นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เผยถึงการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการปลูกข้าวแปลงใหญ่ 5,000 ไร่ ในพื้นที่ 9 หมู่บ้าน ของ ต.กระเบื้องใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา มีเกษตรกร 267 รายสมัครใจเข้าร่วมโครงการปฏิบัติตามหลักการและคำแนะนำ ของกรมการข้าว พบว่า เกษตรกรให้การตอบรับด้วยความพึงพอใจ เพราะโครงการสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้จริง ได้มากถึง 28% หรือประมาณ 1,250 บาทต่อไร่ จากเดิมที่เคยมีต้นทุนอยู่ที่ไร่ละ 4,450 บาท ได้ลดลงมาเหลือแค่ 3,200 บาทต่อไร่ นอกจากนี้ยังช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 11% จากที่เคยได้ผลผลิตแค่ 405 กก.ต่อไร่ เพิ่มเป็น 450 กก.ต่อไร่
“จากการที่ชาวนาปรับเปลี่ยนวิธีทำนาใหม่ตามคำแนะนำ ต้นทุนอันดับแรกที่ลดได้ คือ ค่าเมล็ดพันธุ์ จากเดิมเกษตร- กรปลูกข้าวแบบนาหว่าน ใช้เมล็ดพันธุ์มากถึง 30 กก.ต่อไร่ แต่เมื่อเปลี่ยนมาทำนาหยอด การใช้เมล็ดพันธุ์จึงลดลงเหลือเพียงไร่ละ 10 กก. ช่วยลดต้นทุนในส่วนนี้ได้ถึงไร่ละ 380 บาท และยังช่วยลดค่าจ้างไถนาได้อีกไร่ละ 250 บาท จากเดิมแยกกันทำนา
ต้องเสียค่าจ้างไถนาไร่ละ 750 บาท แต่พอมาทำนา ร่วมกันเป็นแปลงใหญ่ คนรับจ้างไถนาจึงคิดค่าไถแบบเหมารวม ลดราคาลงมาเหลือไร่ ละ 500 บาท”
...
นอกจากนั้น อธิบดีกรมการข้าวเผยอีกว่า เมื่อเกษตรกรมีการรวมกลุ่ม ร่วมกันทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์มาใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี ช่วยลดค่าปุ๋ยได้อีกไร่ละ 400 บาท จากเดิมใส่แต่ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวมีค่าใช้จ่ายไร่ละ 700 บาท พอปรับเปลี่ยนวิธีการใส่ปุ๋ยเคมีผสมอินทรีย์ ค่าปุ๋ยลดลงมาเหลือแค่ไร่ละ 300 บาท ต้นทุนค่าสารเคมีกำจัดศัตรูข้าวก็เช่นกัน จากเมื่อก่อนทั้งที่โรคแมลงยังไม่มี ยังไม่มา ชาวนาจะใช้วิธีฉีดพ่นสารเคมีไปก่อนเป็นการป้องกัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อไร่สูงถึง 300 บาท แต่พอเปลี่ยนมาใช้วิธีตามคำแนะนำให้เกษตรกรช่วยกันสำรวจที่นาก่อนว่า มีโรคแมลงระบาดหรือไม่ ถ้าพบมีการระบาดถึงจะใช้สารเคมีมาฉีดพ่น ทำให้ต้นทุนในส่วนนี้ลดลงมาเหลือไร่ละ 200 บาท
ส่วนต้นทุนสุดท้าย ที่การทำนาแปลงใหญ่ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ นายอนันต์ บอกว่า คือค่าจ้างเก็บเกี่ยว จากเมื่อก่อนชาวนาแยกกันทำนาไม่พร้อมกัน ข้าวสุกไม่พร้อมกัน เก็บเกี่ยวไม่พร้อมกัน ต้องจ่ายค่าจ้างไร่ละ 600 บาท แต่พอมาทำนาแปลงใหญ่ค่าจ้างเก็บเกี่ยวเลยลดลงมาเหลือแค่ไร่ละ 480 บาทเท่านั้นเอง.