เมื่อขับรถทางไกลจนเกิดอาการง่วงซึม ขับต่อแทบไม่ไหว ก็เลยแวะจอดข้างทางติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ปิดกระจก นอนพักลดอาการง่วงเพลีย ปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ CO ที่เล็ดรอดเข้ามาภายในรถ ขณะที่ติดเครื่องยนต์เดินเบา พร้อมกับเปิดระบบปรับอากาศ แล้วพักผ่อนหลับนอนอยู่ในห้องโดยสาร ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากท่อระบายไอเสีย ตลบอบอวนอยู่รอบรถ และมีส่วนหนึ่งหลุดเข้าไปในห้องโดยสาร ก๊าซอันตรายดังกล่าว ก็จะไปทำลายระบบการหายใจของมนุษย์ ขณะที่กำลังหลับจนทำให้เสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนอนในรถยนต์รุ่นเก่า ที่ระบบปรับอากาศ รวมถึงซีลยางขอบประตู-หน้าต่างเริ่มเสื่อมสภาพ การติดเครื่องยนต์จอดไว้นิ่งๆ อยู่กับที่ โดยไม่มีการระบายอากาศรอบๆ ตัวรถเหมือนตอนวิ่ง รถเก่าที่จอดติดเครื่องยนต์ส่วนมาก ผ่านการใช้งานมายาวนานนับสิบปี มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ จึงเกิด ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และ ก๊าซไฮโดรคาร์บอน ที่ไม่ถูกเผาไหม้ หรือเชื้อเพลิงทั้ง 2 ตัวนี้เป็น แก๊สพิษ ทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น
...
ผลจากการผ่าชันสูตรศพของผู้ที่เสียชีวิตจากการนอนหลับในรถยนต์ พบว่า ผู้ที่เสียชีวิตมีปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ในเลือดสูงมาก และเลือดข้นเป็นสีชมพู ซึ่งเรียกว่า "เชอร์รี่พิงค์" ทำให้สภาพศพของผู้ตายเป็นสีแดงชมพูทั้งตัว สาเหตุเพราะร่างกายมีปริมาณ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ มากเกินปกติ อันตรายของการเปิดแอร์นอนในรถ ขณะที่ติดเครื่องยนต์ในรอบเดินเบาทิ้งไว้ ปิดกระจกมิดชิด พร้อมกับปรับเบาะเอนเพื่อพักผ่อนนอนหลับ เหมือนกับเป็นการนอนดมก๊าซพิษในรถ โดยที่ก๊าซพิษเหล่านั้น จะไหลเวียนมาจากระบบแอร์ของรถยนต์ ที่มีการดูดอากาศจากภายนอกมาหมุนเวียนภายในรถ เนื่องจากรถจอดติดเครื่องอยู่กับที่ อากาศเสียที่ปล่อยออกมาจากท่อระบายท้ายไม่ได้หายไปไหน ยังคงฟุ้งกระจายอยู่รอบๆ ตัวรถ โดยเฉพาะการจอดในอาคารที่จอดรถ ซึ่งอากาศหมุนเวียนถ่ายเทได้น้อย ระบบปรับอากาศหรือแอร์ติดรถยนต์ ก็จะดูดเอาควันจากท่อไอเสียรถยนต์เข้ามาด้วย หมายความว่า ร่างกายของคนที่นอนหลับอยู่ในห้องโดยสารรถยนต์ที่สตาร์ตเครื่องยนต์ทิ้งไว้ จะสะสมทั้งก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อันตรายของการสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ขณะนอนเปิดแอร์ในห้องโดยสารรถยนต์ เมื่อมีการสะสมก๊าซชนิดนี้ในร่างกายปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ระดับฮีโมโกลบินในร่างกายของมนุษย์ลดต่ำลง เกิดอาการระคายเคือง ปวดหัว เซื่องซึม เคลิบเคลิ้ม สั่นกระตุก หายใจติดขัด หัวใจเต้นผิดปกติ จากนั้นจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง จนทำให้เสียชีวิตในที่สุด
...
โดยปกติแล้ว ระบบปรับอากาศภายในรถยนต์นั้น ทำงานคล้ายกับระบบแอร์ทั่วไป มีการหมุนเวียนอุณหภูมิผ่านน้ำยาแอร์ที่เป็นตัวนำ และนำไประบายความร้อนเพื่อวนกลับมาปรับอุณหภูมิต่อไป การปรับอุณหภูมิโดยน้ำยาแอร์ที่ไหลเวียนในระบบ ไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์เลย สิ่งที่ทำให้คนนอนหลับในรถเสียชีวิต มาจากการสูดดมไอเสียเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว หลายคนเถียงว่า ระบบปรับอากาศจำเป็นต้องทำงานในพื้นที่ปิด ซึ่งระบบปรับอากาศ หรือแอร์ในรถยนต์ ก็หมายถึงการใช้แอร์ปรับอุณหภูมิห้องโดยสาร แม้ห้องโดยสารจะเป็นพื้นที่ปิด แต่พัดลมแอร์ภายในห้องโดยสารที่ทำงานต่อเนื่อง ก็ยังต้องดูดอากาศบางส่วนจากภายนอกมาสู่ห้องโดยสาร การดูดเอาอากาศจากภายนอกขณะที่รถไม่ได้วิ่งนี่เอง ที่เป็นสาเหตุหลักที่อาจทำให้คนที่นอนหลับในรถแล้วติดเครื่องเปิดแอร์ อาจถึงแก่ชีวิตได้ เพราะเมื่อติดเครื่องยนต์รถทิ้งไว้ ไอเสีย CO บางส่วนที่อบอวลอยู่รอบๆ ตัวถัง เมื่อจอดในที่อับลมหรือไม่มีลมพัด ก็จะถูกพัดลมแอร์ดูดเข้ามาในห้องโดยสาร หากก๊าซ CO ถูกดูดเข้ามามากจากการนอนยาวๆ ก็ไม่มีทางรู้สึกเลยว่า ชะตากำลังจะถึงฆาตในขณะพักผ่อน
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://web.facebook.com/chang.arcom