดงว่าเราจะไม่รับรู้เสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ใช่หรือไม่ ถ้าเราใช้วิธีเดิม คนที่ได้คะแนนสูงสุด ไม่ว่าจะได้เท่าไร ก็จะได้รับเลือก ส่วนคนที่ประชาชนไม่เอา คะแนนมีเท่าไรเราก็ทิ้งไป ดูแล้วเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับประชาชน ที่ไปเลือกทุกพรรค
นายมีชัย กล่าวต่อว่า วันนี้เราต้องฟังเสียงประชาชน ต้องใช้เสียงประชาชนเป็นเครื่องตัดสิน ก็ต้องลบสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อพรรค แล้วหันมาคิดแต่ประโยชน์ของประชาชนให้มากขึ้น เพราะเวลาที่กรรมการคิด ไม่ได้คิดถึงความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคใหญ่ และจะพยายามทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้ ยากต่อการคำนวณล่วงหน้าว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบ ที่ กรธ.กำลังคิดอยู่ แต่ข้อมูลข้อคิดเห็นของแต่ละคน แต่ละพรรคและนักวิชาการเสนอมา กรธ.ก็รับฟังและนำมาคิดตรงไหนที่มองว่าเป็นจุดอ่อน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม เราก็รีบเอากลับมาคิด อะไรที่บอกว่าพรรคการเมืองจะได้เปรียบเสียเปรียบ เราจะไม่เอามาคิด ต้องยอมรับว่าบ้านเรากำลังมีปัญหาในเรื่องของความไม่เข้าใจ
"สมมติครอบครัวหนึ่งมีสิบคน แต่ละวันมีกับข้าวได้หนึ่งอย่าง ลงคะแนนกันว่าสัปดาห์หน้าจะกินอะไร สี่คนบอกกินแกงเผ็ด สามคนกินแกงจืด สองคนกินผัดผัก หนึ่งคนไม่ออกเสียง ถ้าใช้วิธีเดิมก็กินแกงเผ็ดทั้งสัปดาห์ เพราะสี่คนเป็นคะแนนเสียงมากที่สุด เรากำลังหาทางว่าทำอย่างไรในหนึ่งสัปดาห์จะได้กินแกงจืดสักสองวัน ผัดผักสักหนึ่งวัน แล้วกินแกงเผ็ดสี่วันก็ไม่ว่ากัน ชีวิตครอบครัวก็จะไม่ขมขื่นจนเกินไป" นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย กล่าวด้วยว่า ผลลัพธ์ของการใช้ระบบนี้ ยากจะคำนวณล่วงหน้าได้ว่าพรรคใดจะได้เปรียบเสียเปรียบ แต่การเสนอแนะก็รับฟังว่าอะไรเป็นจุดอ่อนที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมคิดแต่พรรคไม่ได้รับความเป็นธรรมกรรมการจะไม่นำมาคิด
ส่วนกรณีที่มีการมองว่า ระบบนี้ทำให้ประชาชนมีสิทธิไม่เท่ากัน เพราะคนที่เลือกได้ ส.ส.เขตจะไม่มีสิทธิเลือก ส.ส.สัดส่วนนั้น นายมีชัย กล่าวว่า ไม่ควรคิดแยกแต่ต้องคิดว่าประชาชนไปลงคะแนนมีสิทธิเลือก ส.ส.โดยเสียงของเขาไม่ถูกทิ้งน้ำ แม้ว่าจะเป็นการลงคะแนน ส.ส.เขตแต่ประชาชนย่อมชอบพรรคการเมืองที่คนเหล่านั้นสังกัดอยู่แล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการตัดสิทธิประชาชนที่ได้ ส.ส.เขตแต่คะแนนจะไม่ถูกนับในระบบสัดส่วน ขณะเดียวกันเสียงที่เลือก ส.ส.เขตแต่แพ้ก็จะไม่ถูกทิ้งนำมาคำนวณเป็น ส.ส.ได้แม้ว่าจะไม่ได้ตัวบุคคลเดียวกับที่เลือกให้เป็น ส.ส.เขตแต่ก็จะได้ ส.ส.จากพรรคการเมืองนั้น ซึ่งไม่ถือว่าทำให้ประชาชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียสิทธิแต่ทุกคะแนนจะนำมาคำนวณเพื่อเลือก ส.ส.
นายมีชัย กล่าวยอมรับว่า กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดของระบบดังกล่าวว่าจะคำนวณอย่างไร แต่ยืนยันว่าจะเดินหน้าระบบนี้และรับฟังเสียงท้วงติงที่มีเหตุผลเพื่อปรับปรุงต่อไป อีกทั้งยังไม่ทราบด้วยว่าผลลัพธ์จากการใช้ระบบนี้จะทำให้เกิดรัฐบาลผสมหรือไม่ แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีเป้าหมายให้เกิดรัฐบาลผสมโดยการเปลี่ยนวิธีการจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดก่อน เพราะเห็นว่า แนวคิดที่จะกำหนดเป้าหมายว่าต้องการได้รัฐบาลแบบใดนั้นเป็นความคิดที่ผิด
เมื่อถามว่า เกรงหรือไม่ว่าระบบนี้อาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองบางพรรคไปตั้งพรรคนอมินี นายมีชัย กล่าวว่า การจะเกิดพรรคนอมินี ขึ้นนั้นมีสิทธิที่จะเกิดได้ แต่ถ้าพรรคการเมืองใด คิดทำเช่นนั้นก็มีความเสี่ยง เพราะไม่มีใครรู้ว่าประชาชนจะลงคะแนนอย่างไร อย่าคิดว่าเล่นกับประชาชนได้ง่ายๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศในการแถลงข่าวนั้น นายมีชัย ได้เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวซักถามอย่างเต็มที่ ในเชิงแลกเปลี่ยนความเห็น และวิจารณ์สื่อมวลชนกลับเช่นเดียวกัน โดยมีอยู่ช่วงหนึ่ง นายมีชัย ตอบคำถาม น.ส.สมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวช่อง 7 โดยระบุว่า "ให้คุณไปเปลี่ยนใจคนที่คุณคุยด้วยบ่อยๆ" ทำให้เมื่อสิ้นสุดการแถลงข่าว น.ส.สมจิตต์ ได้สอบถามนายมีชัยว่า "ท่านดักฟังโทรศัพท์หนูหรือคะ ถึงได้ทราบว่าหนูคุยกับใครบ่อยๆ" นายมีชัย มีท่าทีอึกอักเล็กน้อยก่อนจะย้อนถามว่า "หมายความว่ายังไง" น.ส.สมจิตต์ จึงตอบกลับไปว่า "ท่านบอกให้หนูไปเปลี่ยนใจคนที่คุยด้วยบ่อยๆ หนูเลยแซวท่านว่าดักฟังโทรศัพท์หนูหรือคะ ถึงทราบว่าหนูคุยกับใครบ่อยๆ" โดย นายมีชัย อึ้งไปนิดหนึ่งก่อนจะตอบว่า "ผมไม่ได้ดักฟังโทรศัพท์ จะดักฟังทำไม เพียงแต่ผมคิดว่าคุณคงมีคนที่คุยด้วยบ่อยๆ แต่ไม่รู้ว่าใคร"
...